เตือนกิน 'ยาพาราฯ' พร่ำเพรื่อ อันตรายต่อตับ

เตือนกิน 'ยาพาราฯ' พร่ำเพรื่อ อันตรายต่อตับ

เภสัชฯ เตือนกิน "พาราเซตามอล" พร่ำเพรื่อ เสี่ยงตับอักเสบจนถึงมะเร็งตับ

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการแถลงข่าวเรื่อง “เตือนภัยยาที่มีพิษต่อตับ” โดยผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ภาวะตับอักเสบมีทั้งชนิดเรื้อรัง และชนิดเฉียบพลัน โดยสาเหตุเกิดจากยาหลายชนิด โดยเฉพาะคีโตโคนาโซล ชนิดรับประทาน และพาราเซตามอล ซึ่งพาราฯ เป็นยาลดไข้ที่ดีที่สุดที่มีการใช้ในปัจจุบัน แต่ที่ต้องเตือนเพราะปัญหาพิษตับเกิดสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะใช้กันมาก และล่าสุดมีรายงานว่าเกิดปัญหาในเด็กจำนวนมากทั้งเจตนาฆ่าตัวตายและอุบัติเหตุกินเกินขนาด กว่า 1 พันคนต่อปี อายุน้อยสุด 1 ขวบ เพราะพ่อแม่ให้ยาลดไข้พาราฯ เกินขนาด เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)แจ้งว่าจะมีการทบทวนตั้งแต่ ปี2557 แต่ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนยาคีโตโคนาโซนล่าสุดบริษัทผู้ผลิตได้ทำเรื่องขอยกเลิกยาในหลายประเทศ และอยู่ระหว่างการเรียกคืนเนื่องจากมีพิษต่อตับมากเช่นกัน แต่ในส่วนของประเทศไทยยังมีการใช้อยู่

รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งตับเป็น 1 ใน 5 สาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ทั้งที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การที่เป็นโรคเรื้อรัง และการติดเชื้อตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อตับอักเสบจำนวนมากการดูแลคนไข้คือการควบคุมตับให้คงที่ ซึ่งพบว่าปัญหาตับอักเสบส่วนหนึ่งมาจากการใช้ยา

ซึ่งหลายคนรับประทานยาด้วยความรู้สึกว่าไม่เป็นอันตราย บางคนใช้ผิดประเภทเพื่อทำร้ายร่างกาย บางคนใช้เพราะไม่รู้ทำให้มีปัญหาการทำงานของตับ ตับอักเสบ ตับแข็งและเป็นมะเร็งตับตามมา ทั้งนี้จากข้อมูลผู้ได้รับความเป็นพิษจากยาพาราฯ เมื่อปี 2558 พบเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบ จำนวน 99 คน อายุ 7-13 ปี 30 คน ในจำนวนนี้พบว่ามีการใช้เพื่อฆ่าตัวตาย 18 คน อายุ มากกว่า 13 ปี จำนวน 831 คน ในจำนวนนี้ใช้เพื่อการฆ่าตัวตาย 773 คน

“คนที่เป็นโรคตับเรื้อรังอย่างไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ต้องรับประทานยาพาราไม่กินวันละ 2 กรัมหรือ 4 เม็ด อย่างไรก็ตาม การคำนวณการกินยาพาราฯ แบบง่ายๆ ให้คำนวณดังนี้ คือ เอาน้ำหนักตัวเราคูณด้วย 10 มากสุดไม่เกิน 15 ก็จะได้ปริมาณที่เหมาะสม เป็นต้น ” รศ.พญ.วัฒนา กล่าว

ภก.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ นักวิชาการชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า จากการสำรวจร้านขายของชำในหมู่บ้านปี 2559 พบมีการจำหน่ายยาพาราฯ มากขึ้น ทั้งชนิดเม็ดสำหรับผู้ใหญ่ และชนิดน้ำสำหรับเด็ก ซึ่งมีหลากหลาย จึงเก็บตัวอย่างกลับมาเพื่อวิเคราะห์พบว่าบางชนิดมีการระบุเป็นยาสามัญประจำบ้าน บางชนิดไม่มี แต่ผู้ปกครองกลับเลือกซื้อมาให้ลูกรับประทานตามรสชาติที่เด็กชอบ และแม้ว่า จะมีขนาดยาเพิ่มขึ้นแต่ก็ให้ยาต่อครั้งในปริมาณเท่าเดิม ดังนั้นผู้มีอำนาจควรจัดการเรื่องเหล่านี้ เช่นเปลี่ยนฉลากเป็นภาษาไทย ปรับขนาดใหญ่ อยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน และแยกระดับความแรงของยาออกเป็นกลุ่มยาสามัญประจำบ้าน ยาควบคุมพิเศษให้ชัดเจน

 ด้านรศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทไนโซรอลได้แจ้งยกเลิกนั้นแสดงว่ามีความชัดเจนแล้วว่ามีปัญหาต่อร่างกาย ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องบริษัทในประเทศไทย 89 บริษัทขอถอนทะเบียนตำรับยาโดยสมัครใจ ไม่ต้องรอให้ อย.ทำเพราะใช้เวลานาน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตัวอย่างของบริษัทยาประเภทอื่นๆ ถ้ายังห่วงว่าวัตถุดิบที่สั่งมาแล้วยังสามารถเอามาผลิตเป็นยาทา หรือยาสระผมได้ ไม่ได้เสียหายอะไรเลย สำหรับยาพาราฯ ที่มีความซับซ้อนซึ่งมีประโยชน์แต่ใช้กันผิดมานาน เรียกร้องภาครัฐให้เร่งดำเนินการเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องฉลากยา ทั้งตำแหน่ง ขนาดคำเตือน และยาควรเป็นแบบเฉพาะเจาะจงเหมือนกันไม่ใช่แอบอยู่

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า ข้อเสนอในการจัดการกับยาพาราฯ คือ 1. ยกเลิกทะเบียนยาพาราที่ไม่เหมาะสม ชนิดฉีด 300 มก.ต่อหลอด ถือว่าน้อยเกินกว่าจะออกฤทธิ์ ที่สำคัญบางชนิดยังมีการผสมยาชา 10 มก.แอลกอฮอล์ ฟอมาดีไฮด์ ถ้ายังมีอาจจะเสียงทำให้เสียชีวิต 2. ถอนทะเบียนยาพาราชนิดแตกตัวดูดซึมทันที (immediate release) ที่ไม่ใช่ยาขนาด 325 หรือ 500 มก.ต่อเม็ด โดยเฉพาะสูตร 650 มก. ต่อเม็ด 3. ปรับสูตรผสมต้องให้มียาที่มีพาราฯ เป็นส่วนประกอบไม่เกิน 350 มก.ต่อเม็ด 4.ปรับสูตรยาพาราฯ ชนิดหยด เพราะมีความเข้มข้น 4 เท่า 500 มก.ของสูตรผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นพิษต่อตับ สามารถทำให้เด็กเสียชีวิตได้

“การกินยาพาราฯเกิน จะไม่เห็นอาการในเร็ววัน จะเห็นก็ต่อเมื่อระยะอันตราย เป็นตับอักเสบ ตับแข็ง และก่อให้เกิดมะเร็งตับแล้ว ดังนั้นต้องป้องกันดีที่สุด เพราะข้อมูลที่ผ่านมามีเภสัชกรคนหนึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการใช้พาราฯเกินมาตรฐาน โดยพบว่าวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ร้อยละ 70.75 ได้รับพาราฯ เกินขนาด ขณะที่ทารกกินยาเกินมาตรฐานถึง ร้อยละ 36.84 ปัญหาของทารกน่ากลัวมาก ยิ่งในพื้นที่ต่างจังหวัด พ่อแม่เวลาไปซื้อยาพาราฯชนิดน้ำ ไม่ได้ดูว่าฉลากอย่างละเอียด ขณะที่ฉลากยาก็ไม่ชัดเจน เป็นภาษาอังกฤษ แต่ในความเป็นจริงยาพาราฯชนิดน้ำสำหรับเด็กกลับมีความเข้มข้นหลายขนาดมาก ทั้งๆที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะจะทำให้กินเกินขนาดและสะสมพิษต่อตับตั้งแต่เด็กไปจนโต จึงขอให้มีการปรับสูตรยาน้ำของเด็กให้เท่ากันหมด ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต” นพ.พิสนธ์ กล่าว