ดีแทคแสดงจุดยืน 4 ข้อ วอน "รัฐ-กสทช." ประมูลคลื่นล่วงหน้า

ดีแทคแสดงจุดยืน 4 ข้อ วอน "รัฐ-กสทช." ประมูลคลื่นล่วงหน้า

พร้อมหนุนไทยสร้างโครงข่ายหลักพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0

ดีแทคพร้อมหนุนไทยสร้างโครงข่ายหลักพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 วอนรัฐ-กสทช.กำหนดแนวทางจัดสรรคลื่นชัดเจนเป็นรูปธรรม พร้อมแสดงจุดยืน 4 ข้อ ระบุแก้พรบ.กสทช. ฉบับใหม่ ควรระบุเนื้อหาให้จัดประมูลล่วงหน้าและผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจได้ทันทีที่สัญญาสัมปทานหมด เปิดช่องโอนใบอนุญาตได้เหมือนหลักสากล ส่งเสริมรายใหม่-รายย่อยกล้าเข้าทำตลาด

นายภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทคยืนยันอย่างหนักแน่นมาตลอดเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย และให้ความสำคัญกับตลาดไทย และต้องเป็นการช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์) ของประเทศเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

ดีแทคคิดว่าสิ่งที่สำคัญและเป็นเครื่องมือช่วยให้รัฐบาลประสบผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมาย คือการมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทั้งแบบมีสายและแบบไร้สาย ซึ่งในมุมของโอเปอเรเตอร์เองนั้น ดีแทคมีข้อคิดเห็นว่าการสร้างแผนพัฒนาประเทศเพื่อขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลคือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ควรมีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งควรจะบรรจุลงไปให้ชัดเจนในร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ....ฉบับใหม่ที่อยู่ในชั้นพิจารณาของกรรมาธิการ

โดยดีแทคมีจุดยืนอยู่ 4 ข้อเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพคือ 1. การประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า (Early Auction) ดีแทคเสนอให้ประมูลคลื่นความถี่ก่อนที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง โดยให้ใบอนุญาตใหม่มีผลเริ่มต้นในวันที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจว่าจะสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดความกังวลเรื่องซิมดับ หากไม่มีประมูลใบอนุญาตก่อนที่ใบอนุญาตเดิมจะสิ้นสุดลง การให้บริการลูกค้าที่ยังตกค้างในโครงข่ายจะเป็นการให้บริการตามมาตรการเยียวยาซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด และก่อให้เกิดปัญหาด้านการจัดการคลื่นความถี่ โครงข่าย และเกิดการฟ้องร้องต่างๆ ตามมาดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

อีกทั้ง หากจัดให้ประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า รัฐก็จะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่เร็วขึ้นซึ่งหมายถึงรายได้และดอกผลจำนวนมหาศาลที่รัฐจะได้รับจากเงินดังกล่าว

ที่ผ่านมาไทยไม่เคยจัดประมูลคลื่นความถี่ให้เสร็จก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาต หรือสัญญาสัมปทาน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ทุกฝ่าย ทั้งภาคประชาชนก็เกิดความกังวลว่าจะใช้บริการอย่างต่อเนื่องไม่ได้ และไม่ได้รับประโยชน์จากผู้ประกอบการรายใหม่ในทันทีอย่างที่ควรจะเป็น,

ผลประโยชน์ของชาติเสียหาย แต่จัดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทาน รัฐก็จะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่เร็วขึ้น,
รัฐวิสาหกิจเจ้าของทรัพย์สินและอุปกรณ์ในโครงข่ายเสียหาย เพราะกระทำการใดๆ กับโครงข่ายสัมปทานไม่ได้ เกิดการฟ้องร้องกับผู้ประกอบการรายเดิมที่ยังคงใช้โครงข่ายอยู่ต่อไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเดิมเสียหายเพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนเนื่องจากเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานก็ต้องโอนย้ายลูกค้าออกไป ทำให้เกิดการฟ้องร้องระหว่าง กสทช.ที่ต้องชดเชยหากถูกรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงข่ายฟ้องให้ชำระค่าโครงข่าย (จากการใช้โครงข่ายต่อตามมาตรการเยียวยา)

“ในสหภาพยุโรป อาทิ นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ล้วนแล้วแต่กำหนดไว้ในกฎหมายให้ประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตอย่างน้อย 1-2ปีทั้งสิ้น บางประเทศ และเนเธอร์แลนด์เองเพิ่งจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้จัดประมูลล่วงหน้า อย่างน้อย 2-4 ปีด้วยซ้ำ เนื่องจากเห็นว่าระยะเวลา 1-2 ปี ตามกฎหมายเดิมไม่เพียงพอสำหรับเอกชนวางแผนการลงทุน”

ข้อ 2. ดีแทคสนับสนุนให้ระบุชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Trading) ได้เหมือนหลักเกณฑ์สากล เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในขณะนี้กล่าวถึงเฉพาะการให้ร่วมใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Sharing) หรือให้เช่าใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Leasing) เท่านั้น

การเพิ่มเรื่องการโอนใบอนุญาตจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในตลาดสามารถเข้ามาได้ทันที ไม่ต้องรอจัดประมูลที่นานๆ จะเกิดขึ้น และยังลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการรายใหม่ในการทดลองเข้ามาแข่งขัน เพราะหากไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังโอนขายใบอนุญาตได้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และยังทำให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการอยู่ต้องให้บริการที่ดีในราคาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มั่นใจว่าทำได้ดีกว่าเข้ามาแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี การให้โอนใบอนุญาตก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องกำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อไรโอนได้-ไม่ได้ โดยเงื่อนไขต้องรัดกุม เช่น ต้องกำหนดเงื่อนไขป้องกันไม่ให้เกิดการเข้ามาขอรับใบอนุญาตเพื่อนำไปโอนขายหากำไรโดยไม่มีเจตนาประกอบการจริง เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่กำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันได้โดยอ้างอิงตามหลักเกณฑ์สากล

ข้อ 3. กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการจัดสรรคลื่นความถี่แต่ละคลื่น หรือที่เรียกว่าแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) โดยควรต้องประกาศใช้แผนดังกล่าวให้เร็วที่สุดภายหลังที่กฎหมายใหม่ประกาศใช้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีความต้องการคลื่นความถี่อีกจำนวนมากเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ นอกเหนือจากคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ในการประมูลที่ผ่านมา

จากการศึกษาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) พบว่าความต้องการจำนวนคลื่นความถี่ของแต่ละประเทศในการใช้งานจะเพิ่มเป็นจำนวน 1340 ถึง 1960 เมกะเฮิรตซ์ ในปี 2563 ขณะที่วันนี้ประเทศไทยมีจำนวนคลื่นความถี่ใช้งานเพียง 320 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น

ดังนั้น จึงควรจัดทำแผนแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อเอาคลื่นความถี่มาประมูลให้มากขึ้น โดยควรกำหนดแผนไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และเพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพัฒนาการของเทคโนโลยีและความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ

และ ข้อ 4. คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ กสทช. สนับสนุนคุณสมบัติผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกสทช. จะต้องมาจากการสรรหาด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ให้กฎหมายเปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม กับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมเข้ามาเป็นคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลได้และมีเกี่ยวข้องผลประโยชน์มหาศาลของชาติ