วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 22 กันยายน 2559

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน 22 กันยายน 2559

ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น จากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สาม

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เปิดเผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐ พบว่าปรับตัวลดลง 6.2 ล้านบาร์เรล ลงมาแตะที่ระดับ 504.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สาม ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.4 ล้านบาร์เรล

+ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายของสหรัฐให้อยู่ในระดับเดิม ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบมีราคาลดลงในสายตานักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ

+ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังมีปัจจัยบวกจากอุปทานน้ำมันดิบที่ลดลงจากทะเลเหนือ จากเหตุการณ์ประท้วงหยุดทำงานของพนักงานหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบ หลังจากกลุ่มสหภาพแรงงานไม่สามารถตกลงเรื่องข้อเสนอการปรับขึ้นค่าแรงกับกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในประเทศนอร์เวย์ได้

- อย่างไรก็ตาม กลุ่มโอเปคได้ปรับคาดการณ์สมดุลน้ำมันในปี 2560 เพิ่มขึ้น จากเดิมในเดือนที่แล้วที่ได้คาดการณ์ว่าจะมีน้ำมันดิบส่วนเกินประมาณ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกลุ่มโอเปคมองว่า อุปสงค์น้ำมันดิบจะลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ 0.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือเพียง 32.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศอินโดนีเซียและศรีลังกา ประกอบกับในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเทศอินเดียมีการส่งออกน้ำมันเบนซินลดลงร้อยละ 14.99 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศในตะวันออกกลางและแทนซาเนีย แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่เพิ่มสูงขึ้น

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 41-46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 43-48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- ค่าเงินดอลลาร์ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในวันที่ 20 – 21 ก.ย. ตลาดคาดว่ามีโอกาสเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่ามีโอกาสกว่าร้อยละ 40 ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.

- ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากกลุ่มลิเบียและไนจีเรียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มมากขึ้น หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเริ่มคลี่คลายลง โดยไนจีเรีย เตรียมที่จะมีการเสนอขาย Que Iboe ในสิ้นเดือนนี้แล้ว

- ภาวะอุปทานน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปล้นตลาดมีแนวโน้มส่งผลกดดันราคาต่อเนื่อง หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการขนส่งน้ำมันดิบที่กลับมาเป็นปกติ และปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปสหรัฐ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังอุปสงค์เริ่มปรับตัวลดลง

                                                            -----------------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02-797-2999