เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4

เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4

"สมคิด" ออกแน่มาตรการกระตุ้นไตรมาส 4 รับผลกระทบเศรษฐกิจโลก หลัง "สหรัฐ-ญี่ปุ่น-ยุโรป" ไม่ฟื้น มุ่งระดับฐานราก หวังกระตุ้นกำลังซื้อ

รัฐบาลเตรียมหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม หลังพบสัญญาณการลงทุนและบริโภคชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว โดยมุ่งไปที่มาตรการกระตุ้นระดับฐานรากของประเทศเพื่อรักษาระดับการบริโภคภายใน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ฟื้นตัวและน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถรักษาการเติบโตให้ไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 0.8% มาถึง 3.5% ได้ภายใน 2 ปี

“แต่เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ดีนั้นกำลังพิจารณาว่าจะมีนโยบายใดเพื่อลงไปในฐานราก เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนและยืนอยู่ได้”

นายสมคิด กล่าวว่าให้กระทรวงการคลังและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ดูแลในส่วนนี้ ส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีดูแลว่าจะมีมาตรการเข้ามาต่อยอดกันอย่างไร

นายสมคิด กล่าวว่าขณะนี้มีหลายมาตรการกำลังดูจังหวะที่เหมาะสมที่จะนำเข้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติ โดย3เดือนหลังจากนี้จะทยอยออกมา ถ้าเรื่องการเมืองไม่มากจนเกินไป ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

“ส่วนที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดี เพราะสหรัฐที่เคยมองว่าจะฟื้นก็ไม่ฟื้น ญี่ปุ่นล่าสุดก็ยังต้องอัดเงินเข้าไปเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยก็ติดลบมากกว่าเดิม ยุโรปก็ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งถ้าทั้ง2-3ประเทศนี้ไม่ฟื้นการส่งออกก็ยังจะยังเป็นลักษณะเดียวกับปัจจุบันไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งนั่นก็เป็นปัจจัยที่ถือว่าอยู่นอกการควบคุม แต่การส่งออกของไทยก็ยังอยู่ในสถานะที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้นที่ต้องติดตามคือจะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจซึมลงไป”นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด กล่าวว่าการทำงานของรัฐบาลตอนนี้จะไม่ทำตามกระแสหรือตามการโหวต แต่ต้องทำงานตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รัฐบาลเองพยายามดูแลไม่ให้เศรษฐกิจทรุด และดูแลสิ่งที่ยังไม่ดีให้ดีขึ้น ซึ่งขณะนี้ให้มีการเมืองมากก็ไม่มีประโยชน์ เวลาที่เหลืออยู่1ปีนี้ต้องทำให้เกิดผลขึ้นมา

ส่วนกรณีของนายอุตตม สาวนายน อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีนั้น ก็เป็นกรณีที่ตามกฎหมายเมื่อกระทรวงเก่าสิ้นสุดไปรัฐมนตรีประจำกระทรวงต้องลาออกและรอการแต่งตั้งใหม่ตามกระทรวงใหม่ ซึ่งจะตั้งอยู่ตรงไหนก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ไม่อยากให้สื่อมีการไปเขียนเป็นนิยาย เพราะนอกจากกรณีของนายอุตตมแล้วยังมีกรณีของ รมว.พาณิชย์อีก และยังมีการเอา 2 เรื่องมาผูกเป็นเรื่องเดียวกัน ส่วนว่าถ้านายกรัฐมนตรีมาถามความเห็นว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นรมว.กระทรวงดิจิทัล เชื่อว่านายกฯรู้อยู่แล้วว่าต้องการใคร เพียงแต่ไม่บอกเท่านั้น

“ตอนนี้มีการพูดถึงว่าทำไมนายกฯไม่ให้สมคิดดูแลกระทรวงดิจิทัล ก็จะให้ดูได้อย่างไรในเมื่อพล.อ.อ.ประจิน ดูแลกระทรวงไอซีทีมาก่อนแล้ว ส่วนกรณีที่ท่านนายกฯ มอบหมายให้ท่านประจินดูแลกระทรวงเกษตรฯ นั้นก็เพราะท่านก็คิดว่าแบบนี้ไปได้ดีกว่า ส่วนผมก็เสริมในส่วนของธ.ก.ส.ให้กับท่าน และยังมีการไปต่อเป็นนิยายว่าเทคโนแคตกับทหาร ผมไม่ใช่เทคโนแครตเพราะผมเป็นอดีตอาจารย์” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิดกล่าวว่าการปรับครม.ขึ้นกับนายกรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจทุกคนทำงานเต็มที่ แต่ก็เป็นไปตามสไตล์ที่แต่ละคนมีพื้นฐานมาจากต่างที่กัน

“บางคนเป็นนายแบงก์ก็พูดน้อยต่อยหนัก บางคนเป็นนักธุรกิจ บางคนเป็นอาจารย์ แต่ทุกคนก็ทำงานหนัก แต่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล”

“อภิศักดิ์”เล็งกระตุ้นเพิ่ม

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ จะขยายตัวได้มากกว่าไตรมาส 2 ที่โต 3.5% อย่างไรก็ดี ขณะนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากยอดขายปูนซีเมนต์ และ ยอดขายรถยนต์เพื่อการขนส่ง สะท้อนว่า การบริโภคและการลงทุนเริ่มชะลอตัว

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง เพราะจะฉุดให้ขึ้นลำบาก ดังนั้น จึงเตรียมมาตรการไว้รองรับการชะลอตัว โดยภาคเกษตรเป็นหนึ่งในภาคที่จะมีการอัดฉีด เพื่อกระตุ้นการบริโภค

“เราคอยเช็คอาการของเศรษฐกิจแต่ละช่วงเวลาจะเป็นอย่างไร รอบนี้ก็เหมือนกัน เท่าที่เช็คดู พบว่า เศรษฐกิจเองมีการเติบโตจากปีก่อนมากในสองไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนไตรมาสสามก็ยังดี อาจโตได้ 3.5% หรืออาจจะสูงกว่า แต่ว่า ช่วงท้ายๆของไตรมาสสาม เราพบว่า มีอาการบางอาการดูเหมือนกับว่าเศรษฐกิจกำลังจะอ่อนตัวลง แต่เราจะไม่ปล่อยกระทั่งลงมา ถ้าปล่อยลงแล้ว จะดึงขึ้นยาก ฉะนั้น ถ้ามีสัญญาณไม่ดี ต้องเติมลงไป แต่มาตรการบางอย่างบอกไม่ได้ รอถึงวันเติม ค่อยบอก เพราะบางอย่างมีผลกระทบ”

รับลงทุนเอกชนยังไม่เกิด

นายอภิศักดิ์ กล่าวถึงการลงทุนว่ารัฐบาลจะออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนไปมากแล้ว แต่ภาพรวมการลงทุนยังไม่ขยายตัวตามเป้าหมาย ซึ่งก็เข้าใจเพราะเอกชนเคยป่วยในสมัยต้มยำกุ้ง ทำให้เกิดความลังเล แต่ก็มีบางรายที่เขาเริ่มลงทุน เพราะมาตรการส่งเสริมของรัฐบาล หากไม่มีมาตรการ การลงทุนในประเทศก็อาจไม่โตเลย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งก็ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยดี แต่ติงเรื่องลงทุนของประเทศว่าทำไมยังไม่เกิด ทั้งที่มาตรการออกไปมากแล้ว แต่เขาก็เข้าใจ และทุกคนมองว่า เศรษฐกิจโลกยังเสี่ยง การที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกมั่นใจ ก็พูดยาก

โออีซีดีหั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลก

รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจล่าสุดขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) เมื่อวันพุธ (21 ก.ย.) ระบุว่า การเติบโตของการค้าที่เคยเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมาอย่างยาวนาน จะขยายตัวในระดับต่ำกว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่ากระแสโลกาภิวัตน์ซึ่งมีปริมาณการค้าโลกเป็นตัวชี้วัด อาจหยุดชะงักลง

สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้โออีซีดีประเมินว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 2.9% ลดลงจาก 3.0% ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย. และเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกช่วงปี 2551

โออีซีดีระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานโลกหลายแห่งที่เคยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในแต่ละขั้นตอนและปกติมักอยู่ในจีนรวมถึงประเทศเอเชียตะวันออกอื่นๆ กำลังคลายตัวออก เพราะจีนกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเลิกพึ่งพาการส่งออก ขณะที่บางบริษัทก็ย้ายฐานการผลิตกลับไปประเทศตนเอง

ชี้กระแสต่อต้านค้าเสรีกระทบ

กระแสต่อต้านการค้าเสรีที่มากขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจถดถอยในประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่บางประเทศ ยิ่งซ้ำเติมให้การค้าซบเซาลงไปอีก ซึ่งโออีซีดีเตือนว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจบั่นทอนผลิตภาพที่อ่อนแออยู่แล้ว และส่งผลถึงมาตรฐานการครองชีพในท้ายที่สุด

ส่วนในปี 2560 นางแคทเธอรีน แมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โออีซีดี คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.2% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ 3.3% ซึ่งถือว่าต่ำเกินไปที่จะสร้างงานให้กับเยาวชน และใช้เป็นบำนาญดูแลคนชราตามที่รัฐบาลเคยรับปากไว้กับประชาชน

โออีซีดีคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 1.4% ปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 1.8% ซึ่งเป็นตัวเลขการเติบโตที่ต่ำที่สุดตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก ทั้งยังต่ำกว่าคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนที่ปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 1.5%

ในปีหน้า โออีซีดีคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.1% ลดลงจาก 2.2% ในการคาดการณ์เมื่อเดือน มิ.ย.

ส่วนเศรษฐกิจอังกฤษนั้นเสียหายน้อยกว่าที่เคยกังวลกัน หลังจากลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยคาดว่าปีนี้อังกฤษจะขยายตัว 1.8% เพิ่มขึ้นจาก 1.7% ที่เคยคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม โออีซีดีปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอังกฤษปี 2560 ลงครึ่งหนึ่ง มาอยู่ที่ 1.0% เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษกับอียูยังไม่แน่นอน