ปริศนาวิหารถ้ำ เมืองอู่ทอง

ปริศนาวิหารถ้ำ เมืองอู่ทอง

หากใครเดินทางไปเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างนี้ถึงเดือนตุลาคม 2559 ...

จะได้ชมนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย 2559 เรื่อง “โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ 3 ปริศนา วิหารถ้ำ เมืองอู่ทอง” ซึ่งเป็นนิทรรศการที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการโบราณคดีไทยเป็นอย่างมาก เพราะโบราณสถานที่ขุดค้นพบนั้นมีความเป็น “ที่สุด” ถึง 4 ด้านด้วยกัน


ศุภชัย นวการพิศุทธิ์ นักโบราณคดี ผู้ดำเนินการขุดค้นโบราณสถานแห่งนี้ เล่าว่า กรมศิลปากรเริ่มดำเนินการขุดค้นพบโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ 3 เมื่อปี พ.ศ.2558 โดยในระยะแรกมีขนาดของการขุดเพียง 5x5 เมตร ทว่า เมื่อลองขุดลึกลงไปก็พบว่ามีอิฐโบราณยุค 1,200 ปีมากมาย จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ จึงพยายามจะสร้างหลังคาปกคลุมไว้


สำหรับโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ 3 เป็นพุทธสถานแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี บริเวณนอกเมืองอู่ทองด้านทิศตะวันตก เมื่อวัฒนธรรมทวารวดีเสื่อมคลายลง เมืองอู่ทองถูกทิ้งร้างไป โบราณสถานแห่งนี้จึงกลายเป็นซากปรักหักพังที่ถูกกร่อนเซาะด้วยกาลเวลามานานนับพันปี


“อาคารโบราณสถานที่พบในอู่ทองส่วนใหญ่เป็นเจดีย์ แต่ที่นี่เป็นอาคารที่มีหลังคา ซึ่งพบน้อยมาก เราพบอิฐก้อนใหญ่กว่าปกติ 1 ก้อน เป็นอิฐแบบทวารวรดี ก็ลองขุดลงไปอีก 1 เมตร ก็มีอีก ขุดลงไปอีกๆ พบเศียรพระพุทธรูปมากมาย ก็เลยขยายไป ปรากฏว่าเจออิฐปูพื้นจากข้างล่าง เลยคิดว่าน่าจะซ้อนทับกัน ส่วนกระเบื้องพบทั้งข้างบนและข้างล่าง ซึ่งเป็นอาคารยุคเดียวกัน แต่พบทั้ง 2 ชั้น แสดงว่าเป็นอาคารต่างระดับกัน”


จากการขุดค้นพบลักษณะของอาคารมีพื้นใช้งานต่างกันเป็น 2 ระดับ คือมุขด้านนอกลึกจากผิวดินปัจจุบัน 50 เซนติเมตร ขณะพื้นภายในอาคารลึกจากผิวดิน 2.70-3 เมตร ต่างระดับกันถึง 2.20 เมตร ผนังของอาคารฝังอยู่ในแนวคันดินเมืองโบราณในปัจจุบัน


นักโบราณคดีคนเดิม บอกว่า อาคารหลังนี้มีความยาววัดจากผนังด้านในยาว 30 เมตร กว้าง 10 เมตร แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่อาคารหลังนี้มีห้องใต้ดิน ซึ่งไม่เคยพบอาคารลักษณะนี้มาก่อน


“เป็นอาคารที่มีห้องใต้ดิน ซึ่งอาคารชั้นบนขนาดกำแพงห้องสูงประมาณ 5 เมตร อันนี้วัดจากการคำนวณน้ำหนักของอิฐ คำนวณตามปริมาตร ซึ่งน่าจะเป็นวิหาร หรือวัดใต้ดิน แต่เราก็พบว่ามีสถูปในวิหารอีก เพราะฉะนั้นที่นี่จึงเป็นโครงสร้างวิหารที่ใหญ่ที่สุด แทบจะใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยก็ได้ จริงๆ ลักษณะจะคล้ายๆ วิหารอชันตา ที่เจาะเขาเป็นถ้ำในอินเดีย แต่ที่นี่เป็นเขาหินปูน เจาะไม่ได้”


ศุภชัย บอกว่า โบราณสถานหมายเลข 14 มีความเป็นที่สุดถึง 4 ด้าน คือ โครงสร้างที่แปลกที่สุด(มีห้องใต้ดิน) เป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สมบูรณ์สุด และเก่าสุด(สมัยทวารวดี)ด้วย


การขุดค้นครั้งนี้พบศิลปวัตถุมากมาย ทั้งเศียรพระพุทธรูปดินเผามากกว่า 100 เศียร เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ประติมากรรมรูปบุคคลชาย ตะคันดินเผา พระพิมพ์ดินเผา ลูกกรงมะหวด ลวดลายปูนปั้นศิลาแลงรูปดอกบัวตูม แท่งดินเผารูปกรวย ฯลฯ


อย่างไรก็ดี การขุดค้นโบราณสถานหมายเลข 14 บ้านศรีสรรเพชญ์ 3 แห่งนี้ ยังทำได้เพียงแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างเป็นทางการถึงความสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้


แต่เพียงเท่านี้ก็พอสันนิษฐานคร่าวๆ ได้แล้วว่า อาคารโบราณหลังนี้มีความเป็น “ที่สุด” อยู่จริง