ย้อนอดีตไปกับ “อิฐก้อนเดียว”

ย้อนอดีตไปกับ “อิฐก้อนเดียว”

ไม่สงสัยเลยว่าทำไมคนส่วนหนึ่งจึงคลั่งไคล้โบราณคดีหนักหนา

เพราะจากการเดินทางในวันนี้ทำให้เราได้รู้ว่า แค่อิฐเพียงก้อนเดียวก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้อย่างมหัศจรรย์


“สมัยทวารวดีคนแถวนี้กินข้าวเหนียว” อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ บอกแบบนั้น ก่อนจะอธิบายให้ฟังจากหลักฐานที่พบ นั่นคือ อิฐแดงก้อนโตที่วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นอิฐเผาโบราณที่ภายในถูกผสมไว้ด้วยแกลบข้าวเหนียว นั่นจึงพอสันนิษฐานเรื่องการกินข้าวของคนยุคโบราณได้


ถ้าไม่ได้เดินทางมากับทริป “7 อาณาจักรโบราณ 5 ตำนานสุวรรณภูมิ” ตอน “ศิลาแลงเล่าเรื่องเมืองลิงสร้าง” ที่จัดโดย KTC และ World Explorer โดยมีวิทยากรสุดฮิป ฮา และสาระแน่นอย่าง อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการผู้หลงใหลประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่มาปะทะความคิดกับ อ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แฟนพันธุ์แท้ศิษย์พระพิฆเนศ และแฟนพันธุ์แท้ตำนานเทพเจ้า เราอาจจะสนุกไม่เท่านี้


ตอนแรกก็เข้าใจว่าไปแค่ ลพบุรี แต่ที่ไหนได้ ประวัติศาสตร์ผูกโยงสายใยเชื่อมพาเราไปจนถึง สุพรรณบุรี ด้วย เริ่มสนุกแล้วใช่มั้ย พร้อมจะย้อนเวลาไปหารอยยิ้มในอดีตกับเราหรือยัง


ลพบุรี เมืองลิงสร้าง?


มีลิงมากกว่าร้อยตัวปีนป่ายอยู่บนปรางค์ข้างทางรถไฟแห่งนั้น ดูเหมือนว่าพวกมันจะเป็นลิงขี้เล่นเหมือนๆ กัน เพราะเมื่อเวลามีใครเดินผ่าน มันก็มักจะแอบย่องมาข้างๆ แล้วก็ใช้ความว่องไวปีนป่ายขึ้นไปนั่งจุ้มปุ๊กอยู่บนหัวของคนคนนั้นอย่างสบาย


“ไม่ต้องกลัวๆ ยืนนิ่งๆ ไว้ครับ ไปๆ” ชายชราคนนั้นถือไม้เข้ามาไล่ ลิงมันก็ว่าง่าย แค่ลุงตะโกนว่า “ไป” คำเดียวมันก็เตลิดทันที


กิตติศัพท์ของ “ลิงลพบุรี” เป็นที่เลื่องลือในหลายด้าน บ้างก็ว่ามันเป็นลิงร้ายชอบทำลายและขโมยข้าวของ บ้างก็ว่ามันน่ารักใช้เป็น “นางกวัก” เรียกนักท่องเที่ยวเข้าเมืองได้ ลิงแสนซนในลพบุรีมีมากมายจนใครๆ ก็บอกว่า ที่นี่เป็นชุมชนวานรที่ใหญ่ที่สุดในโลก


ทำไมลพบุรีมีลิงมากมายขนาดนี้ ถ้าว่ากันตามความเชื่อของคนในพื้นที่ ลิงเหล่านี้เป็นสมุนของพระรามที่เป็นองค์นารายณ์อวตารมาปราบยักษ์ทศกัณฑ์ในเมืองมนุษย์ เมื่อชนะแล้วก็ยกให้หนุมานทหารเอกมาครองเมือง ใครๆ จึงพากันเรียกลพบุรีว่าเป็น “เมืองลิง” แต่ถ้าสรุปให้ใกล้เข้ามาอีกนิด ตามตำนานจามเทวีวงศ์ และตำนานมูลศาสนา ลิงพวกนี้ลงแพจากทางเหนือมากับพระนางจามเทวีจนถึงเมืองละโว้ (ลพบุรี) จากนั้นก็พากันออกลูกออกหลานเต็มไปหมด


ไม่มีใครสรุปได้ว่าลิงมาจากไหน เพราะมันคงไม่เกิดประโยชน์อะไรถ้าจะรู้ มีเพียงปัญหาและการจัดการลิงลพบุรีเท่านั้นที่หลายฝ่ายพยายามช่วยกันหาทางแก้ไข ซึ่งปัจจุบันก็ยังหาทางออกไม่ได้ เราจึงเห็นฝูงลิงซุกซนมากมายวิ่งแล่นอยู่ในโบราณสถานกลางเมืองลพบุรี


ลพบุรี เป็นเมืองที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งในภาคกลาง อยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำป่าสัก จากสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐาน ลพบุรีจึงกลายมาเป็นเมืองแห่งการอยู่อาศัย และเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และศาสนา และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาตามลำดับ


“เมื่อก่อนลพบุรีมีทองแดงส่งออก สำคัญขนาดที่ถ้าไม่มีทองแดงจากลพบุรี โรมันก็จะไม่มีรูปสำริด” อ.ศิริพจน์ หรือ อ.พจน์ บอกแบบนั้น


ยืนยันเรื่องการเป็นแหล่งแร่ทองแดงได้จากแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในลพบุรี ทั้ง บ้านท่าแค, บ้านโป่งมะนาว, บ้านโคกเจริญ, บ้านเนินอีแซว ฯลฯ ที่มีหลักฐานว่ามีการทำโลหกรรมถลุงทองแดงมาก่อน


“ตามประวัติศาสตร์ว่าโรมันเอาทองแดงมาจากโลกตะวันออก เดิมเข้าใจกันว่าเป็นอินเดีย แต่มีอาจารย์นักประวัติศาสตร์อินเดียท่านหนึ่งทำวิทยานิพนธ์แล้วย้อนไปค้นประวัติศาสตร์ของอินเดีย ซึ่งพบว่า ประเทศอินเดียไม่มีทองแดง แต่อินเดียไปเอาทองแดงจากสุวรรณภูมิ ภูมิคือพื้นที่ แต่สุวรรณไม่ได้แปลว่าทองนะ ทองในสมัยโบราณจะใช้คำว่า “คำ” เหมือนทางเหนือ แต่สุวรรณจริงๆ หมายถึงทองแดง ซึ่งแหล่งทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือ ลพบุรี เพราะฉะนั้นลพบุรีจึงเป็นเมืองที่สำคัญมากในสมัยโบราณ” อ.พจน์ ยืนยัน


โดยเฉพาะในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) ลพบุรีเป็นชุมชนเมืองที่รุ่งเรืองมาก การันตีได้จากร่องรอยศิลปกรรมที่ส่งผ่านกาลเวลามาจนถึงวันนี้


วัดนครโกษา เป็นโบราณสถานที่พบร่องรอยการก่อสร้าง 3 สมัย คือ แรกเริ่มสร้างเจดีย์องค์ใหญ่สมัยทวารวดี ต่อมาสร้างพระปรางค์สถาปัตยกรรมแบบสมัยลพบุรี และบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นวัดในสมัยอยุธยา มีเงื่อนไขของความเป็นไปได้ว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) ขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นผู้ควบคุมการบูรณะ จึงเป็นที่มาของชื่อวัดนครโกษา


“ในจำนวนโบราณสถานของลพบุรี วัดนครโกษา น่าจะมีอายุเก่าแก่ที่สุด คือมีเจดีย์ในวัฒนธรรมทวารวดี สร้างราว พ.ศ.1300 ส่วนศาลพระกาฬอยู่ในช่วง พ.ศ.1500 พระปรางค์สามยอดนี่มาหลังศาลพระกาฬ สร้างราว พ.ศ.1750-1800”


พิเคราะห์จากโครงสร้างและสถาปัตยกรรมต่างๆ ก็เริ่มเห็นเค้ารางของความรุ่งเรือง ศาลพระกาฬ เป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์อีกแห่งหนึ่งที่สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกัน เหลือเฉพาะส่วนฐานสูงย่อมุม มีบันได 4 ด้าน บริเวณศาลพระกาฬมีการพบโบราณวัตถุสำคัญ คือ ศิลาจารึกหลักที่ 17 พระวิษณุ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ส่วนสมเด็จพระนารายณ์และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ประดิษฐานอยู่ในศาลพระกาฬหลังใหม่


“พระกาฬ เป็นเทพแห่งความตาย ความมืดดำ แต่ที่ศาลพระกาฬชาวบ้านจะไหว้พระนารายณ์นะไม่ใช่พระกาฬ ซึ่งจริงๆ เทพฮินดูจะเข้มงวดมากเรื่องอาหาร จะรับอาหารคลีน กินพวกพืชผักธัญพืช แต่คนพื้นเมืองนับถือว่าเป็นผีเมือง ก็บูชาหมดเลย หัวหมู ไข่ต้ม เนื้อวัว คล้ายๆ กับพระนารายณ์ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ที่รูปเคารพเป็นนารายณ์ แต่คนไหว้เป็นลูกหลานชาวจีน ก็มาหมดเหมือนกัน หัวหมูอะไรก็มา แถมยังมีกิมฮวยอั้งติ้วเสียบเต็มเลย นี่คือความเชื่อในแง่ที่ว่าเป็นเทพ เป็นผีประจำเมือง” อ.คมกฤช หรือที่เรียกกันติดปากว่า อ.ตุลย์ บอก


ส่วนฝั่งตรงข้ามคือ พระปรางค์สามยอด โบราณสถานที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลง มีฉนวนทางเดินเชื่อมต่อระหว่างกัน ปรางค์ประธานสูง 21.5 เมตร ศิลปะลพบุรี ภายในเดิมประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกศิลาทราย พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตา ปัจจุบันทั้งหมดนั้นจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์


“ดีใจจังเลย ไม่เห็นคนไทยมาเที่ยววัดนี้นานแล้ว” ป้าที่จำหน่ายบัตรเข้าชม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เอ่ยขึ้นอย่างดีใจ ก่อนจะฉีกบัตรให้เราเข้าไปชมความอลังการของวัดที่เป็นสมบัติชาติแห่งนี้อย่างรวดเร็ว


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดพระธาตุ เป็นศาสนสถานที่มีพระปรางค์องค์ใหญ่สูง 30.7 เมตร ตั้งอยู่กลางวัด ขนาบด้วยพระปรางค์ขนาดเล็กด้านทิศเหนือและทิศใจ้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน


จากลวดลายปูนปั้นประดับรอบองค์ปรางค์ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า พระปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ต่อมามีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยพระนารายณ์มหาราช


“วัดมหาธาตุที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยคือวัดพระธาตุลพบุรี แทบจะเก่าที่สุดด้วย แผนผังวัดแปลงมาจากปราสาทขอม และเป็นต้นแบบของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น สังเกตว่าพระปรางค์ทั้งหมดมีความสัมพันธ์กับเขมร แล้วมีเจดีย์รอบ นั่นแปลว่าเขมรให้ความสำคัญกับลพบุรีมาก อีกอันที่น่าสนใจคือเจดีย์กลีบมะเฟือง ซึ่งพบเฉพาะที่นี่ ก็แปลกดี” อ.พจน์ เล่าอย่างสนุก

สุพรรณบุรี เมืองจีนสร้าง?


ว่ากันด้วยยุคสมัยที่ผูกโยงไว้กับความเชื่อ ในสมัยทวารวดีไม่ได้มีแค่ลพบุรีหรือละโว้เท่านั้นที่สำคัญ แต่อาณาจักรนี้ยังแผ่ไพศาลไปหลายจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย แน่นอนว่า สุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในนั้น


“สุพรรณบุรีคือเมืองที่เดิมเป็นปริมณฑลของอู่ทอง เรารู้ว่าอู่ทองเป็นเมืองใหญ่แรกๆ ของไทย พ.ศ. 1500 แม่น้ำข้างล่างเปลี่ยนทางเดิน คนอู่ทองน้อยลง แต่สุพรรณคนเพิ่ม ซึ่งจริงๆ คนสุพรรณก็คือคนอู่ทองสมัยโบราณ แค่พอแม่น้ำเปลี่ยนทางเดินก็เลยย้ายมาอยู่ตรงนี้” อ.พจน์ ว่า


แต่ก่อนจะไปถึงต้นทางที่อู่ทอง เรามีโอกาสแวะชมสถานที่สำคัญๆ ในตัวเมืองสุพรรณที่เกี่ยวโยงกับความเชื่อและศิลปกรรมในสมัยทวารวดี โดยเริ่มต้นที่ วัดพระรูป ที่มีเจดีย์เก่าแก่รูปทรงแปดเหลี่ยมยอดระฆังกลมศิลปกรรมสุพรรณบุรีหรืออู่ทอง และที่นี่เองที่เราได้เห็น “แกลบข้าวเหนียวในก้อนอิฐ”


“อิฐในสมัยก่อนทำจากดินเหนียว แต่การเผาดินเหนียวจะสุกช้า จึงมีการเอาแกลบเข้าไปผสมในดินด้วยเพื่อให้เกิดฟองอากาศภายใน อิฐจะได้สุกเร็ว ซึ่งอันนี้เป็นภูมิปัญญาโบราณสมัย พ.ศ. 1700-1800 แต่ถือว่าเป็นงานหยาบ เพราะไม่ใช่ดินเหนียวทั้งหมด อิฐเลยไม่แข็งแรง ถึงจะใหญ่แต่ก็เปราะบาง โบราณสถานของไทยส่วนมากจึงพังทลายลง


อิฐคุณภาพดีส่วนใหญ่จะอยู่ในจามปา กัมพูชา เวียดนาม เพราะเทคโนโลยีของที่นั่นการทำอิฐจะผสมทรายละเอียดลงไป แล้วเผาที่อุณหภูมิ 1,000 องศา แต่บ้านเราเผา 600 องศา อิฐที่กัมพูชา เวียดนาม จึงค่อนข้างแกร่งกว่าเรา”


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี ก็มีความสวยงามทางศิลปะอย่างมาก เพราะมีพระปรางค์องค์ใหญ่ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์หาชมได้ยาก อ.พจน์ บอกว่า ด้านบนยอดพระปรางค์(นภศูล) มีสายล่อฟ้าที่จารึกอยู่ด้วย


“จารึกหรืออักษรในสมัยโบราณไม่ประสงค์จะสื่อสารกับคน เขาไม่ได้เขียนให้คนอ่าน แล้วก็ไม่ใช่อักษรไทยด้วย แต่เป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ที่เราอ่านไม่ออก เหมือนสักยันต์อะไรที่อ่านไม่ออกมันศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นจารึกโบราณคือจากรึกที่เขียนไว้ให้ผีอ่าน คล้ายๆ กับเราทำบุญกระเบื้องแล้วเขียนชื่อสกุลอะไรลงไป แล้วกระเบื้องก็ไปอยู่บนหลังคา เราต้องการสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า เรามาทำบุญแล้วนะ อะไรแบบนี้ การจารึกโบราณก็เพื่อให้ผีอ่านเช่นกัน”


สำหรับ ศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งถ้าใครผ่านไปผ่านมาต้องแวะมากราบไหว้เจ้าพ่อหลักเมืองกันทุกราย แต่เจ้าพ่อหลักเมืองของชาวไทยเชื้อสายจีนแห่งนี้ไม่ได้มีใบหน้าละม้ายคล้ายเทพเจ้าจีนแต่อย่างใด แต่เป็นเทวรูปพระนารายณ์ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูนั่นเอง


“เทวรูปพระนารายณ์ 2 องค์นี้เก่ามาก เป็นศิลปะที่เลียนแบบมาจากอินเดียในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ หรืออินเดียใต้ ราว พ.ศ.1100-1300 เก่าพอๆ กับพระพุทธศาสนาที่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบเยอะมากในย่านนี้ แต่ 2 องค์นี้ใหญ่สุด ซึ่งจริงๆ รูปแบบนี้พบในภาคใต้ของไทยด้วย แต่ไม่ถูกผลักให้มาอยู่ในฝั่งของความเชื่อเชิงไสยศาสตร์ ซึ่งศาลหลักเมืองของสุพรรณบุรีแปลกที่เจ้าพ่อหลักเมืองเป็นพระนารายณ์ที่ตั้งอยู่ในศาลทรงไทย แล้วมีเก๋งจีนครอบอีกที ที่นี่จึงเหมือนเป็นศูนย์รวมของผี(เทพ)ของทุกความเชื่อ” อ.ตุลย์ บอก


เราเดินทางไปไหว้หลวงพ่อโตที่ วัดป่าเลไลย์วรวิหาร ซึ่งเป็นพระก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ก่อนออกเดินทางต่อไปยังอู่ทอง ราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิ โดยเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง


เอาจริงๆ ถ้าอยากรู้เรื่องราวของถิ่นแดนสุวรรณภูมิอย่างเด่นชัด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด เพราะที่นี่มีนิทรรศการที่จะบอกเล่าเรื่องราวของดินแดนสุวรรณภูมิและเมืองอู่ทองที่ได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนามาจากอินเดียในยุคแรก และก็เป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมทวารวดี

ภายในอาคารหลังใหญ่นั้นแบ่งห้องจัดแสดงนิทรรศการไว้อย่างน่าสนใจ ที่ดีมากๆ คือวิทยากรน่ารัก และให้ความรู้อย่างละเอียดยิบ เรียกว่า ใครสงสัยอะไรสามารถคลายข้อข้องใจได้ที่นี่ที่เดียวเลย


.....................


จบทริปนี้แล้วหลายคนยังคิดถึงเรื่องสนุกๆ ที่วิทยากรช่วยกันเล่าให้ฟัง ซึ่งจากอิฐเพียงก้อนเดียวยังทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวในอดีตได้มากมายขนาดนี้ แล้วจะแปลกอะไรถ้าใครๆ พากันสนใจโบราณคดี