“เยลโล่เฮลโล่” เมล็ดถั่วเหลืองเปลี่ยนโลก

“เยลโล่เฮลโล่” เมล็ดถั่วเหลืองเปลี่ยนโลก

‘เยลโล่เฮลโล่’ คือ SE ผู้ผลิตเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกากถั่วเหลืองครบวงจร ที่อยากออกแบบธุรกิจยั่งยืน ด้วยแนวคิด Zero Wasted

“เราเชื่อว่าพลังยิ่งใหญ่ ที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้ ล้วนเริ่มต้นมาจากจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียว นั่นคือ ตัวเราเอง”

คำของ “แอม-ศิวรี มีนาภินันท์” และ “จิง-ธีรา ลี้อบาย” สองผู้ก่อตั้ง เยลโล่เฮลโล่ (Yellow Hello) กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) น้องใหม่ หนึ่งในทีมผู้ชนะจาก “โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ปีที่ 6” (Banpu Champions for Change) โดย บมจ.บ้านปู และสถาบัน Change Fusion ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ

พวกเขาคือผู้ผลิตเครื่องดื่ม ขนม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกากถั่วเหลืองครบวงจร ที่มุ่งมั่นสู่ความเป็น Zero Wasted โดยออกแบบระบบธุรกิจให้ “ของเสียเหลือศูนย์” อาทิ พัฒนากากถั่วเหลืองจากการผลิตน้ำเต้าหู้ ไปทำเป็นขนม ทำอาหารสัตว์ และปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อไม่ก่อให้เกิดขยะ มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และตอบความยั่งยืนทั้งห่วงโซ่ของถั่วเหลือง

จุดเริ่มต้นของแนวคิด “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยถั่วเหลืองเมล็ดเดียว” มาจากการที่ทั้งสองคน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ต่างมีความฝันร่วมกัน ที่อยากจะมีฟาร์มของตัวเอง อยากเรียนรู้ชีวิตอย่างยั่งยืนร่วมกับธรรมชาติ

แต่จะเริ่มอย่างไรดีเมื่อทั้งคู่ไม่ได้มีที่ดิน ไม่ได้มีทุนหนา ไม่ได้มีชีวิตที่ใกล้ธรรมชาติเลยสักนิด เลยเริ่มออกล่าฝันด้วยการทำน้ำเต้าหู้ขาย เพราะเป็นธุรกิจที่เริ่มได้ง่าย เพื่อเก็บเงินไปทำฝัน โดยนำเงินที่ต้องเสียให้กับค่าเช่าร้าน ไปซื้อรถมาทำ Food Truck กลายเป็นร้านน้ำเต้าหู้เคลื่อนที่ พร้อมเสิร์ฟความอร่อยให้คนรักสุขภาพ

แต่ทว่า..ทำไปเป็นปีก็ยังไม่ได้เริ่มชีวิตฟาร์มสักที ตรงกันข้ามกลับดูห่างจากอุดมการณ์ที่มีไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากแนวคิดในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า ทุกคนมีต้นทุนไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถเริ่มต้นนำสิ่งที่มีใกล้ๆ ตัว มาทำประโยชน์ต่อสังคมได้ เลยคิดมาเปลี่ยนโลกกับธุรกิจน้ำเต้าหู้

ที่มาของการเข้าสู่โครงการบ้านปูฯ ปีล่าสุด เพื่อหาความรู้มาพัฒนากิจการในฝัน โดยเริ่มเส้นทางใหม่ ด้วยการลงไปหาเกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ จนได้รู้จักกับ กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์บ้านดอนเจียง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อเปลี่ยนต้นทางวัตถุดิบให้รักษ์โลก ก่อนพัฒนาสู่ Zero Wasted จัดการของเสียในระบบให้เหลือศูนย์

“เราเริ่มจากพยายามทำเรื่องรอบๆ ตัว ให้ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และรับผิดชอบต่อสังคมให้มากที่สุด โดยสังเกตว่า น้ำเต้าหู้ที่เราทำ มีขยะเหลือทิ้งทุกวัน ซึ่งก็คือกากถั่วเหลือง จึงคิดจัดการกับของเสียที่เกิดขึ้นนี้”

ที่มาของการนำกากถั่วเหลืองมาแปรรูปเป็นขนม จนมาสู่อาหารสัตว์อุดมโปรตีน ที่คนเลี้ยงสัตว์ต่างถวิลหา

เมื่อต้องการทำให้เกิดระบบ Zero Wasted ที่ครบวงจร จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ฟาร์มเล็กๆ ของตัวเอง แต่จะทำอย่างไรเมื่อเงินทุนที่มีไม่ได้มากมาย ทางออกจึงต้องเริ่มจากหา “เครือข่าย” เพื่อเติมจิกซอว์ที่ขาดหายนี้

“เราได้พันธมิตรเป็น ไร่ดินดีใจ เกษตรกรอินทรีย์ใน จ.อุทัยธานี ที่เขามีความตั้งใจอยากสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่มีความฝันใกล้ๆ กัน ให้มาอยู่รวมกัน และพึ่งพาอาศัยกัน โดยที่ผ่านมาเราขอยืมพื้นที่โรงตากของไร่ดินดีใจมาตากกากถั่วเหลือง และนำอาหารสัตว์ที่แปรรูปมาใช้กับเป็ดไก่ในฟาร์มของที่นี่ด้วย”

การมีเครือข่ายเลยช่วยเชื่อมฝันเล็กๆ ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น เป็นสนามทดลองให้ลงมือทำ และยังมีพี่ๆ มีหมู่มวลมิตรคอยแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันให้  

เยลโล่เฮลโล่ เป็นกิจการเพื่อสังคม ที่มีโมเดลสร้างรายได้อย่างชัดเจน โดยปัจจุบันมีน้ำเต้าหู้สเตอริไลซ์ และผลิตภัณฑ์แปรูปจากถั่วเหลือง ขายผ่านทาง IG : yellowhellobeans และ Facebook : yellowhello ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ยังไม่มีจำหน่าย แต่นำไปทดลองเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มเป็นหลัก รายได้อีกส่วนหนึ่งมาจากการออกอีเวนต์ Food Truck ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกโดยเฉพาะ เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตัวจริงของพวกเขา  

ขณะที่อนาคตก็เตรียมพัฒนาน้ำเต้าหู้รสชาติใหม่ๆ โดยเน้นปรับเปลี่ยนไปตามผลผลิตที่ได้ในแต่ละฤดูกาล เช่น รสฟักทอง และรสข้าวหอมมะลิ เป็นต้น โดยไม่ต้องมีฟาร์มของตัวเอง แต่เน้นผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรเป็นหลัก

“หนึ่งปีที่ผ่านมา เราค้นพบว่า การทำให้เกษตรอินทรีย์พัฒนาไปได้จริงนั้น จำเป็นต้องมีเครือข่าย เราต้องไม่เดินคนเดียว เก่งคนเดียว แต่มีเพื่อนๆ ที่จะช่วยกันอุดรูรั่ว ซึ่งเป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการทำน้ำเต้าหู้ส่งออกไปทั่วโลก แต่ต้องการให้ระบบ Zero Wasted เกิดขึ้นได้จริง เพื่อสามารถไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้” พวกเธอบอกความหวัง

ส่วนเหตุผลของการเลือกโมเดลกิจการเพื่อสังคม เพราะความเชื่อที่ว่า ทุกสิ่งที่คนเราทำควรเป็นประโยชน์กับสังคมด้วย

“เราไม่จำเป็นต้องไปหยิบยื่นเงินให้ใครมากมาย ไม่ต้องช่วยชีวิตใคร แค่เราทำอะไรแล้วไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำเรื่องเดือดร้อนให้คนอื่น เท่านี้สังคมก็ดีขึ้นได้แล้ว เริ่มจากสิ่งเล็กๆ แค่เรื่องจริยธรรมพื้นฐานที่ทุกคนควรมี เริ่มจากทำตัวเราให้ดี และรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ เท่านี้สังคมก็ดีขึ้นได้แล้ว” พวกเธอบอกแนวคิด 

หลายคนไม่กล้าเริ่มต้น เพราะกลัวกับคำว่า “ไม่สำเร็จ” แต่สำหรับพวกเธอ ไม่เคยมีคำว่า “ล้มเหลว” เพราะชีวิตย่อมต้องเจอกับปัญหา  และความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แค่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน มองความผิดหวังเป็นประสบการณ์ ที่สนุก ปรับตัวและสู้ต่อ บางทีเราอาจไปเจอทางที่สวยงามกว่าในอนาคตข้างหน้าก็ได้

“เราไม่ได้มาทางสายธุรกิจ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ธุรกิจล้มเหลวคืออะไร ไม่ได้ลงทุนก้อนโต เพื่อหวังผลกำไรในอีกกี่ปี คงเหมือนที่เขาว่า ผึ้งไม่รู้ว่าบินได้ มันก็เลยบินได้ เราเองไม่รู้เรื่องธุรกิจ ไม่รู้ว่าอะไรคือความเสี่ยง อะไรคือการลงทุนที่ไม่คุ้ม ก็เลยไม่กลัวที่จะทำ เราเริ่มจากตัวเรา เริ่มจากถั่วเหลือง เพื่อปฏิวัติยุคสมัยด้วยถั่วเหลืองเมล็ดเดียว” ทั้งสองบอกทิ้งท้าย

 เพื่อร่วมเปลี่ยนโลกใบใหญ่ ด้วยพลังของสิ่งเล็กๆ ที่ชื่อ “ตัวเราเอง” ก็เท่านั้น