เที่ยววันเดียวในมุมมองใหม่ 'TakeMe Tour'

เที่ยววันเดียวในมุมมองใหม่  'TakeMe Tour'

จะเกิดความ "อิน" และ "ฟิน" ยิ่งกว่า ถ้าหากมีเพื่อน หรือคนในท้องที่พาไปสัมผัสชีวิตและจิตวิญญานของสถานที่แห่งนั้นอย่างแท้จริง

สำหรับคนที่ชื่นชอบเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ที่ในปัจจุบันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการเปิดไกด์บุ๊คอาจเป็นได้เพียงประสบการณ์ที่แห้งแล้งเท่านั้น


จากแนวคิดนี้ สองหนุ่มเพื่อนซี้ "อมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์" และ "นพพล อนุกูลวิทยา" ได้เปิดบริษัท "พาฉันเที่ยว" เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์ โดยมีจุดเด่นอยู่ตรงที่จะมีนักเรียนไทยที่เรียนอยู่ในแต่ละประเทศทำหน้าที่พาเที่ยว


"เมื่อก่อนคนอยากไปเที่ยวต่างประเทศไม่ว่า ญี่ปุ่น อเมริกาหรือยุโรปก็จะมาหาเรา และเราก็ไปหาคอนเน็คชั่นนักเรียนไทยในประเทศต่าง ๆเป็นคนพาเที่ยว ก็มีคนสนใจเยอะมาก จากนั้นเราก็ทำเป็นเว็บไซต์ แต่สมัย 3-4 ปีที่แล้วคนไทยยังไม่คุ้นชินกับการใช้จ่ายซื้อของทางออนไลน์ เราจึงคิดว่าต้องเปลี่ยนใหม่เริ่มจากทัวร์อินบาวด์ ต้องกลับกันคือจะเป็นคนต่างชาติเข้ามาเที่ยวประเทศไทยแล้วเรามีคนท้องถิ่นซึ่งมีทั้งนักเรียน คนทำงาน กระทั่งคนที่เกษียณแล้วเป็นคนพาเขาเที่ยว" อมรเชษฐ์เล่าย้อนให้ฟัง


จากชื่อบริษัทไทย ๆว่า "พาฉันเที่ยว" เลยกลายเป็น "TakeMe Tour"


ต้องบอกว่าช่วงระหว่างที่พวกเขาพยายามขับเคลื่อนธุรกิจทัวร์อินบาวด์ ทัวร์เอาท์บาวด์ก็ได้หยุดนิ่งไปชั่วคราวแต่เวลานี้ขอประกาศให้รับรู้ว่า บริการดั้งเดิมสมัยเริ่มแรกนั่นคือ พาฉันเที่ยวได้เปิดบริการขึ้นอีกครั้งหนึ่งแล้วเนื่องจากคนไทยสมัยนี้คุ้นชินกับการซื้อของจับจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว (สนใจเสิร์ซหาได้ทั้ง takemetour และ pachantiew)


ถามว่า ก้าวสู่วงการสตาร์ทอัพได้อย่างไร พวกเขาบอกว่าแท้จริงแล้วไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก ในความคิดก็คืออยากทำธุรกิจใหม่ๆ ที่ยังไม่มีใครทำ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เคยประสบพบเจอด้วยตัวเอง ซึ่งตัวของอมรเชษฐ์นั้นเคยได้ทุนอีราสมุส มุนดุสได้ไปศึกษาปริญญาโท ด้าน VIBOT เกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่ยุโรป จึงมีโอกาสได้ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆมากมายและพบว่าการไปเที่ยวโดยมีเพื่อนที่เป็นคนท้องถิ่นพาไปเที่ยวทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี ๆ ตัวเขาและนพพลจึงได้วางแผนจะทำธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเรียน


"กระทั่งเมื่อสองสามปีที่ผ่านมาเริ่มมีคนพูดถึงสตาร์ทอัพ ก็ไม่คิดว่าเราจะเป็น เพราะยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่ถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่เราต้องเรียนรู้ใหม่ เนื่องจากเมื่อเรามุ่งกลุ่มตลาดต่างประเทศซึ่งมีคู่แข่งจากต่างประเทศเยอะ เราก็คิดว่ามันต้องใช้เงินด้วยหรือเปล่า ก็เลยเริ่มเข้าไปร่วมงานอีเวนท์ของสตาร์ทอัพ เริ่มเข้าไปเน็ทเวิร์คกิ้งไปคุยกับคนโน้นคนนี้ และเริ่มเข้าใจว่าสตาร์ทอัพคืออะไร และแนวคิดของเราก็บังเอิญที่มันไปสอดคล้องกับการดำเนินของสตาร์ทอัพ เลยตัดสินใจเดินตามแนวนี้" นพพลเล่าถึงจุดเปลี่ยน


โดยปริยายพวกเขาเลยกลายเป็น Co-Founder โดยอมรเชษฐ์ มีตำแหน่งเป็น CEO และนพพลเป็น COO ของสตาร์ทอัพที่ชื่อว่า TakeMeTour
เมื่อให้มองถึงมิชชั่นและสเต็ปการเติบโต อมรเชษฐ์ บอกว่า เวลานี้พวกเขาจะโฟกัสทัวร์อินบาวด์ เพราะตลาดประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพมากในเรื่องของการท่องเที่ยว และอาจพูดได้ว่าเป็น Top Destination ระดับโลกก็ว่าได้


"เราอยากจะโดมิเนท ตลาดในประเทศ ใครอยากมาประเทศไทยต้องมาที่ TakeMeTour เทคมีทัวร์ คือกลยุทธ์ในเฟสแรก ตอนนี้ถือเราเป็นที่หนึ่งในตลาดไทยแล้ว วัดได้จากจำนวนโลคัลไกด์ที่มาลงทะเบียนในระบบของเรามีอยู่ประมาณ 1 หมื่นคน ขณะที่อันดับสองมีแค่ 800-900 คนต่างกันเป็นสิบเท่า รวมถึงจำนวนทริปที่มีอยู่ในระบบ เราเชื่อว่าเราจะใช้เวลาช่วงหนึ่งประมาณไม่ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าเราจะสามารถขยายไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฟสต่อไปก็เป็นเอเชียแปซิฟิค พวกเกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น จะค่อยๆ ขยายออกไป น่าจะใช้เวลาแต่ละสเต็ปประมาณหนึ่งปี"


ขณะที่มุมมองของ นพพล ก็คือที่สุดต้องโฟกัสที่แพลตฟอร์มซึ่งสามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยว พวกเขาต้องได้พบกับทริปท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่น่าสนใจในระบบ ขณะเดียวกันก็ต้องง่ายต่อคนโลคัลที่พาเที่ยวในการสร้างทริปด้วย


"งานหลักของเราจะทุ่มไปที่ตัวของเว็บไซต์เป็นหลัก ตัวของแพลตฟอร์มเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีข้างหลัง รวมถึงการพัฒนาประสบการณ์ผู้ใช้ในระบบ ตั้งการจองจนกระทั่งจบทริป ต้องราบรื่น ทำอย่างไรให้ยูสเซอร์ทั้งสองฝั่งสร้างระบบของการพาเที่ยวที่ดี และคนพาเที่ยวสามารถรีวิวได้ด้วยว่านักท่องเที่ยวคนนี้โอเคไหม นักท่องเที่ยวก็สามารถรีวิวได้เช่นกันว่าคนพาเที่ยวคนนี้เป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี ประสบการณ์เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคน การรีวิวของทั้งสองฝั่งจะเป็นคำตอบที่แน่นอนที่สุด ผมค่อนข้างเชื่อว่าเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์มเป็นตัวตอบโจทย์ และทำให้สามารถขยายไปยังประเทศอื่นๆ ได้ด้วยตัวของมันเอง"


และเมื่อให้เทียบเคียงกับสตาร์ทอัพระดับโลก พวกเขาบอกว่า TakeMeTour โมเดลธุรกิจคล้ายกับ Airbnb ต่างที่ฝ่ายแรกเป็นพาเที่ยวแต่ฝ่ายหลังเป็นเรื่องของห้องพัก


สำหรับอุปสรรค ความท้าทายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และมันจะเป็นนิรันดร์กับธุรกิจที่ทำอยู่ นพพลเฉลยว่ามันคือ ความสมดุลของ "ดีมานด์" กับ "ซัพพลาย"


"ปัญหาของความเป็นมาร์เก็ตเพลส เป็นแพลตฟอร์ม มักเป็นเรื่องของดีมานด์กับซัพพลายที่ไม่สมดุลกัน วันไหนที่เรามีซัพพลายเยอะๆ ดีมานด์มันจะน้อย ซัพพลายที่เคยรอก็ไม่รอแล้ว ขณะเดียวกัน พออเราสร้างดีมานด์เพิ่มขึ้น ซัพพลายก็กลับดร็อปหายไป คนพาเที่ยวไม่ว่าง หรือมีคนไม่พอรองรับก็เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ มันเกิดจากซีซั่น และการที่เราทำมาร์เก็ตติ้งออกไปด้วย ซึ่งถือว่านี่คือปัญหาคลาสสิคของการทำมาร์เก็ตเพลสอยู่แล้ว ซึ่งเราต้องเมนเทนเพื่อให้เกิดการหมุนให้มันเดินต่อไปได้เรื่อยๆ"


ส่วนใหญ่ลูกค้าคือคนกลุ่มไหน? อมรเชษฐ์ตอบว่า เป็นกลุ่มคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นส่วนใหญ่ เพราะเดินทางใกล้ สอดคล้องกับบริการพาทัวร์ภายในวันเดียวซึ่งมีรูปแบบ คนพาเที่ยวและนักท่องเที่ยวจะมาเจอกันตอนเช้า จากนั้นกก็พาเที่ยวจนถึงเวลาเย็นแล้วต่างคนก็ต่างแยกย้ายของ TakeMeTour


"ลูกค้าของเรามีกลุ่มอายุตั้งแต่ 30,40ไปจนถึง 50 มีอาชีพที่หลากหลาย เป็นทั้งกลุ่มเพื่อนมาเที่ยวด้วยกัน หรือเป็นคู่รักกัน ที่มาเดี่ยวก็มีเยอะส่วนใหญ่เป็นบิสิเนสทริปมาทำงานเสาร์อาทิตย์อยู่เที่ยวต่อ ถามว่ามีคนจากยุโรป อเมริกาไหม ก็มีแต่เขาจะมาเป็นซีซั่น พอเริ่มหนาวเขาเริ่มมาเพราะเขาต้องใช้เวลาเดินทางเป็นวันๆ เทียบกับคนที่อยู่ในประเทศใกล้ไทยที่ถ้ามีวันหยุดสองสามวันเขาก็บินมาเที่ยวได้แล้ว"


อมรเชษฐ์อธิบายว่า ในความเป็นมาร์เก็ตเพลสย่อมหมายถึงการสร้างตลาดให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาเปิดแผงขายของ ซึ่งเจ้าของสถานที่จะไม่เข้าไปคอนโทรลหรือกำหนดราคาทริปท่องเที่ยวว่าต้องเป็นเท่าไหร่ แต่ทั้งนี้รายได้ของTakeMeTour จะคิดจากนักท่องเที่ยวเป็นเหมือนกับระบบบุ๊คกิ้งการจองโรงแรม สายการบินต่างๆ ซึ่งเริ่มสตาร์ทตั้งแต่ร้อยบาทไปถึงหลักสี่ซ้าห้าพัน


พวกเขามองว่า TakeMeTour ได้สร้างมิติใหม่และเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย


"เพราะเราสร้างความเข้าใจที่แท้จริงให้กับนักท่องเที่ยวได้เข้าใจในความเป็นไทยที่แท้จริง อย่างเคยมีข่าวว่านักท่องเที่ยวแปลกใจและไม่เข้าใจเขานึกว่าคนไทยต้องทำผัดไทยเป็นในเมื่อมันเป็นอาหารไทยคนไทยต้องทำได้ เขาไม่เข้าใจและแปลกใจ ซึ่งทริปท่องเที่ยวของเราจะทำให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น ไม่ยัดเยียดภาพที่เราไม่ได้เป็นจริงๆ และเรายังทำให้เกิดการกระจายรายได้ด้วยเพราะคนโลคัลก็จะได้งานทำ"


อย่างไรก็ดี "ความปลอดภัย" เป็นเรื่องที่พวกเขาบอกว่าต้องใส่ใจให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง และจะไม่ประนีประนอมในเรื่องนี้เป็นอันขาด ดังนั้นจะมีการสแกนไกด์ที่เข้ามาในระบบอย่างถี่ถ้วน รอบคอบ เรียกว่าเช็คประวัติกันอย่างละเอียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่มีประวัติ "อาชญากรรม"



Speed Life VS Slow Life


มีกระแสว่า สตาร์ทอัพซึ่งผู้ก่อตั้งล้วนเป็นเจนวายคนรุ่นใหม่มักใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ทำนองว่าไม่ขยันแถมขาดประสบการณ์ที่สุดแล้วธุรกิจจะไปไม่ถึงไหน ซึ่งนพพลแย้งว่า สตาร์อัพมันต้องเป็นสปีดไลฟ์ ต้องทำเพื่อแข่งกับเวลา เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน


อมรเชษฐ์ บอกว่า การที่เขาตัดสินใจทำสตาร์ทอัพเพราะอยากเรียนรู้เรื่องบิสิเนสให้มากขึ้น เดิมมีคนแนะให้ไปเรียนต่อด้านเอ็มบีเอ แต่เขากลับอยากหาประสบการณ์จริง และได้เรียนรู้โลกการทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญออนไลน์ และ มาร์เก็ตติ้งที่กูเกิลประเทศสิงคโปร์อยู่ 2-3 ปี


นพพลมองว่าความคิด และวัฒนธรรมคนไทยทำให้แข่งกับใครไม่ได้เพราะมักไม่ค่อยยอมรับ ปรับตัวกับสิ่งใหม่ แม้แต่พ่อแม่ คนใกล้ตัวพอรู้ว่าเขาจะทำสตาร์ทอัพก็พากันงง ต่างถามว่าจะทำจริงๆหรือ แล้วทำไมไม่ไปทำงานดีๆ (เขาเรียนจบวิศวะอุตสาหการ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ข้อสรุปก็คือประเทศไทยมีคนเก่งเยอะ แต่มีคนเก่งในสตาร์ทอัพน้อย เพราะวัฒนธรรมที่ปลูกฝังว่าคนเก่งต้องทำงานในบริษัทใหญ่ ได้เงินเดือนสูง ๆ ทำให้คนเก่งไม่กล้ากระโจนมาเล่นเกมสตาร์ทอัพที่ขึ้นชื่อว่ามีอัตราความล้มเหลวสูง


"คนไทยไม่ยอมรับความล้มเหลว แต่ประเทศที่เจริญแล้วเขาจะชื่นชม ซึ่งคงต้องรอให้มีเคสความสำเร็จของสตาร์ทอัพเกิดขึ้นในระดับหนึ่ง"