ชงแก้ปัญหา‘ทีวีดิจิทัล’‘ยืดจ่าย-คืน’ใบอนุญาต

ชงแก้ปัญหา‘ทีวีดิจิทัล’‘ยืดจ่าย-คืน’ใบอนุญาต

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ชงคสช.ใช้ ม.44 แก้ปัญหาเปลี่ยนผ่านฯ ปรับงบประมาณแจกคูปองหนุนโครงข่ายฯ-ทำเรทติ้ง เสนอเปิดทางควบรวม-คืนไลเซ่นส์

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ช่วงปลายปี 2556  มูลค่าประมูลรวม 50,862 ล้านบาท และเริ่มออกอากาศในเดือนเม.ย.2557

ช่วงเวลา 3 ปีแรกของใบอนุญาต 15 ปี พบว่ามีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 15 ช่องหรือสัดส่วน 70% ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้เข้ามาแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. รวมทั้งมีช่องทีวีดิจิทัล 11 ช่อง ที่ยื่นฟ้องร้องคดี กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง กรณีปัญหาการเปลี่ยนผ่านฯ 

 ทั้งนี้ ปัญหาการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล ที่ผู้ประกอบการระบุว่า กสทช. ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่สัญญาทั้งก่อนและหลังการประมูล  คือ สัญญาณโครงข่ายทีวีดิจิทัลที่ไม่ครอบคลุมและไม่ได้คุณภาพตามที่ชี้แจ้ง,การแจกคูปองล่าช้าและไม่ถึงมือประชาชน อีกทั้งแจกในพื้นที่ที่โครงข่ายยังไปไม่ถึง, กำหนดวันยุติการออกอากาศช่องทีวีอนาล็อกไม่ได้ครบทุกช่อง, การประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิทัลล่าช้า  และการสำรวจความนิยม (เรทติ้ง) ช่องรายการ ยังไม่รองรับระบบทีวีดิจิทัล ซึ่งส่งผลกระทลต่อราคาโฆษณา

ชงม.44 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัล

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจำนวน 15 ช่อง ได้มีหนังสือชี้แจงปัญหาความล้มเหลวของการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัล(การเปลี่ยนผ่านฯ) พร้อมทั้งขอให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของการเปลี่ยนผ่านฯ

โดยเสนอให้นำเงินงบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจาก คสช. และกันไว้สำหรับใช้แจกคูปองเพิ่มเติมไปใช้ดำเนินการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านฯ ในรูปแบบอื่นที่ได้ผลอย่างแท้จริงแทนการแจกคูปองเพิ่มเติม เนื่องจากการแจกคูปองใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ทั้งค่าผลิตคูปอง การแจกคูปองและการประชาสัมพันธ์ แต่กลับไม่ได้ผลที่ดี ตามข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2559  สำนักงาน กสทช. แจกคูปองรวม 13.5 ล้านใบ(ล็อตแรก) แต่มีจำนวนคูปองที่แลกเพียง 8.7 ล้านใบ คิดเป็น 64% เท่านั้น

พร้อมกันนี้เสนอแนวทางอื่นแทนการแจกคูปองเพิ่มเติม เพื่อเป็นการบริหารงบประมาณของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ปัญหาการเปลี่ยนผ่านฯ โดยให้พิจารณา สนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (Mux), สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม(ค่าทรานสปอนเดอร์)

และสนับสนุนการจัดทาระบบสำรวจความนิยม (Rating) ที่รองรับทีวีดิจิทัล

นอกจากนี้ขอให้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การควบรวมกิจการให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้ช่องทีวีดิจิทัลสามารถควบรวมกิจการระหว่างกันได้และสามารถหาผู้ร่วมทุนเพิ่มได้ อีกทั้งขอให้กำหนดหลักเกณฑ์การคืนใบอนุญาตโดยไม่ถูกยึดหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์และไม่เสียค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับอื่นใดเพิ่ม

ข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวผู้ประกอบการเชื่อว่าจะแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งรายเล็กและรายใหญ่สามารถประกอบกิจการต่อไปบนพื้นฐานการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม และพัฒนาเนื้อหารายการเพื่อให้ประชาชนได้รับชมรายการที่ดีและมีคุณภาพ และมีช่องรายการหลากหลาย

กสทช.ชี้แก้ประกาศฯก่อนประมูลผิดกม.

          นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าโจทย์ใหญ่ในการพิจารณาข้อเสนอช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล กรณีการขยายเวลา หรือเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูล, แนวทางการควบรวมกิจการกันเอง รวมทั้งการคืนใบอนุญาต หากเป็นเนื้อหาสาระที่ต่างจากประกาศฯ ก่อนประมูลทีวีดิจิทัล หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้  เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  ได้ให้ความเห็นมาแล้วว่า “ขัดกฎหมาย” ไม่สามารถดำเนินการได้

            กรณีการขอเลื่อนจ่ายเงินประมูลที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ  ซึ่งเป็นเงินประมูลที่ต้องนำส่งรัฐ เข้ากระทรวงการคลัง หากมีการแก้ไข อาจเทียบเคียงกับกรณี แก้ไขสัญญาสัมปทาน ที่ส่งผลให้รัฐเสียประโยชน์ ตัวอย่าง กรณีล่าสุดที่มีการตัดสินคดี ของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ศาลฎีกานักการเมือง ติดสินจำคุกไม่รอลงอาญา ในคดีทุจริตแก้สัญญาสัมปทานไทยคม

            แนวทางการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล หากเกี่ยวข้องกับการแก้ไขประกาศฯ ก่อนการประมูล จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขประมูลที่มีสาระสำคัญและกระทบต่อกลุ่มที่แพ้การประมูล รวมทั้งกลุ่มที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมประมูลจากประกาศฯ เดิม

            “ข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการให้เลื่อนหรือขยายเวลาการจ่ายเงินประมูลมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการแก้กฎหมายที่เสี่ยง และยังไม่มีใครปลดล็อก  เว้นแต่หาก คสช. เห็นด้วยกับแนวทางที่ผู้ประกอบการยื่นหนังสือให้พิจารณาแก้ไขปัญหา อาจจะให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อวางกรอบแนวทางการทำงานร่วมกัน”

            นางสาวสุภิญญา กล่าวว่าอีกว่าส่วนแนวทางที่ กสทช. สามารถดำเนินการได้คือ การสนับสนุนการแจกคูปอง ซึ่งยังต้องดำเนินการต่อเพราะเป็นสิทธิของทุกครัวเรือน แต่อาจปรับวิธีการให้ผู้สนใจมาลงทะเบียนรับคูปอง ส่วนเงินที่เหลือจากคูปองสามารถนำไปสนับสนุนผู้ประกอบการด้านอื่น ทั้งด้านการประชาสัมพันธ์ การเจรจาลดค่าเช่าโครงข่าย

             ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สามารถดำเนินการได้ทันทีหากต้องการประกอบกิจการต่อไป คือการหาผู้ร่วมทุน ในกลุ่มทุนใหม่ ที่ไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตปัจจุบัน หรือกลุ่มทุนเดิมที่ไม่ขัดกับประกาศฯ คือการถือหุ้นช่องรายการประเภทเดียวกันไม่เกิน 10%  และห้ามช่องเอชดี ถือหุ้นช่องข่าว เพื่อเสริมศักยภาพด้านเงินทุนในการประกอบกิจการต่อไป

แบก“ต้นทุน-จ่ายเงินรัฐ”สูง    

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี และนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ เปิดเผยว่าหลังจากทีวีดิจิทัลออกอากาศปีที่3 ด้านการรับรู้และการขยายตัวของผู้ชม ในอุตสาหกรรมยอมรับว่ามีผู้ชมเริ่มรู้จักและหันมาดูทีวีดิจิทัลมากขึ้น แต่มาจากฐานผู้ชมเดิมๆของช่องทีวีอนาล็อกเดิม ที่หันมาเสพคอนเทนท์จากช่องใหม่และฐานผู้ชมเดิมของผู้ผลิตรายการทีวีรายใหญ่ที่อยู่มานาน

ขณะที่เม็ดเงินจากรายได้โฆษณา"ไม่ได้เพิ่มขึ้น" เหมือนธุรกิจอื่นๆ ที่เมื่อมีการแข่งขัน ฐานลูกค้ามากขึ้น การขยายตัวของธุรกิจหรือความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ควรเพิ่มขึ้น แต่ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจทีวีโดยรวมกลับทรงและทรุดตัว เห็นได้จากการลดบุคลากร การเปิดโอกาสเกษียณอายุงานก่อนกำหนด (Early Retire)ในสถานีข่าว การลดค่าใช้จ่ายของช่องวาไรตี้

"มุมมองเกี่ยวกับทีวีดิจิทัล บางกลุ่มยังมีความคิดบนพื้นฐานเดิมๆว่า เป็นกลุ่มทุนที่มีเงินมาก มีผู้ถือหุ้นที่มีสายป่านยาว ทั้งที่ความจริงแล้ว การออกกฎหมายและการใช้กฎหมายจากบุคคลที่ไม่มีความเป็นกลาง และไม่มีพื้นฐานประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนต่างหาก ที่ไม่สามารถทำให้ธุรกิจขยายตัวและประชาชนเสียโอกาสในการรับชมคอนเทนท์คุณภาพ คือต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด"

            ปัจจัยสำคัญที่ยังทำให้ทีวีดิจิทัลย่ำอยู่กับที่ คือ ต้นทุนที่สะสมมากกว่าธุรกิจทั่วไป โดยเฉพาะการเสียค่าใช้จ่ายให้รัฐ ที่ซับซ้อนและอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวไม่เหมือนกฎหมายฉบับอื่นๆในเมืองไทย เพราะสถานีทีวีต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอัตรา 2% ของ“รายได้ทุกบาทก่อนหักภาษี ”ในขณะธุรกิจอื่นๆ หักค่าใช้จ่ายก่อนส่งรายได้ให้รัฐ 

ล่าสุดเพิ่งมีมติ กสทช. ให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมจากรายได้แบบขั้นบันได หลังจากที่ผู้ประกอบการเรียกร้องและชี้แจงให้เห็นถึงความเสียหายของกฎหมายที่ไม่ชัดเจนมากว่า 3ปี แสดงให้เห็นว่า กฎหมายและพ.ร.บ.กสทช ที่เกี่ยวข้องกับทีวีดิจิทัล คือ ส่วนหนึ่งที่กระทบการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ชัดเจน 

ทั้งที่หากตีความว่า การที่รัฐกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องหักรายได้ก่อนจ่ายภาษี ส่งมอบให้รัฐ ถือได้ว่า “นี่คือการร่วมกิจการค้าระหว่างรัฐ-เอกชน” ซึ่งการที่รัฐ โดย กสทช.ไม่สนับสนุนและหาทางช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถให้พัฒนาธุรกิจไปต่อได้ ย่อมเป็นการกระทำที่สับสนและสวนทางกับเจตนาของตัวบทกฎหมาย

“รัฐไม่สามารถทำให้ประชาชนหันการเปลี่ยนไปรับชมทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการหลงทางในการพิมพ์คูปองแจกกล่องรับสัญญาณ เนื่องจากมีการกดราคาคูปองให้ต่ำเกินจริง จนส่งผลให้เกิดการผลิตกล่องรับสัญญาณราคาถูกต่ำกว่ามาตรฐานและไม่มีคุณภาพ”

ผนวกกับการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน เพราะการรับชมต้องให้ประชาชนซื้อเสาอากาศเพิ่ม ขณะที่เครื่องรับทีวีแบบเดิม ไม่สามารถรับชมระบบเอชดีได้แม้จะมีกล่อง อีกทั้งต้องเสียเงินไปซื้อเสาอากาศอีกชุดละ 300-700 บาท  ไม่รวมค่าติดตั้ง ทำให้ผู้ชมไม่สนใจการติดตั้งกล่อง และเกิดปัญหาการรับชมไม่ทั่วถึง

ชงยืดจ่ายไลเซ่นส์-เลิกแจกคูปอง

นายเขมทัตต์ กล่าวอีกว่าภาพรวมเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้นในปีหน้า แต่เม็ดเงินโฆษณาอาจยังไม่เพิ่มมากในสื่อโทรทัศน์  โดยทิศทางทีวีดิจิทัลยังคงแข่งขันสูง จากปัญหาที่เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล จึงต้องการให้ภาครัฐและกสทช. พิจารณายืดระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาต ออกไปอย่างน้อย 3 ปี  รวมทั้งพิจารณาชะลอหรือยกเลิกการแจกคูปองแลกกล่องทีวีดิจิทัล แต่ให้เปลี่ยนนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้พัฒนาช่องทางการรับชม เช่น ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า ในการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์จอแบนที่มีอุปกรณ์รับสัญญาณในตัว เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนเครื่องรับใหม่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว

งบประมาณอีกส่วนหนึ่งไปดำเนินการจัดทำสำรวจพฤติกรรมการรับชมและระบบวัดเรทติ้งความนิยมของสถานี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเครื่องมือวัดประสิทธิภาพทีวีดิจิทัล รวมถึงเป็น KPI ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่ชัดเจนว่าผู้ชมเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลมากน้อยเพียงใด

ภาครัฐมีหน้าสำคัญในการสร้างทีวีและสื่อให้แข็งแรง เพราะมูลค่าธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้มีมากถึง 50,000-70,000 ล้านบาท รวมธุรกิจการผลิต ซอฟท์แวร์และมีเดีย โดยเฉพาะภาคการผลิตของโปรดักชั่นเฮ้าส์ คิดเป็นมูลค่า 40-55% ของรายได้ในสถานีทีวี ขณะที่การวัดรายได้เม็ดเงินโฆษณาที่ผ่านมา วัดเฉพาะรายได้จากค่าโฆษณาเป็นนาทีเท่านั้น เช่น สถานีโทรทัศน์มีรายได้ 50,000 ล้านบาทจากโฆษณา แต่มีต้นทุน 30,000 ล้านบาทจากการผลิต ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปรวบรวมขัอมูล ขณะที่ต่างประเทศธุรกิจด้านการผลิตได้รับความสนับสนุนและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามหาก กสทช.และภาครัฐไม่พิจารณาแนวทางเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดจากอุตสาหกรรมนี้ จะส่งผลให้จีดีพี ลดลงและผู้ประกอบการบางรายอาจตัดสินใจลดต้นทุนหรือคืนใบอนุญาต ซึ่งจะมีพนักงานและครอบครัวตกงานนับ 1,000 คน และรัฐจะไม่ได้รับรายได้จากการประกอบการ รวมทั้งการสนับสนุนจากสื่อที่มีคุณภาพในระยะยาว

นักวิชาการแนะ“ยืดจ่าย”ไลเซ่นส์

          นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ เปิดเผยว่าการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล 24 ช่องใหม่ ในปี2557 ท่ามกลางสภาพอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ที่มี “ช่องทีวี” จำนวนมากทั้ง ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีกว่า 200 ช่อง รวมทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการเสพสื่อและคอนเทนท์จากจอทีวีสู่รูปแบบสตรีมมิ่งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มากขึ้น ทำให้ทีวีดิจิทัล มีคู่แข่งช่องทีวีเดิมและสื่อออนไลน์เข้ามาแย่งเวลาและจำนวนผู้ชม จึงเป็นสื่อที่ “ไม่สดใส”ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

            ทั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ที่ กสทช.สามารถดำเนินการได้ในฐานะองค์กรกำกับดูแลที่มีหน้าที่และอำนาจโดยตรง  คือพิจารณา“ขยาย”ระยะเวลาการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ตามข้อเสนอของผู้ประกอบการ จากเดิมกำหนดจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาต 6 ปี จากอายุใบอนุญาต  15 ปี  ด้วยการปรับวิธีการจ่ายเงินใหม่ โดยนำเงินงวดที่เหลือทั้งหมดมาหารจำนวนปีอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ขณะนี้ คือ 12 ปี แล้วเฉลี่ยจ่ายเป็นรายปีตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลือ วิธีการนี้รัฐจะไม่เสียประโยชน์และได้เงินค่าประมูลครบตามจำนวน ขณะที่ผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนลดลง ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่มีต้นทุนสูง

            “วิธีการขยายเวลาจ่ายเงินตลอดอายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัล กสทช.สามารถแก้ไขประกาศฯ เดิม หรือออกประกาศฯใหม่ ภายใต้อำนาจที่มีอยู่ได้ทันที”

เปิดทาง“ร่วมทุน-คืนไลเซ่นส์”

          นายธาม กล่าววเพิ่มเติมว่าอีกแนวทางแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล คือ กำหนดแนวทางการ “ร่วมทุน”ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เพื่อดึงกลุ่มทุนใหม่เข้ามาเสริมศักยภาพด้านเงินทุนและคอนเทนท์  ทั้งนี้  ควรเปิดทางให้กลุ่มทุนที่เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล แต่แพ้การประมูลเป็นกลุ่มแรก จากนั้นเป็นกลุ่มทุนอื่นๆ ที่สนใจ  แต่ควรจำกัดการร่วมทุนกันเองของกลุ่มที่ถือใบอนุญาตปัจจุบัน เพราะส่งผลต่อการแข่งขัน

            พร้อมกันนี้ กสทช. อาจพิจารณากำหนดแนวทางการ “คืนใบอนุญาต” หากผู้ประกอบการไม่ต้องการดำเนินกิจการหรือไม่มีความสามารถประกอบกิจการต่อไป  ทั้งนี้ มองว่าการคืนใบอนุญาต ควรกำหนดแนวทางเป็นลักษณะ “จ่ายก่อนคืน”  คือ ผู้รับใบอนุญาตที่ใช้คลื่นความถี่ทีวีดิจิทัลประกอบกิจการไปแล้ว ต้องจ่ายเงินส่วนที่ใช้งานไป และไม่คืนเงินส่วนที่จ่ายค่าใบอนุญาตมาแล้วทุกงวด

ปัจจุบันเป็นการประกอบกิจการปีที่3 ซึ่งผู้ประกอบการได้จ่ายเงินงวดที่3  ในเดือนพ.ค.2559 ดังนั้นหากต้องการคืนใบอนุญาต จะไม่สามารถรับเงินค่าใบอนุญาตส่วนที่จ่ายไปแล้วคืนได้ แต่หากต้องการคืนใบอนุญาตในงวดที่4 เป็นต้นไป  กสทช. อาจพิจารณาแนวทาง “ไม่เก็บ” เงินค่าใบอนุญาตส่วนที่เหลืออยู่ เพราะผู้ประกอบการยังไม่ใช้คลื่นความถี่ เพื่อเปิดโอกาสให้รายที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ออกจากตลาด

แต่ในกรณีถือเป็นการทำผิดสัญญากับหน่วยงานรัฐ  กสทช.สามารถพิจารณาขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) บริษัทที่คืนใบอนุญาตและกำหนดระยะเวลาห้ามขอใบอนุญาตกับหน่วยงานรัฐ หรือโทษอื่นๆ รวมทั้งกำหนดอัตราค่าปรับจากการทำผิดสัญญาเพื่อชดเชยรายได้ให้รัฐ

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ที่ได้คืนจากทีวีดิจิทัล กรณีมีผู้ประกอบการคืนใบอนุญาต  กสทช.สามารถนำไปจัดสรรและใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ต่อไป  โดยเฉพาะการจัดสรรคลื่นฯ ในกิจการโทรคมนาคมที่มีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นและมีมูลค่าสูง ซึ่งจะทำให้รัฐ ไม่เสียประโยชน์จากกรณีคืนคลื่นฯทีวีดิจิทัล  

ค้านใช้ ม.44 แก้ปัญหา

          นายธาม กล่าวอีกว่า “ไม่เห็นด้วย” กับแนวทางการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล โดยใช้ มาตรา 44 ของ คสช. เนื่องจากเป็นคำสั่งทางปกครอง  การใช้อำนาจดังกล่าวมาแก้ปัญหาอาจเข้าข่ายการแทรกแซงการประกอบกิจการธุรกิจ ที่ส่งผลด้านการแข่งขันอย่างเสรีและเท่าเทียม ในกลุ่มผู้ประกอบการทีวีทุกราย ที่มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

            “แนวทางการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลในขณะนี้ กสทช.สามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ดำเนินการได้เอง โดยยึดหลักความยุติธรรมและปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ  ส่วนภาครัฐ หรือคณะรัฐมนตรี อาจสนับสนุนด้วยการออกเป็นมติ ครม.ให้ กสทช.ไปดำเนินการ หลังจากมีผู้ประกอบการยื่นหนังสือให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”

            ส่วนแนวทางการแจกคูปองมองว่ายังต้องดำเนินการต่อไป เพราะเป็นการสนับสนุนครัวเรือนไทยทั่วประเทศที่ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน  โดย กสทช.สามารถพิจารณาใช้งบสนับสนุนผู้ประกอบการจากงบประมาณส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมได้

            หลังจากทีวีดิจิทัลออกอากาศมา 3 ปี  หากพิจารณาจากช่องรายการ จำนวนผู้ชม รวมทั้งสภาพ

อุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาปัจจุบัน จำนวนช่องที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 15 ช่อง โดยดูจากช่องที่มีเรทติ้งผู้ชมเกิน 1 แสนคนต่อนาที ซึ่งจะเป็นตัวเลือกและได้รับการจัดสรรงบโฆษณาและเอาตัวรอดได้  

           

โฆษณา“ไม่โต”ฉุดสื่อทีวี

          ทางด้านภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาแหล่งรายได้หลักของทีวีดิจิทัล จากการรายงานของมูลของบริษัทนีลเส็น ประเทศไทย จำกัด พบว่าช่วง 3 ปีหลังทีวีดิจิทัลเปิดตัว เป็นจังหวะที่โฆษณาขยายตัวต่ำและติดลบในปัจจุบัน

            โดยปี 2557 อุตสาหกรรมโฆษณามีมูลค่า 1.02 แสนล้านบาท ลดลง 9.51%  ปี 2558 มูลค่า  1.22 แสนล้านบาท เติบโต 3.34%  และช่วง 8 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 76,882  ล้านบาท ติดลบ 6.04%  โดยทีวีอนาล็อก มีมูลค่า  34,830  ล้านบาท ลดลง 11.04%  ทีวีดิจิทัล มูลค่า 14,819 ล้านบาท เติบโต 4.76%

นางสาวพเยาว์ ธรรมธีรสุนทร หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์การซื้อสื่อโทรทัศน์ มายด์แชร์ ประเทศไทย เอเยนซีเครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร เปิดเผยว่าการเริ่มต้นออกอากาศทีวีดิจิทัล 24 ช่องใหม่ในเดือน เม.ย.2557 ทำให้จำนวนช่อง“ฟรีทีวี” เชิงธุรกิจ เพิ่มขึ้นจากยุคอนาล็อกที่มี 4 ช่อง (ช่อง3,5,7และ9) ถึง 6 เท่าตัว อีกทั้งเกิดขึ้นในจังหวะที่สื่อออนไลน์เติบโตสูง

ทั้งสภาพการแข่งขันสูงจากจำนวนช่องฟรีทีวีที่เพิ่มขึ้น  ตัวเลือกสื่อออนไลน์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ขณะที่กำลังซื้อและเศรษฐกิจชะลอตัว  ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาไม่เติบโต ส่งผลต่อการหารายได้ทีวีดิจิทัลในช่วง 3 ปีนี้ ซึ่งเป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการช่องใหม่ใช้งบประมาณลงทุนสูง

แนะ“ร่วมทุน”พันธมิตรคอนเทนท์

          อย่างไรก็ตาม “ทีวี” ยังมีจุดเด่นด้านการครอบคลุมครัวเรือนไทยทั่วประเทศ ที่เข้าถึงผู้ชมจำนวนมากและเป็นสื่อดูฟรี จึงยังเป็น “สื่อหลัก” ในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มแมส ที่สินค้าและแบรนด์ใช้เป็นช่องทางการสื่อสารและใช้งบโฆษณา สะท้อนจากทีวีทุกประเภทยังครองส่วนแบ่งการตลาดอุตสาหกรรมโฆษณาสัดส่วนราว 60%

            ทั้งนี้ แนวทางการอยู่รอดในธุรกิจที่แข่งขันสูง จากผู้เล่นจำนวนมาก ช่องทีวีดิจิทัล ที่มีข้อจำกัดด้านการแข่งขันและเงินทุน อาจใช้วิธี “ร่วมทุน”กับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งด้านคอนเทนท์ เพื่อขยายฐานผู้ชม พร้อมทั้งตอบโจทย์พฤติกรรมการดูทีวีในยุคนี้ด้วยการผสานช่องทางการนำเสนอรายการรูปแบบมัลติ สกรีน และสื่อโซเชียล  ทำการตลาดแบบ 360 องศาเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกช่องทาง และเป็นตัวเลือกใช้งบโฆษณา

            “ทีวียังเป็นสื่อหลักที่ครอบคลุมคนไทยทั่วประเทศ แต่การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลช่องใหม่จำนวนมาก  ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาเติบโตไม่สูง จึงส่งผลให้เม็ดเงินไม่เพียงพอสำหรับทุกช่อง มองว่าจำนวนช่องที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมโฆษณาปัจจุบัน น่าจะอยู่ที่ 8-10 ช่องใหม่”