เอกชนแนะกระทรวงดีอี ชู "ดิจิทัล" นำเปลี่ยนแปลง

เอกชนแนะกระทรวงดีอี ชู "ดิจิทัล" นำเปลี่ยนแปลง

เอกชนแนะกระทรวงดีอีชูดิจิทัลนำทุกเรื่อง สร้างโรดแมพชัด เชื่อมทุกหน่วยงานร่วมผลักดันประเทศ

เอกชนแนะกระทรวงดีอีชูดิจิทัลนำทุกเรื่อง สร้างโรดแมพชัด เชื่อมทุกหน่วยงานร่วมผลักดันประเทศ กระตุ้นไอทีมีบทบาททุกส่วน แนะต้องกล้าเปลี่ยนแปลงระดับดีเอ็นเอ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า อยากเห็นกระทรวงดิจิทัลฯ นำ “ดิจิทัล” เป็นตัวลีดในทุกๆ เรื่องเหมือนกับต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ หรือมาเลเซีย สร้างโรดแมพที่ชัดเจน เป็นตัวเชื่อมให้ทุกๆ หน่วยงานร่วมกันผลักดันให้ประเทศให้เป็นประเทศดิจิทัลให้ได้ กระตุ้นให้ไอทีมีบทบาทในทุกๆ ส่วน เช่นในต่างประเทศจะกระตุ้นตั้งแต่ระดับเด็กๆ มัธยมให้เขียนโค้ดเป็น ทำซอฟต์แวร์เป็นมาตั้งแต่เด็ก

ขณะที่ ต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรในกระทรวง ให้ตื่นตัว ต้องดึงคนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านไอที ดิจิทัลเข้ามามากๆ อย่างทีjผ่านมามองว่า บุคลากรยังไม่ “อิน” ยังไม่มี “passion” ด้านไอทีมากพอ

“อย่างในต่างประเทศที่ได้ไปสัมผัสนั้น กระทรวงด้านไอทีเขาจะดึงคนเก่งๆ ที่มีความรู้ความเข้าใจเข้าไปทำงาน ไปร่วมขับเคลื่อน มีโรดแมพที่ชัดเจน อย่างในมาเลเซียที่มีโรดแมพในเรื่องซูเปอร์คอร์ริดอร์ มีเมืองไซเบอร์จายา คือ โรดแมพในเรื่องนี้เขาชัดเจนมาก แต่ในไทยโรดแมพเปลี่ยนบ่อย เกิดความไม่ชัดเจน จากนี้ไปควรดึงรัฐ และเอกชนไปร่วมขับเคลื่อนส่วนสเปคของตัวรัฐมนตรีดิจิทัลนั้น ควรเป็นผู้ทีี่มีความรู้ความสามารถ มีวิชั่นในเรื่องเทคโนโลยี เรื่องไอทีอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่บุคลากรที่จะมาร่วมขับเคลื่อนต้องอินในดิจิทัล ไม่เช่นนั้น แม้จะได้รัฐมนตรีที่เก่งด้านไอที แต่บุคลากรไม่อิน ก็ไม่มีประโยชน์"

ต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน
นายประวิตร ฉัตตะละดา ผู้อำนวยการ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (เอทีซีไอ) กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนชื่อเสียง โดยไม่เปลี่ยนวิธีการทำงานของกระทรวง และวิธีการทำงานของผู้นำจะนำไปสู่ความเป็นดิจิทัลได้ ระบบราชการถึงจุดที่ไปไม่รอดแล้ว

ระบบการทำงานของกระทรวงใหม่ต้องเป็นดิจิทัล กอฟเวิร์นเมนต์ เปิดโอกาสให้ทำสิ่งใหม่ ถ้ายังเป็นแบบเดิมจะแก้ไม่ได้ กระทรวงและพ.ร.บ.ใหม่ให้โอกาสเพาะพันธุ์ใหม่หน่วยงานที่เป็นอิสระ เป็นตัวอย่างให้ตัวเองและคนอื่น ที่จะไปทำให้ระบบเก่าตายไป

จากเหตุผลการเปลี่ยนชื่อกระทรวงเดิมที่ทำด้านอินฟราสตรักเจอร์เพียงด้านเดียว ไม่ทำเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นับเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะเดิมทำอยู่แล้ว แต่ไม่เก่งและไม่เป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ต้องการมากกว่าที่ทำอยู่เดิม จะให้เป็นแม่แบบปลูกเมล็ดใหม่ เป็นดีเอ็นเอใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะกล้าทำไหม ถ้าไม่กล้าต่อไปก็ดีเท่ากับวันนี้ที่ไม่ได้ชั่วร้ายแต่ไม่ดี เหตุข้าราชการไม่กล้าทำถือเป็นปัญหาทางวัฒนธรรม

ถ้าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงกระทรวงใหม่ต้องเป็นแม่แบบให้ประเทศ ถือเป็นจุดหักเหจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลเต็มที่ เปลี่ยนความคิด ทัศนคติ ความสามารถ และดัชนีชี้วัดให้ได้
แนะวางโรดแมพซิเคียวริตี้

นางสาวปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของประเทศไทย ด้วยแนวทางของภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ภาพที่อยากเห็นจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือการวางโรดแมพและแผนงานด้านซิเคียวริตี้อย่างเป็นรูปแบบ ส่วนของบริษัท เคยมีโอกาสพูดคุยกับทางผู้ใหญ่ถึงสถานการณ์ความรุนแรงด้านภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในไทย จากนี้พร้อมมีส่วนร่วมสนับสนุน โดยที่ทำได้มีทั้งด้านการวางโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ที่ผ่านมาบริษัทมีประสบการณ์ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐในหลายๆ ประเทศมาแล้ว 


“เราได้เห็นว่ารัฐมีแผนงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในหลายๆ ด้าน ทว่ามุมซิเคียวริตี้ยังไม่ชัดเจน เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมากจำต้องแยกออกมาและทำแผนงานอย่างจริงจัง”

นโยบายยังไม่ชัด
นายปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงบทบาทและความเปลี่ยนแปลงหลังการจัดตั้งกระทรวงดีอีว่า ขณะนี้แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือแผนดีอี ยังไม่เสร็จ และร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่) อยู่ระหว่างการจัดทำในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ดังนั้น หากพิจารณาในแง่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กับกระทรวงดีอีจะมีความสัมพันธ์กันในเชิงนโยบายเท่านั้น กสทช. ยังคงเป็นผู้กำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมตามนโยบายของรัฐคือตามแผนดีอี

การบริหาร หรือการกำหนดทิศทางของ กสทช. ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการดีอี โดยความสัมพันธ์เชิงนโยบายดังกล่าวรัฐบาลได้กำหนดให้มีกลไกวินิจฉัย โดยมีกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อมีข้อสงสัยระดับนโยบายให้ กสทช. ถามไปยังกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งมีโครงสร้างมาจากคณะกรมการดีอีกับกสทช. ลงมติชี้ขาด

ความเป็นห่วงในเรื่องนี้ คือความไม่ชัดเจนเชิงนโยบาย ถ้ามีนโยบายชัดเจนจะไม่มีปัญหา ตอนนี้กฎหมายยังไม่ออก กรรมธิการฯ กำลังอภิปรายว่าความสัมพันธ์ระหว่างสององค์กรควรเป็นอย่างไร ซึ่งกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับการมีกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด

“หาก กสทช. มีคำถามเชิงนโยบาย หรือคำถามเชิงหลักการ ให้นำเข้ากรรมการวินิจฉัยเพื่อขอความเห็น กลไกนี้อาจไม่ต้องลงมติแต่เป็นผู้วินิจฉัย เมื่อมีความสงสัยขึ้น ให้ส่งมาที่กรรมการวินิจฉัยแล้วส่งคำตอบกลับที่ กสทช. น่าจะเป็นกลไกที่ดีกว่า ส่วนที่มีความเข้าใจว่า กสทช.ต้องย้ายเป็นเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอีเป็นความเข้าใจผิด ตามร่างที่กำลังทำอยู่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะกสทช.ต้องเป็นอิสระ ตามร่างกสทช.ยังคงเป็นหน่วยงานที่แยกจากกระทรวงดีอี ทำงานเป็นอิสระด้วยตัวเอง แต่ความเป็นอิสระเชิงนโยบายยังต้องผ่านความเห็นชอบของกรรมการดีอี ดังนั้น รัฐบาลจะต้องออกนโยบายที่ชัดเจนให้กสทช.นำไปปฎิบัติได้”

คาดตั้งกองทุนดีอีบริหาร
ส่วนกรรมการดีอีจะเป็นผู้วินิจฉัยการใช้เงินในโดยเฉพาะเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนกทปส.) ด้วยหรือไม่ นายปิยะบุตร กล่าวว่า เงินกองทุน กทปส. เป็นกองทุนที่กำหนดวัตถุประสงค์ให้ใช้เงินไปพัฒนาเฉพาะด้าน ไม่เหมือนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ

เรื่องนี้กำลังพิจารณาให้วัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม โดยกรรมการดีอีจะเข้าไปดูแค่การกำหนดเชิงนโยบายว่าในปีนั้นๆ ต้องการให้ใช้งบประมาณไปด้านใด เรื่องนี้ระดับปฏิบัติจริงคือกรรมการกองทุนฯ ไม่ใช่ กสทช. หรือกระทรวงดีอี เมื่อถึงเวลาที่มีกรรมการดีอีแล้วจะมีกองทุนดีอีที่เกิดขึ้นใหม่ตามกฎหมายดีอี ด้วยเป็นเงินคนละก้อนกับกองทุนกทปส. เงินทั้งสองส่วนใช้ทำภารกิจของตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน

“จริงๆ แล้วปัญหาที่มีอยู่ในเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่มีกฎหมายไม่พอ แต่เป็นปัญหาที่การกำหนดนโยบายที่ไม่ชัดเจนในการกำหนดกรอบการทำงาน จนมีคนพูดว่านโยบายที่ชัดเจนก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่เอาเข้าจริงกฎหมายเขียนได้แค่กรอบการทำงานส่วนการจะไปเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาทางไหนนโยบายต่างหากที่เป็นตัวกำหนด นโยบายตรงนี้ยังไม่มี อย่างกิจการดาวเทียมจะเอายังไง การประมูลคลื่นความถี่จะเอายังไง แผนยุทธศาสตร์ดีอีของเราเป็นกรอบใหญ่มันดีอยู่แล้วในระดับหลักการจึงต้องติดตามเวลาย่อยแผนไปทำในเชิงปฏิบัติจะทำอย่างไร ทำให้มีความต่อเนื่องได้ไหม กิจการวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเราเปิดตลาดเสรีมานานแล้วแต่มันมีการแข่งขันหรือยัง นโยบายมันยังไม่ส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ขณะเดียวกันเรื่องความมั่นคงเราจะเอายังไง”

ตั้งกระทรวง3ต.ค.นี้
หลังราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2559กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคาดจะมีประกาศแต่งตั้งกระทรวงใหม่วันที่ 3 ต.ค. 2559

นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีทีระบุว่าขอให้มั่นใจได้ว่าการทำงานช่วงนี้จะไม่เกิดสภาวะสุญญากาศอย่างแน่นอนภารกิจต่างๆ ของกระทรวงไอซีทีเดิม แต่ละโครงการยังคงเดินหน้าต่ออย่างแน่นอน ส่วนบุคลากรกระทรวงไอซีทีเดิมก็ให้ปฏิบัติหน้าที่แทนตำแหน่งเดิมไปก่อนในขณะนี้

พร้อมสร้างโครงข่ายอินฟราฯ
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า คงออกความเห็นไม่ได้ว่าโครงสร้างกระทรวงเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร สิ่งที่รัฐวิสาหกิจประจำกระทรวงทำได้คือ รับนโยบายจากรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกำกับรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดย กสท ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายหลักของประเทศ (อินฟราสตรักเจอร์) ด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับการเป็นไทยแลนด์ 4.0 โดยจะถือเป็นงานสำคัญที่สุดของ กสท