'รมว.พาณิชย์' โยนปลัดลงนามค่าเสียหายจีทูจี

'รมว.พาณิชย์' โยนปลัดลงนามค่าเสียหายจีทูจี

"รมว.พาณิชย์" โยนปลัดกระทรวงลงนามเรียกค่าเสียหายข้าวจีทูจี ชี้ไม่ใช่นักการเมือง ด้าน "วิบูลย์ลักษณ์" ชี้หากให้ลงนามต้องมีเหตุผลและอธิบายได้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกร้องความเสียหายกรณีข้าวจีทูจี 4 สัญญา จำนวน 6.2 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายกว่า 20,000 ล้านบาท จากผู้เกี่ยวข้องทั้งนักการเมืองและข้าราชการ รวม 6ราย ล่าสุดได้รับหนังสือตอบกลับจากนายกรัฐมนตรีให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามคำสั่งทางปกครองในการเรียกค่าเสียหายดังกล่าว โดยกระทรวงพาณิชย์ดูแลในส่วนกรณีเรียกร้องค่าเสียหายทุจริตจีทูจี

“กรณีมอบอำนาจให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในคำสั่งเรียกร้องค่าเสียหายต้องบอกก่อนว่า พี่ไม่ใช่นักการเมือง แต่มาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่มีความเชี่ยวชาญและทำงานอย่างตรงไปตรงมา เรื่องนี้ต้องลงรายละเอียดเยอะและเป็นเรื่องซับซ้อน และต้องใช้เวลาในการทำงานให้รอบคอบ ไม่ตั้งใจที่จะกลั่นแกล้งและลงโทษใคร ทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้า เรื่องนี้ได้หารือนายกรัฐมนตรีและเป็นการกระทำที่ดำเนินการตามกระบวนการ” นางอภิรดี กล่าว

ทั้งนี้ หากมีการลงนามในคำสั่งเรียกค่าเสียหายแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 รายรับทราบและภายใน 30 วัน หากผู้ถูกกล่าวหายังเพิกเฉยหรือไม่มีการโต้แย้งจะส่งหนังสือแจ้งเตือนรอบที่ 2 ซึ่งมีระยะเวลา 15 วัน ต่อจากนั้นจะส่งสรุปไปยังกรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ แต่ยืนยันว่าการเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจะทันก่อนหมดอายุความเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แน่นอน

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ในกระทรวงพาณิชย์มีทีมกฎหมายดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ หลังจากปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามฝ่ายกฎหมายจะทำหนังสือถึงนักการเมืองและข้าราชการทั้ง 6 รายรับทราบ หากมีข้อโต้แย้งผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 ราย ต้องยื่นเรื่องไปที่ศาลปกครองและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป จะเข้ารับตำแหน่ง แต่เรื่องการฟ้องร้องค่าเสียหายข้าวจีทูจีไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น จึงไม่ได้รับรู้รายละเอียด ดังนั้น หากต้องเข้าไปดูแลคงต้องเข้าไปดูในรายละเอียดในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร และขั้นตอนของการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาปลัดกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบันและทีมงานของกรมการค้าต่างประเทศดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

“หากจะให้ต้องเป็นผู้ลงนามในคำสั่งฟ้อง ต้องมีเหตุผลและอธิบายได้ รวมถึงที่มาที่ไปว่าเป็นเพราะเหตุใด การจะเซ็นอะไรต้องดูอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ใครตั้งมาและให้ลงนามก็ไม่ใช่ว่าจะต้องดำเนินการทันที เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนและกระบวนการ ส่วนตัวเชื่อและมั่นใจว่าปลัดกระทรวงคนปัจจุบันดูแลเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นและมุ่งมั่นแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เป็นผู้รู้เรื่องจริง ก็ไม่น่าจะมีการบังคับให้ลงนาม” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว