2559 วันที่รอ พ.ศ.ที่ใช่ ของสตาร์ทอัพไทย

2559 วันที่รอ พ.ศ.ที่ใช่  ของสตาร์ทอัพไทย

ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบเป็นหนึ่งในผู้ที่บุกเบิกวงการ “ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” หรือ หมู อุ๊กบี ก็ยังมองว่าในปีพ.ศ.2559 ถือเป็นปีทองของสตาร์

เนื่องจากอีโคซิสเต็ม หรือ ระบบนิเวศน์ของประเทศไทยเวลานี้มีความพร้อม นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐก็มี 3จีก็มา จึงแข็งแรงพอและเอื้อประโยชน์ต่อเหล่าสตาร์ทอัพ แต่แน่นอนมันย่อมเป็นดาบสองคม ประโยชน์ก็คือ การเข้าถึงเงินทุนที่ง่ายขึ้น ทางตรงข้ามจำนวนคู่แข่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

“ถูกที่ ถูกเวลา” ก็คือ รหัสลับความสำเร็จ ณัฐวุฒิ บอกว่าอุ๊กบีเองคงไม่มีทางแจ้งเกิด ถ้าธุรกิจเกิดเร็วกว่านี้หรือย้อนไป 2-3 ปีที่ผ่านมา หากไม่มีดีไวซ์ ไม่มีไอแพด ก็อย่าหวังทำธุรกิจอีบุ๊ค แล้วอะไรคือกับดักสำคัญของคำว่าถูกที่ ถูกเวลา


"เรื่องแรกเราต้องดูว่ามี Pain นี้อยู่ในตลาดหรือเปล่า ถ้ามีก็แสดงว่ามีสิทธิที่คนจะใช้สินค้าหรือบริการ สอง แล้วเราสามารถทำอะไรที่ตอบสนองทำให้เขายอมจ่ายเงิน ศัพท์ของสตาร์ทอัพจะมีคำว่า Product Market Fit เราสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับตลาด ถ้าสร้างอะไรขึ้นมาแล้วไม่มีคนใช้ ไม่มีคนซื้อ มันก็ไม่ถูกที่ ถูกเวลา"


ความเป็นจริงก็คือ สตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นมือใหม่หัดขับจำเป็นต้องฝึกฝนและแสวงหาความรู้อีกมาก แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ณัฐวุฒิบอกว่า ความรู้ในระดับเบสิค มีคนที่เคยทำแล้ว ลองทำแล้วได้นำเอาประสบการณ์ความรู้แชร์ไว้บนโลกอินเตอร์เน็ตจำนวนไม่น้อย


"หลายๆ สตาร์ทอัพไม่ประสบความสำเร็จ เขาอาจทำหลายๆอย่างแล้วล้มเหลว ตรงนั้นก็อาจเป็นโนว์ฮาวอย่างหนึ่ง การให้ความรู้ไม่ได้เป็นการแชร์เฉพาะเรื่องที่สำเร็จ อาจแชร์เคสที่มันเฟล ให้เรารู้ว่ามันล้มเหลวเพราะอะไร กันไม่ให้คนอื่นไม่ให้เฟลซ้ำ "


มีความล้มเหลวที่ถือเป็นกรณีศึกษาหรือไม่? เขาบอกว่าถ้าดูที่ต่างประเทศ เช่นกรณีของอินสตาแกรม หรือ อูเบอร์ กว่าผู้ก่อตั้งจะปั้นสตาร์ทอัพที่ร้อนแรงที่สุดของโลกขนาดนี้ก็ผ่านการ “เจ๊ง” อย่างไม่เป็นท่ามาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่การเจ๊งทำให้เกิดการเรียนรู้ ประเด็นสำคัญก็คือ นักลงทุนก็ยังคงเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนผู้ก่อตั้งทั้งของอินสตาแกรม หรือ อูเบอร์ เวลาที่เขาคิดทำสตาร์ทอัพใหม่ทุกครั้ง


"กลับมาตรงจุดที่ว่า เมืองไทยต้องสร้างสังคมที่ไม่ให้ความสำคัญกับความล้มเหลวมากเกินไป ต้องบอกว่ามันล้มเหลวได้ เป็นเรื่องปกติเลยสำหรับการล้มเหลว เด็กกว่าจะปั่นจักรยานได้ก็ต้องล้ม มันเป็นเรื่องปกติในการพัฒนาของมนุษยชาติ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ต้องเฟลมาก่อน ถ้ายังยึดติด ล้มไม่ได้ เฟลไม่ได้ จะทำให้เราพลาดสิ่งดีๆไป เพราะจริงๆแล้วเวลามันจำกัด การทำแล้วไม่สำเร็จในตอนนี้มันอาจไม่ได้แปลว่าธุรกิจไม่ดี แต่มันอาจไม่ถูกที่ถูกเวลา ไปทำอย่างอื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาทำไอเดียนี้อีกทีก็ได้"


เมื่อถามถึงข้อแนะนำเพราะเคยมีคนกล่าวว่า “เมื่อล้มจำเป็นต้องลุกขึ้นยืนให้เร็ว” เขาบอกว่าไม่มีคาถาใดที่ขลังไปมากกว่าคำว่า “อย่ายึดติด”


"สตาร์ทอัพมีคำว่า Pivot ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนบิสิเนส โมเดล เปลี่ยนทาง อย่างอุ๊กบีตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนบิสิเนส โมเดลมาสองสามรอบแล้ว แม้ของบางอย่างอาจทำเงินในปัจจุบัน แต่ถ้าเราเริ่มเห็นแนวโน้มมีของใหม่ที่ดีกว่า ถ้าเราไม่รีบทำอันใหม่มาฆ่าอันเก่า ก็จะมีคนทำอันใหม่มาฆ่าเราเอง เราต้องยอมทำขึ้นมาก่อน ซึ่งมันค่อนข้างเป็นปกติสำหรับคนที่ทำธุรกิจและมองไปในอนาคตยาวๆ"


เพื่อนร่วมคิด ทีมงานถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญของสตาร์ทอัพ ณัฐวุฒิ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า สตาร์ทอัพทุกรายควรต้องมี Co-founderแม้จะมีกรณีของสตาร์ทอัพที่มาคนเดียว เป็นวันแมนโชว์ แต่ต้องบอกว่าทุกๆ สตาร์ทอัพที่ยิ่งใหญ่มักพึ่งพาอาศัยกลุ่มคนที่เป็นเพื่อนหรือสนิทกันมาช่วยเกื้อหนุนกันเสมอ


"คนเราไม่ได้เก่งทุกอย่าง และบางทีก็มีช่วงที่ท้อ ผมว่าเรื่องนี้สำคัญโดยเฉพาะปีแรกๆ ของการทำสตาร์ทอัพ ที่ต้องมีสามสี่คนที่เก่งๆ มาช่วยทำงานไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ หรือดีไซน์ แต่จริงๆ มีอีกมุมหนึ่งที่ไม่ใช่เพียงแค่ความเก่ง เวลาที่พบเจอความลำบากเราอาจต้องการคนที่พร้อมจะลำบากไปพร้อมกับเรา ช่วยตบหลังเราว่าไม่เป็นไร พรุ่งนี้ค่อยลองกันใหม่ หรือวันที่เราป่วยก็จะมีคนที่บอกเราว่านัดนี้มึงไม่ต้องกังวลกูไปแทนให้ แบบนี้มากกว่า"


เวลานี้ ณัฐวุฒิ สวมหมวกอยู่สองใบในฐานะสตาร์ทอัพเขาเป็น Founder & CEO ของ Ookbee ทั้งยังเป็น Co-founderของ Favstay และเป็นผู้บริหารกองทุนของ500TukTuks


ถามว่าหมวกใบไหนที่ท้าทายและยากกว่า เขาตอบว่าความยากง่ายไม่แตกต่างกัน สำหรับเขาเชื่อว่า ในหมวกของนักลงทุนและต้องคอยเป็น Mentor การที่เคยมีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพ จะทำให้รู้ลึกถึงโอกาสความสำเร็จและโอกาสความล้มเหลว


"เพราะเราได้อยู่ตรงนั้นจริงๆ ไม่ได้อยู่แต่ในทฤษฏี เราเองก็ทำสตาร์ทอัพไปด้วย ทั้งสองอันมันเกื้อหนุนกัน และถ้าเราทำเองแล้วประสบความสำเร็จก็จะดี คนอื่นจะได้มองเป็นตัวอย่างได้ด้วย ไม่ได้พูดไปแต่ตัวเองไม่ได้ทำ นึกออกไหม หรือถ้าเราเฟล เราก็จะได้เรียนรู้ว่าเอาเข้าจริงแล้วมันยาก ไม่ใช่ไปบอกให้คนโน้นคนนี้ขยายลงทุนไปที่โน่นนี่เพราะทำเองยังยากขนาดนี้ ทุกวันนี้มองว่าการทำสองอย่างมันเป็นฟอร์มูล่าร์ที่ดี ทำให้ผมรู้ว่าแท้จริงมันเป็นยังไงกันแน่"


ในฐานะของผู้บริหารกองทุน เขามองว่าสตาร์ทอัพแบบไหนที่เซ็กซี่ โดนใจ ประเภทไหนเป็นพิเศษ คำตอบก็คือไม่ได้มีการกำหนดชัด แต่ที่ 500TukTuks ลงทุนไป 20 รายพบว่าเป็นฟินเทค 5 ราย เป็นอีคอมเมิร์ซ 4 รายที่เหลือก็ปนๆ กันไป


"หน้าที่ของวีซีคือ การเอาเงินของคนมาบริหารและต้องทำมันรีเทิร์น เพราะฉะนั้นมันไม่ต้องเซ็กซี่ ไม่ต้องอินโนเวชั่นมาก แต่คุณต้องโตได้อย่างน้อยสองเท่าต่อปี เพราะ 5 ปีมันจะเป็น 32 เท่าใครที่มีอินโนเวชั่นเยอะก็อาจเป็นไอเดียที่ดี แต่เราไม่ลงทุนเพราะมันเสี่ยง สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จทุกอันเกิดจากการโคลนนิ่ง ไปก้อบปี้ไอเดียแล้วนำมาปรับเข้ากับตลาดเมืองไทยอย่าง อุ๊กบี วงใน หรือแกร็บแท็กซี่ก็ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่คนเอเชียเราไม่มีอินโนเวชั่น แต่คนในเอเชียจะมีคนจ่ายเงินให้กับเซอร์วิสแรกๆน้อย ทำให้โอกาสที่บริษัทที่เปิดแล้วตายมีเยอะ"


สตาร์ทอัพไทยเดินมาถึงจุดที่เกินความคาดหวังหรือไม่? เขาบอกว่าถ้านับที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ถือว่าจุดที่กำลังยืนอยู่ยังไปได้ไกลไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


"ด้วยความที่บิสิเนสโมเดลมันถูกออกแบบมาให้เข้าถึงกับคนทุกคน ที่สุดมันจะเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เราไม่ได้คิดฝันเรื่องนี้เองเพราะมันเกิดขึ้นจริงแล้วในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น อเมริกา แต่ถ้าไม่มีใครทำสตาร์ทอัพไทยขึ้นมามันกลายเป็นว่าเราต้องไปใช้ของต่างประเทศ ทุกวันนี้อูเบอร์ก็เข้ามา แต่คนไทยก็ใช้กัน อย่างค่าโฆษณาที่เราจ่ายให้เฟสบุ๊ค เงินมันก็ออกนอกประเทศไม่ได้มีอะไรอยู่ในประเทศเลย ดังนั้นเราต้องมีสตาร์ทอัพที่แข็งแรงเหมือนกับจีนที่สตาร์ทอัพเขาแข็งแรงเสียจนสตาร์ทอัพจากที่ไหนก็เข้าไปไม่ได้ เรื่องนี้ต้องเป็นอาเจนด้าสำคัญของประเทศ"


 บนลู่วิ่งมาราธอน
ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของสตาร์ทอัพหรือผู้บริหารกองทุน ความเป็นมนุษย์ย่อมมีความรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ ณัฐวุฒิบอกอย่างนั้น


"ท้ายสุดคุณตื่นมาวันรุ่งขึ้นพระอาทิตย์ก็ขึ้นเหมือนเดิม ไม่มีแค่คุณคนเดียวที่ทำสำเร็จ หรือเจ๊ง คนที่เก่งกว่าก็มี คนที่ลำบากกว่าก็มีเยอะแยะ คือมันไม่ใช่แค่วันนี้พรุ่งนี้ มันไม่ได้เป็นแค่การวิ่งแข่ง แต่เป็นการวิ่งมาราธอน เราไม่ต้องวิ่งให้เร็วที่สุด แต่เราต้องเชื่อว่าท้ายสุดจะไปถึงจุดหมายได้ "


ในการทำธุรกิจย่อมมีปัญหาร้อยแปดพันเก้า แต่ลักษณะที่ดีของคนที่เป็น Founder คือต้องมองทุกปัญหาเป็นเรื่องเล็กที่สามารถแก้ไขได้


"ความเชื่อ คืออย่างแรกที่ต้องมี ถ้าไม่เชื่อการที่เราจะไปอยู่กับมันไม่หลับไม่นอน ทำโดยไม่มีรายได้ ลำบากเป็นระยะเวลานานๆ มันเป็นเรื่องยาก ผมเชื่อว่าคนเราต้องมีวิชั่นและต้องเชื่อมั่นมากพอเพราะก่อนที่จะโน้มน้าวคนอื่นว่าของพวกนี้มีอยู่จริงได้ ตัวคุณต้องเชื่ออย่างหมดใจเสียก่อนว่ามันมีจริง มันทำได้"