กทม.จัด 'วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก' 25 ก.ย.นี้

กทม.จัด 'วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก' 25 ก.ย.นี้

กทม.จัด "วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก" 25 ก.ย.นี้ เตือนนำหมา-แมวฉีดวัคซีน หลังพบชายวัย 52 ถูกสุนัขกัดติดเชื้อ เสียชีวิตรายแรกของปีแล้ว

ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกทม. กล่าวเป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ประจำปี 2559 (World Rabies Day 2016) ภายใต้แนวคิด “ร่วมใจไม่ทิ้งสัตว์ ช่วยขจัดโรคพิษสุนัขบ้า” ว่า งานดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 ก.ย. เวลา 09.00 – 16.00 น. ที่บริเวณศูนย์ควบคุมสุนัข กทม. เขตประเวศ ซึ่งกทม.ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย บริการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดไมโครซิปและจดทะเบียนสุนัข การจัดนิทรรศการให้ความรู้โรคพิษสุนัขบ้า ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ และพฤติกรรมสัตว์ การเสวนา การแสดงบนเวที การแสดงความสามารถของสุนัข และสามารถนำสุนัขและแมวไปรับบริการต่างๆ ภายในงานได้ฟรี 

พญ.วันทนีย์ กล่าวต่อว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคสัตว์สู่คนที่มีความร้ายแรง คนหรือสัตว์ที่แสดงอาการของโรคนี้แล้วต้องเสียชีวิตทุกราย สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยจากข้อมูลสถิติของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่ปี 2553 จำนวนคนเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทั้งประเทศมีจำนวนปีละ 3-6 ราย ในขณะที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตตั้งแต่เดือนก.ค. 2555 จนเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2559 ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ว่า พบผู้ป่วยเพศชายอายุ 52 ปี ในพื้นที่เขตบางนา ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากการถูกสุนัขกัด แต่ไม่ไปพบแพทย์เพื่อรักษาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จนแสดงอาการและเสียชีวิตในที่สุด    

พญ.วันทนีย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลตัวอย่างสัตว์ในเขตกรุงเทพฯที่ส่งตรวจยืนยันโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ มีแนวโน้มลดลง จาก 72 ตัวในปี 2555 เหลือ 22 ตัวในปี 2558 และในปี 2559 พบเพียง 13 ตัว โดยพบว่าสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามากที่สุดร้อยละ 96 รองลงมาเป็นแมว ร้อยละ 4 โดยร้อยละ 50 ของสัตว์ที่พบเชื้อเป็นสัตว์จรจัด แสดงให้เห็นว่ายังมีสัตว์จรจัดเป็นพาหะสำคัญอยู่ในพื้นที่ หากประชาชนไม่ตระหนักถึงอันตรายและความร้ายแรงของโรคพิษสุนัขบ้า ไม่นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขาดความรู้ในการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ การนำสุนัขหรือแมวไปปล่อย ทำให้สัตว์จรจัดมีจำนวนมากขึ้น เป็นเหมือนการเพิ่มพาหะนำโรค และทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะถูกสัตว์เหล่านั้นกัดมากขึ้นไปด้วย      

“หากประชาชนท่านใดถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และที่สำคัญควรจดจำสุนัขที่กัดเพื่อติดตามอาการ หากสุนัขเสียชีวิต ให้ส่งซากชันสูตรโรคพิษสุนัขบ้า สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพ หรือมีโอกาสคลุกคลีใกล้ชิดกับสุนัขหรือแมวเป็นประจำ จะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอแนะนำให้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อป้องกันไว้ก่อน”พญ.วันทนีย์ กล่าว