BEM - ซื้อ

BEM - ซื้อ

ประเด็นหลักจากโรด์โชว์

ประเด็นการลงทุน

เมื่อเร็วๆ นี้เราได้รับเกียรติจาก คุณชาตรี เตชะทัศนสุนทร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท BEM ไปโรดโชว์ที่ฮ่องกง โดยภาพรวมเราสัมผัสได้ถึงมุมมองเชิงบวกจากนักลงทุนที่มีต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งหนุนโดยการลงทุนจากภาครัฐผ่านทางโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และหาโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศไทย เนื่องด้วยโครงการการลงทุนที่หลากหลายจากภาครัฐ ทำให้นักลงทุนมีมุมมองที่ดีต่อการเติบโตของ BEM ในอนาคต ในมุมมองของเราราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนที่ผ่านมาส่งผลให้มูลค่าหุ้นอยู่ในระดับที่น่าลงทุนมากขึ้น ดังนั้นเราจึงปรับคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ซื้อ” โดยมีประเด็นหลักสำคัญต่างๆจากโรดโชว์ ดังนี้

อัพเดทโครงการทางพิเศษเปิดใหม่

โครงการทางพิเศษแห่งใหม่ของ BEM (สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร [SOE]) ซึ่งเป็นเชื่อมเส้นทางคมนาคมจากกรุงเทพฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก โดยเปิดทำการในเชิงพานิชย์เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2559 ทั้งนี้ SOE มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ( 15 ธ.ค 2555-2585) และในปีแรกที่ดำเนินการมีค่าทางด่วน 50 บาทต่อเที่ยว และจะเพิ่มขึ้น 15 บาทต่อเที่ยวในทุกๆ 5 ปี ผู้บริหารกล่าวว่าปริมาณจราจรบนทางด่วน SOE ดี โดยมีปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 30,805 เที่ยวในช่วง 10 วันแรกของการเปิดให้บริการ ทั้งนี้ผู้บริหารยังคงเป้าหมายปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 88,000 เที่ยวในช่วงปีแรกของการเปิดให้บริการ เนื่องจากโดยปกติการเปิดให้บริการของทางด่วนแห่งใหม่ในช่วงแรกๆจะมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ (เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก) รายได้จากทางด่วน SOE จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้ค่าผ่านทาง แต่สัดส่วนรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในระยะยาว

อัพเดทการต่อสัมปทานทางพิเศษเส้นปัจจุบัน

ปัจจุบัน BEM เป็นผู้ให้บริการทางด่วนขั้นที่สอง [SES; ส่วน A-B-C-D] ภายใต้สัปทาน 2 ฉบับที่จะหมดอายุในปี 2563 (ส่วน A-B-C) และปี 2570 (ส่วน D) ทั้งนี้ผู้บริหารกล่าวว่า BEM มีสิทธิที่จะขอขยายสัมปทานได้ครั้งละ 10 ปี เป็นจำนวน 2 ครั้ง โดยทางบริษัทได้ทำการยื่นเรื่องต่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในปี 2558 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งนี้ผู้บริหารคาดว่าผลการเจรจาจะทราบในปี 2562 หรือหนึ่งปีก่อนที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2563 ทั้งนี้ผู้บริหารแสดงความมั่นใจว่า BEM จะได้สิทธิการดำเนินการของทางด่วนของเดิมที่มีอยู่ต่อไปในอนาคต เนื่องจากมีประสบการณ์ที่ยาวนานและมีแผนการพัฒนาทางด่วน

อัพเดทการเจรจาสำหรับการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

ผู้บริหารกล่าวถึงการเจรจากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(MRTA) สำหรับสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง –บางแค/บางซื่อ-ท่าพระ) ว่าน่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากอยู่ภายใต้มาตรา 44 ทางภาครัฐจะมีการประชุมในวันที่ 16 ก.ย. และคาดว่าจะเริ่มเจรจากับ BEM ในสัปดาห์ถัดไป และคาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้ภายในหนึ่งเดือน ทั้งนี้ผู้บริหารคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ภายในปี 2559 และสถานีแรก (บางซื่อ – เตาปูน) จะเริ่มเปิดให้บริการภายใน 6 เดือนหลังจากเซ็นสัญญา นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายคาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนในปี 2561 และเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2562