ฟินโนมีนา ยุทธการปราบความจน

ฟินโนมีนา  ยุทธการปราบความจน

อินฟินิติดูแลนักลงทุนโดยใช้มนุษย์ ฟินโนมีนาดูแลลูกค้าเหมือนอินฟินิติทุกประการแต่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก

สุดท้ายแล้วต้องทำในสิ่งที่ตัวเอง “ชื่นชอบ” มีความ “เก่งและความเชี่ยวชาญ” อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะในธุรกิจอะไรก็จะมีแต้มต่อยืนหยัดอยู่ยงคงกระพันได้ยาวนาน หรือที่เรียกว่า “Unfair advantage”


และเงินก็ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ที่มี “ความหมาย” กับชีวิตมากยิ่งไปกว่าก็คือ “การทำในสิ่งที่ชื่นชอบแล้วยังได้สร้างประโยชน์ต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก” แน่นอนว่าภายหลังเงินก็จะตามมาเองในที่สุด

นี่คือแนวคิดของ “เจษฎา สุขทิศ” (เจท) ในการตัดสินใจโบกมือลาตำแหน่งบริหารระดับสูงของสถาบันการเงินชื่อดัง มาสวมบทผู้ประกอบการโดยก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ จำกัด จากนั้นก็ตั้งฟินเทคสตาร์ทอัพ “ฟินโนมีนา” (Finnomena) ในหมายเหตุว่ายังมีอีกหลายต่อหลายกิจการแต่กรุงเทพธุรกิจจะไม่ขอพูดถึง แต่ที่แน่ๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเงินการลงทุนที่เขาชื่นชอบและเชี่ยวชาญทั้งสิ้น


เจษฎาเล่าให้ฟังถึงมาของ ฟินโนมีนา ว่าเกิดจากเสียงรำพึงรำพันด้วยความน้อยอกน้อยใจของมิตรรักแฟนคลับ (คุณเจทเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องของการลงทุนโด่งดังทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์) ว่าทำไมอินฟินิติดูแลแต่คนรวยๆ เขาจึงเริ่มศึกษาและพบว่าทุกวันนี้คนไทยใช้ไลน์ทั้งประเทศ ใช้เฟสบุ๊คกันทั้งประเทศ มันเป็นวันที่ใครก็เข้าถึงความรู้ ข่าวสารได้หมด เลยตัดสินใจตั้งฟินเทคสตาร์ทอัพเพื่อดูแลเรื่องการลงทุนการวางแผนการเงินให้กับคนไทย


"ฟินโนมีนา เป็นคำสมาสระหว่าง ไฟแนนซ์กับฟีโนมีนา เราต้องการสร้างปรากฏการณ์ด้านการเงินการลงทุนสำหรับคนไทย วันนี้เราเน้นคนไทยซึ่งในปัจจุบันสิ่งที่เรียกกันว่า Financial Literacy หรือความรู้ความเข้าใจในการลงทุนของคนไทยเรายังต่ำมาก ที่สะท้อนออกมาคือบัญชีเงินฝาก 87 ล้านบัญชี มีบัญชีลงทุนแค่ 5-6 ล้านบัญชีเท่านั้น คนไทยเรายังลงทุนกันไม่เป็น"


“Unlock Your Investment Potential” หรือปลดล็อกศักยภาพการลงทุนในตัวคุณ เป็นสโลแกนของฟินโนมีนา


"คนที่ต้องการการลงทุนที่ดี ต้องเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเงินเยอะ แต่เอาเข้าจริงมันกลับข้างกัน คนที่ได้ทางเลือกการลงทุนที่ดีกลับเป็นคนที่มีเงินเยอะ เพราะใครๆก็วิ่งเข้าหาไปคอยดูแล เราคิดจะปลดล็อกเรื่องนี้ถ้าทำได้ ฟีโนมีนา มันถึงจะเป็นปรากฏการณ์"


อย่างไรดี ย้อนไปถึงปัญหาผู้สูงวัยที่เปรียบเหมือนกับระเบิดลูกใหญ่ที่รอการระเบิด เพราะความเป็นจริงก็คือ ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้าประเทศเราจะเต็มไปด้วยคนแก่ ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ก็มีฐานะแค่พอมีพอกิน มีความจำเป็นต้องบริหารจัดการเงินให้งอกเงยเพื่อวันข้างหน้าคนไทยทั้งหลายจะได้ไม่ต้องกลายเป็นคนแก่ที่อดอยาก ยากไร้


และก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินถึงหลักสิบหลักร้อยล้าน แต่ใครๆก็สามารถทำได้ (การลงทุนของฟีโนมีนาขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 2 หมื่นบาท เนื่องจากการลงทุนจะเริ่มต้นที่ 6 กองทุน)


"ผมเพิ่งไปจัดงานที่เชียงใหม่ ก็พบว่าคนทั้งห้องลงทุนในหุ้นหมดเลย ส่วนที่เหลือก็ฝากแบงก์ ถามว่าที่ยังไม่ทำ ส่วนใหญ่ก็เพราะคนไทยมองการลงทุนเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย รู้สึกมีความน่ากลัว มีความเสี่ยงปนอยู่เสมอคนก็เลยอย่าเพิ่งดีกว่า เพราะเงินแต่ละบาทกว่าจะหามาได้ ต้องบอกว่าคนอเมริกา หรือนอร์เวย์เขาลงทุนหมดไม่มามัวแต่คิด เพราะถ้าไม่จัดพอร์ตอย่างจริงจังก็ไม่มีวันไปได้ถึงจุดหมาย"


ในเฟสแรก ฟินโนมีนาจึงโฟกัสไปที่การลงทุนและการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ และการศึกษาของลูก ที่ตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐาน
"ตอนนี้เรามีลูกค้า1,500 คนแรกที่สมัครเข้ามาและต่อคิวอยู่ ในจำนวนนี้เราลงทุนจัดพอร์ตให้แล้วร้อยกว่าคน มีเงินลงทุนผ่านเรา 50 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้ก็คือ 19.4 ล้านบาท ที่อยากมีไว้ใช้ตอนเกษียณ ราวๆ 2-4 หมื่นบาทต่อเดือน"


เจษฎา บอกว่าในความตั้งใจของเขา ไม่ว่าอินฟินิติ มีบริการอะไร ฟินโนมีนา ต้องมีบริการในแบบเดียวกัน เช่น อินฟินิติ มีโมเดลการลงทุนที่เรียกว่า “absolute return” ทางฟีโนมีนาก็ต้องมีด้วยเช่นเดียวกัน


"absolute return จะใช้มุมมองของทีมงานด้านการลงทุนอย่างเข้มข้นถ้าคิดว่าจะขึ้นก็ถือหุ้นเยอะหน่อย ถ้าคิดว่าจะลงก็เซฟๆหน่อย ถ้าคิดว่าเสี่ยงมากรักษาเงินต้นให้ด้วย เป้าหมายคึอสร้างผลตอบแทนแต่อาจจะน้อยกว่าตลาดหุ้นซึ่งปีหนึ่งได้ 12% แต่เป้าหมายเราจะอยู่ที่ 8-10% คือผลตอบแทนใกล้เคียงตลาดหุ้นแต่น้อยกว่านิดหน่อยแต่คุมความเสี่ยงให้ด้วย ซึ่งลูกค้าชอบกันมาก"


ถ้าสรุปเพื่อให้เห็นภาพชัด ก็คือ อินฟินิติ จะดูแลนักลงทุนโดยใช้มนุษย์ ขณะที่ฟินโนมีนาจะดูแลนักลงทุนโดยใช้ความรู้ที่ได้ให้ไปกับลูกค้าของอินฟินิติทั้งหมดโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ที่ต้องใช้มนุษย์เป็นส่วนน้อยมาก


แต่ทางตรงข้ามกลุ่มลูกค้าของอินฟินิติ กับฟินโนมีนา กลับไม่ได้แยกกันด้วยเรื่องฐานะทางการเงิน แต่เป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ ความเข้าอกเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นจะบอกว่าอินฟินิติดูแลคนรวย ฟีโนมีนาดูแลคนจนคงไม่ถูกต้องนัก


"ลูกค้าเราบางคนมีเงินเป็นสิบล้านแต่ก็มาใช้บริการฟินโนมีนาก็มี เพราะเขาเป็นคนยุคมิลลิเนียล ใช้เทคโนโลยีเป็น อย่างเช่นสตาร์ทอัพบางรายที่เอ็กซิทแล้วได้เงินก้อนมา เขาก็ไม่ได้ต้องการคนมาคอยดูแลกลับรำคาญด้วยซ้ำ แค่ฟีโนมีนาดิลิเวอร์กลยุทธ์ในแบบเดียวกับอินฟินิติเขาก็แฮบปี้แล้ว"


ถามถึงเส้นทางของ ฟินโนมีนาว่าจะเดินอย่างไร เขาบอกที่ผ่านมา ฟินโนมีนาเริ่มต้นด้วยสเต็ปของการให้ความรู้ สร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ก็ติดอันดับหนึ่งในสามของเว็บไซต์ที่คนใช้มาก เมื่อให้ความรู้ถึงจุดหนึ่ง ก็มีการส่ง “เอ็นเทอร์” ออกมา ซึ่งมันเป็นเหมือนประตู เป็นทางเข้าให้คนที่ได้รับความรู้ เก็ทไอเดียแล้วได้มาลงมือทำ ได้ลงทุนอย่างถูกต้องเป็นครั้งแรก


"เมื่อเดินมาถึงขั้นของเอ็นเทอร์ ใช้เวลาปีเดียวคนก็จะเริ่มลงทุนเป็น พอลงทุนเป็นที่ผลตอบแทนดีจริงๆ จากนั้นเราก็จะพาเขาสู่ขั้นต่อไป ก็คือการเลือกหุ้น ลงทุนหุ้นเป็นตัวๆเป็น การลงทุนกองทุนเลือกเป็นกองๆ เป็น ช่วงนี้กองทุนไหนดี หุ้นไหน วัฎจักรไหนน่าสนใจ โปรเจ็คถัดไปของฟีโนมีนา ชื่อว่าสเปซ ผมวางโรดแมพไว้นานแล้วว่า คนจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้จะต้องสร้างพื้นที่การลงทุนของตัวเอง เขาต้องเลือกเอง ลงทุนเอง ซื้อเอง ขายเองให้เป็น"


สเปซตั้งขึ้นมาให้คนได้มาหัดลงทุนให้เป็น ซึ่งเจษฎาและทีมจะทำหน้าที่เป็นโค้ชให้ สเปซจะเป็นทั้งออนไลน์ออฟไลน์ เกิดการสร้างคอมมูนิตี้ เกิดการสร้างโซเชี่ยลครั้งใหญ่ เขาบอกว่าตัวเขาเป็นคนรับผิดชอบโปรเจ็คนี้เป็นพิเศษ ซึ่งสเปซต้องการพาคนจำนวนมากให้สามารถลงทุนได้ด้วยตัวเอง
ยังมีโปรเจ็คที่ต่อจากสเปซ แต่เจษฎาขออุบชื่อเอาไว้ก่อน แต่ที่ตั้งใจก็คืออยากจะสร้างมันให้กลายเป็นชื่อสามัญ (generic name) อย่างที่แฟ๊บ และกูเกิล ทำได้


“ถ้าเปรียบก็คือ ฟินโนมีนาและเอ็นเทอร์ก็เป็นเหมือนคัมภีร์ ส่วนสเปซทำให้คนเก่งขึ้นมาระดับหนึ่ง เพราะผ่านการฝึกฝนมาได้ฝึกวิทยายุทธ หัดเดินลมปราน และขั้นตอนสุดท้ายเลยก็จะเป็นการท่องยุทธจักร ในภาษาเทคเรียกว่า customer journey”

ชัดเจน ทุ่มเทจึงสำเร็จ


ตั้งคำถามว่าชื่นชอบเรื่องการลงทุนเพราะอะไร เจษฎาบอกว่าชีวิตของทุกคนล้วนถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากสิ่งที่พบเจอในอดีต เพราะจริงๆแล้ว เขาอยากเรียนหมอ เนื่องจากตอนเป็นเด็กเขาเป็นโรคหอบหืดอาการหนักมาก


เพราะเรียนอยู่โรงเรียนชายล้วนอย่างเซ็นต์คาเบรียล เขาเลยได้ฉายาขาตะเกียบ มีปมด้อยเพราะเตะฟุตบอลไม่ได้ แถมต้องเข้าโรงพยาบาลเกือบทุกเดือน แต่ก็เอ็นทรานซ์ไม่ติด แต่เขาเลือกคณะเศรษฐศาสตร์เป็นอันดับที่สองและสาม สุดท้ายก็ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และถือว่าเป็นการตามรอยผู้เป็นพ่อ


"ที่ทำให้ผมอยากเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะบ้านผมโดนพิษต้มยำแบบเต็มๆ รู้รสชาติมันดี สรุปง่ายๆคือที่บ้านโดนเอฟเฟ็กต์หนักมาก แต่ไม่ถึงกับล้มละลายก็ผ่านมาได้ เลยอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ มันเลยเป็นที่มาและเป็นแรงผลักดัน"


เขามองว่า ตัวเขาเองค่อนข้างโชคดี ตรงที่มีความชัดเจน “พอเราชัดเจนปุ๊บก็คิดทำทุกอย่าง ทุ่มเทไปกับมัน” ตั้งแต่สมัยเรียนเมื่อรู้ว่าต้องการจะเป็นผู้จัดการกองทุน เขาก็มุ่งหน้าไปทิศทางนั้นโดยตลอดโดยไม่ว่อกแว่ก และก็สำเร็จเขาก้าวสู่ตำแหน่งนี้ได้ตั้งแต่มีอายุเพียงแค่ 23 ปีเท่านั้น