การสู้คดี 'ศาลทหาร-ศาลพลเรือน' แตกต่างอย่างไร?

การสู้คดี 'ศาลทหาร-ศาลพลเรือน' แตกต่างอย่างไร?

การต่อสู้คดี "ศาลทหาร" กับ "ศาลพลเรือน" แตกต่างอย่างไร และคำสั่งหน.คสช.ที่ 55/2559 เพื่ออะไร?

ตามที่ได้มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 55/2559 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยกเลิกคดีบางประเภทที่พลเรือนกระทำความผิด ต้องขึ้นศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37 และฉบับที่ 38 ซึ่งได้แก่ความผิด 3 ประเภทคือ เกี่ยวกับหมิ่นสถาบัน ตาม ป.อาญามาตรา 107-112, 2. คดีความมั่นคง ตาม ป.อาญามาตรา 113-118 และ 3.คดีกระทำผิดตามประกาศหรือขัดคำสั่ง คสช. รวมทั้งการกระทำความผิดที่เกี่ยวโยงกับความผิดทั้ง 3 ประเภท

โดยให้เหตุผลว่าขณะนี้ี้ปรากฏว่าสถานการณ์บ้านเมืองในรอบสองปีที่ผ่านมา มีความสงบเรียบร้อยเป็นลําดับ จึงสมควรผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีก เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิปฏิบัติหน้าที่ของตน และได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งกําลังจะประกาศใช้ในเร็ววัน ตลอดจนตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน

ซึ่งมีผลให้คดีที่ “พลเรือน” กระทำความผิดในคดี 3 ประเภทดังกล่าว นับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 มีผลบังคับใช้คือ วันที่ 12 กันยายน 2559 ขึ้นกับ “ศาลพลเรือน” ไม่ต้องขึ้น “ศาลทหาร” เหมือนกับคดีที่พลเรือนกระทำความผิดในความผิด 3 ประเภทข้างต้นก่อนหน้านี้นั้น

ทั้งนี้ อาจทำให้มีผู้สงสัยว่า คดีขึ้น “ศาลพลเรือน” กับ “ศาลทหาร” มีความต่างกันอย่างไร ?

หากจะว่าที่จริงแล้ว! มีความต่างกันไม่มาก คือ การที่เดิมคดีที่ “พลเรือน” กระทำความผิดใน 3 ประเภทข้างต้น ต้องไปขึ้น “ศาลทหาร” ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37 และ ฉบับที่ 38 นั้น ทำให้ไม่สามารถ “อุทธรณ์-ฎีกา” คดีได้ เนื่องจาก "ศาลทหาร" ตามประกาศ คสช. ถือเป็น “ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ” จึงไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ เรียกว่า “ศาลเดียวจบ”

ดังนั้นการที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 55/2559 ให้คดีที่พลเรือนกระทำความผิด 3 ประเภทข้างต้น กลับไปขึ้น “ศาลพลเรือน” ซึ่งจะทำให้จำเลย สามารถ “อุทธรณ์-ฎีกา” คดีได้ ก็ถือว่าเป็น “หัวใจ” สำคัญ เพราะการที่สามารถต่อสู้คดีได้ถึง 3 ศาล เป็นหลักประกันในเรื่องความถูกต้องเที่ยงธรรมได้เป็นอย่างดี

อีกประเด็นหนึ่ง ที่มีความต่างก็คือ หากคดีขึ้นศาลทหารแล้วจำเลยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกต่ำกว่า 3 ปี ผู้ต้องโทษต้องถูกควบคุมตัวที่ “เรือนจำทหาร” แต่ถ้าถูกจำคุกมากกว่า 3 ปีก็ได้ไปนอนเรือนจำปกติของทางกรมราชทัณฑ์ ดังนั้น การที่คดีไปขึ้นศาลพลเรือน จึงไม่มีกรณีที่จำเลยต้องถูกควบคุมตัวไว้ที่ “เรือนจำทหาร” อีกต่อไป

ส่วนวิธีพิจารณาคดีของศาลทหารและศาลพลเรือน ไม่มีความต่างกัน กล่าวคือ เมื่อศาลประทับรับฟ้อง จำเลยสามารถแต่งทนายสู้คดีได้ ในการสืบพยานก็จะเริ่มจากการสืบพยานโจทก์ แล้วสืบพยานจำเลย ระหว่างการสืบพยานมีการซักถาม ถามค้าน และถามติงเหมือนศาลยุติธรรมทุกประการ เพราะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อาญา) เหมือนกัน, การปล่อยตัวชั่วคราวก็เหมือนกันซึ่งเป็นดุลพินิจของศาล ขณะที่บทลงโทษก็เป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ

นี่จึงเป็น "ความเหมือน" และ "แตกต่าง" ระหว่างการต้องขึ้นสู้คดี "ศาลทหาร" และ "ศาลพลเรือน" !?