สงขลา (ที่นี่+ตอนนี้)

 สงขลา (ที่นี่+ตอนนี้)

กล่าวได้ว่าเป็นภาคต่อของ อะเบ้าท์ คาเฟ่ ที่ถนนไมตรีจิตต์ กรุงเทพฯก็ว่าได้สำหรับโปรเจคสงขลา (ที่นี่+ตอนนี้)

        

         โดยมูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ – อาร่า ในส่วนของตึกมีเซียม ถนนปัตตานี

            “ทีแรกเราหาที่เก็บงานของคุณมีเซียม ยิบอินซอย ที่กรุงเทพฯมันไม่มีที่เหมาะสม เพราะในบริเวณบ้านที่เราอยู่มันค่อนข้างเล็กและแคบ

            พอดีเราได้มีโอกาสมาอยู่ที่สงขลาช่วงหนึ่ง แล้วเราได้เห็นตึกสวยและมีขนาดใหญ่พอที่จะสามารถเก็บหรือแสดงงานคุณมีเซียมได้ เราเลยบอกทางครอบครัวของเหมียว (เกล้ามาศ ยิบอินซอย)ให้ซื้อตึกนี้ไว้ เพื่อที่จะได้นำงานคุณย่ามาเก็บไว้ที่ตึก

            คุณปู่คุณย่าเองก็เคยทำเหมืองแร่ที่ทุ่งสงและเคยมีออฟฟิศอยู่ที่หาดใหญ่ ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของตระกูลยิบอินซอยกับเมืองสงขลา มันก็เหมือนเป็นประวัติศาสตร์ที่เราสามารถมองย้อนกลับไปได้”

            นพดล ขาวสำอางค์ บอกกับเราถึงที่มาของ ตึกมีเซียม 1 ใน 6 อาคารภายในย่านเมืองเก่าสงขลาที่ มูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ – อาร่า เข้ามาซื้อซ่อมแซมและปรับปรุงให้เป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะ โรงแรมขนาดกระทัดรัด และบ้านพักสำหรับอยู่อาศัย

            “มาอยู่ที่นี่ได้สัก 4 -5 ปีแล้ว คนสงขลาน่ารัก อัธยาศัยดี จิตใจดี การมาอยู่ที่นี่ทำให้รู้สึกว่ามีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น สักพักเริ่มคิดว่าถ้าเรามาอยู่จริงจังจะทำอะไร ด้วยความที่เราทำงานเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ศิลปะ มาตลอดชีวิต ทำให้เรามองเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา รวมทั้งภาพแวดล้อมของเมืองที่มีทั้งความเป็นจีน อังกฤษ ไทย เราจึงอยากใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด”

            เกล้ามาศ ยิบอินซอย บอกว่าช่วงแรกที่เข้ามาซ่อมแซมอาคารนั้น คนในเมืองไม่เข้าใจว่าจะทำอะไร ได้แต่พูดกันว่าสามีภรรยาคู่นี้ “ชอบซ่อมตึก” บ้าง เป็นนายทุนที่จะมากว้านซื้อบ้าง กระทั่งหลายอาคารเริ่มแล้วเสร็จ พร้อมกับโปรเจคศิลปะ สงขลา (ที่นี่+ตอนนี้) ที่เกิดขึ้นเพื่อ “เปิดบ้าน” พร้อมแนะนำตัวอย่างเป็นทางการให้ชุมชนได้เข้าใจว่า มาทำอะไรที่นี่

            อาคารทั้ง 6 หลัง ประกอบไปด้วย ตึกมีเซียม ยิบอินซอย ถนนปัตตานี จัดแสดงจิตรกรรม ชุด ยุโรป และประติมากรรมเหล็ก โดย มีเซียม ยิบอินซอย และผลงานสะสมของทางมูลนิธิฯ

ตึกยับฝ่ามี ถนนนครนอก ตึกยับฝ่าหวุ่น ถนนนครใน ตึกยับฝ่ากวงและอาคารโกดังข้าว ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการฟื้นฟู รวมทั้งโรงกลึงเก่า ริมทะเลสาบสงขลา      

            “เหตุที่ตั้งชื่อตึกเป็นภาษาจีนเพื่อต้องการสะท้อนบุคลิกของญาติ คุณย่าเป็นคนจีนที่อพยพมาจากอินโดนีเซีย แต่มีวิธีคิดและมุมมองศิลปะในแบบฝรั่ง ส่งผลมาที่คุณพ่อและคุณอา คุณอาเป็นหมอที่มีความคิดว่าคนเป็นหมอควรจะรู้เรื่องศิลปะและดนตรีด้วย ซึ่งคุณอาเป็นนักสะสมผลงานศิลปะคนสำคัญด้วยเช่นกัน”

            เกล้ามาศ เล่าถึงแนวคิดในการใช้พื้นที่ของแต่ละบ้าน ซึ่งนำเสนอรูปแบบของศิลปะที่แตกต่างกันออกไป

            “คนถามเยอะว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไรขึ้นมา ตอนแรกก็ไม่อยากอธิบาย แต่ตอนหลังต้องลุกขึ้นมาบอก เพราะว่าเขาไม่เข้าใจจริงๆว่า ทำไปทำไม เพราะไม่ได้ทั้งเงิน ไม่ได้ตำแหน่ง

เราทำเพราะรู้สึกเสียดายเมือง เสียดายความมีชีวิตชีวา  เสียดายตึกเก่า เรารู้สึกว่าถ้าทำอะไรได้ ก็อยากจะทำ ถ้าทำให้เราแฮปปี้ขนาดนี้ ทำให้ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เกิดแรงบันดาลใจได้ขนาดนี้ ( โครงการศิลปะชุมชน : นครโอเค ซิงกอร่าเหนือกาลเวลา)  ก็หวังว่าจะให้คนอื่นแฮปปี้มีแรงบันดาลใจลุกขึ้นมาเห็นค่า เห็นความสำคัญของเมืองได้บ้าง” เกล้ามาศ บอกกับเรา

            โปรเจคสงขลา (ที่นี่+ตอนนี้) “เปิดบ้าน” วันแรกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีชาวเมืองเก่าสงขลาเข้าเยี่ยมชมอย่างคับคั่ง สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมนิทรรศการสามารถติดต่อนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร. 09 0991 0111 เปิดให้ชมถึง 30 ตุลาคม 2559