ก.อุตฯอัดยาแรง ดึงดูดนักลงทุนลุยเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ก.อุตฯอัดยาแรง ดึงดูดนักลงทุนลุยเขตเศรษฐกิจพิเศษ

'ก.อุตสาหกรรม'อัดยาแรงดึงนักลงทุนลุยพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เปิดทางเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปี-ลดภาษีเงินได้ 15% มั่นใจดูดเงินลงทุน 5 แสนลบ.ใน 5 ปี

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะแล้วเสร็จในวันที่ 13 ก.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

หากผ่านความเห็นชอบก็จะส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คาดว่าในขั้นตอนของสนช.จะใช้เวลา 3-6 เดือน

ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี จะเพิ่มมาตรการอุดหนุนให้กับนักลงทุนมากขึ้น เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ชาวต่างชาติที่มีความจำเป็นลงเหลือเพียง 15%ต่ำที่สุดในอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ที่เก็บในอัตรา 17% แก้ไขกฎหมายผ่อนปรนให้ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติให้ได้รับใบอนุญาตทำงานได้ง่ายขึ้น และมีระยะเวลาอยู่ในประเทศไทยได้นานขึ้นถึง 5 ปี การให้เช่าที่ดินระยะยาว 50 ปี และสามารถขอเพิ่มได้อีก 49 ปี เป็นต้น

“หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็มั่นใจว่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในพื้นที่ อีอีซี นี้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมไทยไปสู่การเป็นฐานผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง”

นายสมชาย กล่าวถึงการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ว่าเปิดให้สามารถตั้งบริษัทลูก เพื่อความคล้องตัวในการลงทุนในด้านต่างๆ จะทำให้ กนอ. สามารถจัดตั้งนิคมฯได้ตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น เช่น การตั้งนิคมฯตามกลุ่มประเทศลูกค้า การตั้งนิคมฯในต่างประเทศเพื่อรองรับนักลงทุนไทยได้มากขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของการขยายออกไปตั้งนิคมฯในต่างประเทศนั้น ในเบื้องต้นมองว่าควรจะตั้งนิคมฯโลจิสติกส์คู่ขนานไปกับนิคมฯชายแดนของไทย เพื่อให้การผลิตเพื่อส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านมีความสะดวกมากขึ้น ส่วนการตั้งนิคมฯภาคการผลิตจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอกชนออกไปตั้งเองก่อน เพราะมีความคล่องตัวกว่า แต่ถ้ากลุ่มผู้ประกอบการไทยอยากให้ กนอ. ออกไปตั้งนิคมฯ สามารถเข้าไปรองรับได้ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุนให้ทั้งผู้ประกอบการไทย และต่างชาติ

สศช.ชี้ไทยยังดึงดูดการลงทุน

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวในงานสัมมนา “ไทย ศูนย์กลางการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน” จัดโดย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ระดับ 3% หากเทียบกับอดีตถือเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำ แต่ไม่ได้ทำให้ความน่าสนใจลงทุนลดลง เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง และมีทิศทางการเติบโตที่ดีอยู่

“การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่สูง แต่ภาพของการลงทุนนั้น นักลงทุนต่างชาติยังสนใจที่จะลงทุนในไทยอยู่ สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการสนับสนุนจากบีโอไอ ในครึ่งปีแรก เติบโตจากช่วงเดียวกันจากปีก่อนถึง 300%”

เออีซีหนุนการเติบโตเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น อาจจะพึ่งพิงการเติบโตจากการส่งออกได้ยากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจต่างประเทศยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้การส่งออกติดลบ และแนวโน้มในอนาคตการเติบโตอาจไม่สูงมากนัก ทำให้ไทยต้องหันมาพึ่งพิงการเติบโตจากภายใน ซึ่งรัฐบาลก็มีมาตรการในการกระตุ้นในส่วนดังกล่าว

ทั้งนี้การเติบโตของไทยในอนาคตยังมีทิศทางที่ดี แม้ปัจจุบันประชากรของไทยไม่ได้มีอายุน้อยเหมือนกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในอีก 10-20 ปีข้างหน้า โดยปัจจัยหนึ่งมาจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน ซึ่งอยู่ในวัยทำงานพร้อมที่จะมีการเติบโต เป็นโอกาสของไทยที่จะเข้าไปเชื่อมต่อในประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะในภาคการขนส่ง

ห่วงปัญหาศักยภาพแรงงาน

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิบดีสถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งไทยต้องปรับกลยุทธ์ทั้งใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาเซียนที่อยู่ในภาคพื้นทะเล และกลุ่มอาเซียนที่อยู่ในภาคพื้นดิน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต้องทำกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน

โดยอาเซียนภาคพื้นทะเลนั้น อาจจะมีหลายอุตสาหกรรมที่ทับซ้อนกับไทย แต่ไทยต้องหาจุดเด่นที่มีความแตกต่างเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการเติบโต ส่วนอาเซียนภาคพื้นดินนั้น ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะจำนวนประชากรที่มีกว่า 600 ล้านคน แต่มีขนาดจีดีพี คิดเป็น 3 ใน 4 ของไทยเท่านั้น ซึ่งไทยยังสามารถขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านได้

ส่วนทิศทางของบริษัทในต่างชาติยังสนใจการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะ ค่ายรถยนต์ที่มีการเข้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งเป็นโอกาสการลงทุนของไทย

แต่สิ่งน่าห่วง คือ แรงงานที่ไร้ฝีมืออาจเกิดปัญหา จากการเข้ามาของเทคโนโลยี และในขณะเดียวกันแรงงานที่มีความสามารถสูงอาจขาดแคลน