นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง คว้ารางวัลUNESCO เนื่องในวันรู้หนังสือโลก

นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง คว้ารางวัลUNESCO เนื่องในวันรู้หนังสือโลก

“นักวิจัยไทย” สุดเจ๋ง คว้ารางวัลUNESCO เนื่องในวันรู้หนังสือโลก

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศผลรางวัล International Literacy Day เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี “วันรู้หนังสือโลก” 8 กันยายน 2559 ผ่าน เว็บไซต์ www.en.unesco.org โดยในปีนี้ ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - มลายูถิ่น) พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล) ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล “UNESCO King Sejong Literacy Prize” ประจำปี พ.ศ. 2559  

สำหรับโครงการทวิภาษามีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งและความปรองดองด้วยการเรียนการสอนแบบทวิภาษาที่จัดขึ้นเพื่อกลุ่มคนมลายูถิ่นปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และมหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษามาลายูถิ่นปัตตานีเป็นภาษาแม่ในการสื่อสารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ประมาณ 1 ล้านคน ทำให้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาหลักมีการใช้ในการสื่อสารที่น้อยมาก ซึ่งนั่นหมายความว่าทักษะทางภาษาไทยของพวกเขาไม่ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาในโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยเพียงภาษาเดียว

“ที่ผ่านมาเด็กนักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถเรียนต่อในการศึกษาระดับที่สูงขึ้นไป หรือไม่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาในการหางานทำ และปัจจุบัน พวกเขาไม่เพียงแต่ที่จะได้เรียนรู้ภาษาของตัวเองเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาทักษะทางภาษาไทยให้ดีขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการผสมผสานทั้งสองภาษาด้วย” หัวหน้าโครงการฯ กล่าวและว่า

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทีมวิจัยได้เข้าไปในพื้นที่เพื่อทำการศึกษา และออกแบบเครื่องมือการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - มลายูถิ่น) ตั้งแต่ปี 2004 กระทั้งได้ผลการศึกษาที่น่าพอใจ คือ ผลของการศึกษาและทดลองโครงการทวิภาษาระยะที่ผ่านมาเกิดผลในเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม เด็กๆในโรงเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น ถึงร้อยละ 50 และมีนักเรียนสอบผ่านเกณฑ์ถึงร้อยละ 72 ต่อ ร้อยละ 44.65 เมื่อเทียบกับโรงเรียนคู่เทียบในพื้นที่ ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และที่สำคัญรูปแบบการสอนสามารถทำให้เด็กนักเรียนกล้าที่จะพูดภาษาไทยกับคุณครู และสามารถอ่านออก เขียนได้อย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - มลายูถิ่น) ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ ที่มีภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างไปจากภาษาและวัฒนธรรมส่วนกลาง ได้แก่ กลุ่มเขมรถิ่นไทย จ.สุรินทร์ กลุ่มขมุ จ.น่านกลุ่มละเวือะ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับการเสนอให้เป็นต้นแบบ (Good Functioning Model) สำหรับการจัดศึกษาของประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาวและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

 ท้ายสุดนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล กล่าวถึงความรู้สึกยินดีที่ได้รับรางวัล ว่า โครงการทวิภาษาฯ ใช้พลังของภาษาแม่เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะช่วยสังคมและภาษาดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กๆรู้สึกภูมิใจในภาษาถิ่นของตน ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับกลุ่มคนอื่นๆ ที่ใช้ภาษาที่แตกต่างจากตนเอง คนไทยและคนมลายูจะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากพวกเขาต้องอาศัยอยู่ในประเทศเดียวกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการทวิภาษา จะถูกผลักดันให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยเฉพาะในระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ