เจาะ'ธุรกิจชีวภาพ'เติบโตคู่กระแสรักษ์โลก

เจาะ'ธุรกิจชีวภาพ'เติบโตคู่กระแสรักษ์โลก

แม้ราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การพึ่งพิงพลังงานทางเลือกยังเป็นหนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐผลักดันมาตลอด ภาคธุรกิจจึงควรมองโอกาส

จากธุรกิจพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานชีวภาพที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านผลผลิตทางการเกษตร โดยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก และปาล์มน้ำมันอันดับ 3 ของโลก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ราคาน้ำมันน่าจะอยุ่ในระดับ 45-50 ดอลลาร์ต่อบาเรล และเพิ่มขึ้นในปี 2560 ไปอยู่ราว 53 ดอลลาร์ต่อบาเรล แต่ราคาน้ำมันในช่วง 3-4 ปีจากนี้จะอยู่ในระดับต่ำต่อไป หรือ 40-70 ดอลลาร์ต่อบาเรล ด้วยตัวแปรหลักคือการผลิตเชลออยล์และเชลแก๊สประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้ราคาน้ำมันไม่น่าจะไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรลได้ง่ายนัก

ทับขวัญ หอมจำปา ผู้อำนวยการคลัสเตอร์ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน อีไอซีระบุว่าระยะยาว ประเทศไทยต้องมีธุรกิจพลังงานชีวภาพ ที่จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานที่กว่า 80% ของพลังงานฟอสซิลที่ใช้ในประเทศยังต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ขณะที่พลังงานทางเลือกมีสัดส่วน 13%  มาจากทั้งพลังงานความร้อนและการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊สและไบโอแมสรวมถึง เชื้อเพลิงชีวภาพ นอกจากนี้ยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตร เช่นราคามันสำปะหลังกิโลกรัมละ1.25 บาท หากนำไปแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพ 0.76 กิโลกรัม ขายได้ราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าเพิ่มจากการใช้มันสำปะหลัง 1 กิโลกรัม ถึง 66.15 บาท 

ขณะเดียวกันยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ และยังสามารถเกาะกระแสรักษ์โลกของประเทศคู่ค้าด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วย โดยปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก คาดว่าตั้งแต่ปี 2553-2561 จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 41.8% 

“ธุรกิจพลังงานชีวภาพในไทยเติบโตได้ดีและมีศักยภาพสูงในการลงทุนต่อยอดธุรกิจ โดยตั้งแต่ปี 2552-2558 ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ เติบโต 14% ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล เติบโต 12% ส่วนธุรกิจพลาสติกชีวภาพเติบโตถึง 30%"

เขาระบุว่า หากภาครัฐยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้การลงทุนในธุรกิจธุรกิจพลังงานชีวภาพในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย  ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล และ ธุรกิจพลาสติกชีวภาพจะอยู่ที่ราว 1.8-2.0 แสนล้านบาท ระหว่างปี 2559 ถึงปี 2563

 ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10% ต่อปี  และคาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า 6หมื่นล้านบาท แม้จะมีความท้าทายจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำความผันผวนของปริมาณและราคาสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต การแข่งขันจากต่างประเทศ และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต  แต่ยังมีโอกาสเติบโตได้สูงจากการพัฒนารถยนต์ที่สามารถใช้เอทานอล และไบโอดีเซล การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีคุณภาพสูง และการขยายตัวของสถานีบริการน้ำมัน E20 และ E85 

ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลคาดว่าจะมีการลงทุนสูงที่สุด ราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการส่งเสริมให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากวัตถุดิบชีวมวลซึ่งหาได้ในประเทศ แม้จะมีความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนและปริมาณของเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับการผลิตในระยะยาว

ธุรกิจพลาสติกชีวภาพมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนราว 1-3 หมื่นล้านบาทจากปีนี้ไปถึงปี 2563 แม้จะมีความท้าทายจากต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง เทคโนโลยีการผลิตและคุณสมบัติของพลาสติกชีวภาพที่ค่อนข้างจำกัด รวมถึงความเสี่ยงของราคาน้ำมันและสินค้าเกษตร ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของพลาสติกชีวภาพ แต่แนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมมือสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจพลาสติกชีวภาพขยายตัว และเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมเพื่อทดแทนพลาสติกทั่วไปในอนาคต  ดังนั้นธุรกิจพลาสติกของไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยไทยมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของธุรกิจพลาสติกชีวภาพในอาเซียนเพราะธุรกิจนี้มีความพร้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 

ธุรกิจชีวภาพยังมีโอกาสและความท้าทายแต่ด้วยกระแสรักษ์โลกที่รุนแรงมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงไม่ควรมองข้ามและให้ความสำคัญกับ การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ