Adapt or Die วลีสร้างผู้นำเครือซี.พี.

Adapt or Die วลีสร้างผู้นำเครือซี.พี.

การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่สิ้นสุด ถ้าไม่เปลี่ยนก็เตรียมตัวตาย เพราะโลกเปลี่ยนนี่คือบทบาทของสถาบันในการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในสู่ภายนอก

ผ่านคำบอกเล่าของ สุเมธ เหล่าโมราพร ผู้อำนวยการ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท พัฒนาผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บอกถึงภารกิจสร้างคนแถวหน้า เพื่อรองรับการเติบโตในโลกเศรษฐกิจยุคใหม่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)

ก่อนหน้านี้ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประมุขเครือซี.พี. ได้ออกมาประกาศจุดยืนเด่นชัด ในการอัพเกรดอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์สู่ธุรกิจไบโอเทคโนโลยี จากการมองว่าเป็นแนวโน้มสำคัญที่สุดของโลกอนาคต มีความเกี่ยวเนื่องกับหลายธุรกิจ ทั้งยา พืชผลทางการเกษตร และอาหาร รวมถึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ

“เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก และโลกเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ไทยเราต้องเปลี่ยนให้ทัน ถ้าเราเปลี่ยนไม่ทันเป็นเรื่องใหญ่” เจ้าสัวกล่าว

สถาบันผู้นำเครือซี.พี. เป็นหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลง ที่เครือซี.พี.คาดการณ์เอาไว้แต่หัววัน และเป็นเรื่องที่เจ้าสัวให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะสุดท้ายแล้วการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจต้องมาจากคน และไม่ใช่เป็นคนมาจากไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นคนที่เครือซี.พี.อยากให้เป็น

“ท่านประธานพูดเสมอว่า เครือซี.พี.เติบโตมาเยอะ มีหลายธุรกิจแตกสาขาไปทั่วโลก มีพนักงานนับแสนคน ต่างชาติต่างภาษา ทำอย่างไรถึงจะสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่น ผนึกกำลังรวมคนเก่งๆ ทุกบริษัทมาสร้างเป็นพลังร่วมกัน”

ที่ผ่านมาบริษัทในเครือซี.พี.ต่างมีความเชื่อ ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันทั้งเครือ ภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจ อย่างไรก็ดี เมื่อเครือฯต้องการความมั่นคงทางธุรกิจระดับโลก จากการขยายการลงทุนและสร้างความร่วมมือในเทคโนโลยีชั้นสูง การหล่อหลอมคนทั้งเครือให้เป็นเนื้อเดียวกันในโลกธุรกิจยุคใหม่ที่นำด้วยนวัตกรรม จึงถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่เจ้าสัวต้องออกหน้าเอง

“ท่านประธานเล็งเห็นว่า องค์กรระดับโลกต่างมีสถาบันผู้นำเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ธุรกิจ เพราะการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นมักลงเอยที่คน และคำว่าผู้นำในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงผู้บริหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของภาวะผู้นำที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เป้าหมายของเครือ จึงต้องการให้พนักงานทุกระดับทั้งกลางและล่างมีความเป็นผู้นำอยู่ในตัวเองทุกคน”

สถาบันผู้นำเครือซี.พี.มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในราวเดือนพ.ย. ปีนี้ โดยการก่อสร้างรุดหน้าไปกว่า 80% 

สุเมธบอกว่า ภายใต้มูลค่าการลงทุนนับพันล้านบาท สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดไม่ได้อยู่ที่ตัวอาคาร แต่อยู่ที่ไส้ในปรัชญาธุรกิจของท่านประธาน ที่มุ่งให้สถาบันฯเป็นข้อกลางผนึกกำลังทั้งธุรกิจและคนเข้าด้วยกัน ถึงจุดหนึ่งเมื่อเครือซี.พี.บริหารจัดการคนได้เข้าที่เข้าทาง และได้พิสูจน์ตัวเองระดับหนึ่งแล้ว อาจจะพิจารณาสร้างผู้นำระดับประเทศ ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐอีกทางหนึ่ง

เนื้อหาหลักสูตรของสถาบันผู้นำเครือซีพี จะยึดเอาตำราเล่มเดียวกับที่ “แจ็คเวลช์” อดีตซีอีโอ ที่สร้างทั้งคนและธุรกิจของจีอีให้ประสบความสำเร็จไปด้วยกัน โดยจะอยู่ภายใต้การดูแลของ“ดร.โนเอลเอ็ม.ทิชี่” (Dr.Noel M. Tichy)อาจารย์จากสถาบัน Ross School of Business มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันผู้นำจีอี โดยในอนาคตจะเพิ่มเติมองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้าไป จากฐานองค์ความรู้ภายในของเครือซีพีเอง และตำราความรู้จากแวดวงวิชาการ

โดยหัวใจของการเรียนรู้ในสถาบันผู้นำเครือซี.พี.แห่งนี้ อยู่ที่การเรียนรู้จากการลงมือทำจริง ใช้โครงการจริง และต้องทำให้ได้จริงๆ เพราะมีระบบติดตามวัดผล เพื่อตรวจสอบว่าคนได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาจริงๆ หรือไม่

รวมถึงดึงคนระดับซีอีโอมานั่งบริหารสถาบันฯ จากการมองว่า ต้องเป็นผู้บริหารสายธุรกิจถึงจะมีความเข้าใจในธุรกิจเพราะเคยผ่านร้อนผ่านหนาว เคยทำกำไร เคยขาดทุน เคยบริหารคนจริงๆ ถึงจะมีความรอบรู้ เข้าใจจุดอ่อนจุดแข็ง เคยผ่านประสบการณ์การบริหารคน การใช้คนและการบริหารธุรกิจ

สถาบันฯ จะเน้นสร้างผู้นำทั้งเครือซี.พี. ให้เก่งมากขึ้น มีทักษะที่เชี่ยวกรากมากขึ้น ในก้าวจังหวะที่เครือฯ กำลังเปลี่ยนตัวเองไปหาหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี และไบโอเทค ใช้คนน้อยลง แต่ต้องการคนที่มีทักษะขั้นเทพมากขึ้น

“อนาคตอันใกล้มนุษย์ต้องการอายุยืนขึ้น ต้องการมีสุขภาพดี ต้องการจิตใจแจ่มใส สิ่งที่เราทำวันนี้เป็นการตอบโจทย์อนาคต และสร้างคนให้พร้อมตอบรับกับทิศทางที่เปลี่ยนไป”

เป้าหมายปลายทางของสถาบันฯ จะหล่อหลอมคนทั้งเครือให้มาเจอกัน เรียกว่า share value, share service โดยปราศจากการบังคับหรือสั่งให้ทำ แต่มุ่งใช้การสื่อสารสร้างความเข้าใจเพื่อให้เห็นภาพอนาคตเดียวกัน

โดยก่อนหน้านี้ธุรกิจในเครือที่มีการรวมร่างกันไปบ้างแล้ว เช่น ระหว่างทรูกับซีพีออลล์ ซีพีเอฟ กับซีพีออลล์ และซีพีเอฟกับแม็คโครเป็นการผนึกกันทั้งในเรื่องของธุรกิจและคน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน เพื่อตัดระบบความซับซ้อนของการบริหารงานที่มีพิธีรีตอง

“เราหวังว่าต่อไปในเครือซี.พี.เวลาเราแลกนามบัตรกัน ว่าผมมาจากทรู จากข้าวตราฉัตร หรือจากซีพีออลล์ มันควรจะเป็นผมมาจากเครือซีพีสังกัดข้าวตราฉัตรครับ ดิฉันมาจากเครือซีพีสังกัดซีพีเอฟค่ะ มันเป็นเรื่องราวที่ต่างกัน บ่งบอกถึงความเป็นเครือและไม่ใช่เครือ”

เพราะพลังของความเป็นเครือ จะสร้างแรงเหวี่ยงมหาศาลให้องค์กรใกล้ร้อยปีแห่งนี้ สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ในกระแสโลกที่ไม่อาจคาดเดาได้อย่างทุกวันนี้...