'นายกฯ'เร่งเดินหน้า “แผนปฏิรูปรถไฟ” ครบวงจร

'นายกฯ'เร่งเดินหน้า “แผนปฏิรูปรถไฟ” ครบวงจร

“นายกรัฐมนตรี” ปลื้มรัฐบาลเร่งรัดซื้อขบวนรถไฟ ยันกำลังดำเนิน “แผนปฏิรูปรถไฟ” ครบวงจร ชี้หลายโครงการใหญ่ ต้องจัดซื้อ-จัดจ้างใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายกการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ว่า วันจันทร์ที่ผ่านมาตนมีความยินดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีขบวนรถใหม่ จำนวน 39 คัน จาก 115 คัน ซึ่งจะได้รับครบทั้งหมด ภายใน ตุลาคม นี้ ซึ่งรฟท.ได้รายงานว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์100 กว่าปีของการรถไฟไทย ซึ่ง 60 ปีที่ผ่านมาไม่มีการสร้างเส้นทางเพิ่มเติม และ 40 ปีที่ผ่านมาไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ไม่มีการซื้อขบวนรถใหม่ และไม่ได้รับบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา โดยพิจารณาจาก จำนวนผู้ใช้บริการ เพียง 5% ของการเดินทางภายในประเทศทั้งหมด และปริมาณการขนส่งสินค้า เพียง 2% ของการขนส่งสินค้าภายในประเทศทั้งหมด

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลนี้ได้เข้ามาเร่งรัด ให้สามารถดำเนินการได้ โดยแก้ปัญหาข้อขัดข้องทั้งปวง ในทันที ให้สามารถลงนามในสัญญาซื้อ ในวงเงิน 4,600 กว่าล้านบาท ในปลายปี 2557 ถูกลงราว 300 ล้านบาท จากวงเงินที่ตั้งไว้เดิม แล้วเราก็จะได้รับรถขบวนใหม่ ทั้งหมด ภายใน ตุลาคม นี้ มีทั้งตู้โดยสาร หัวรถจักร และเมื่อเปิดให้บริการแล้วคาดว่า รถไฟไทย น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 1,250 ล้านบาท ต่อปี ก็จะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์การบริการ ด้านความปลอดภัย ทันสมัย สะอาด และขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น สามารถอำนวยความสะดวกให้ทุกกลุ่มผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว คนพิการ ผู้สูงอายุ ก็จะกลับมาเป็นความหวังของประชาชนอีกครั้งหลาย

พล.อ.ประยุทธ กล่าวถึงแผนการปฏิรูปรถไฟ ที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่ครบวงจรได้แก่ 1.โครงการพัฒนา ทางคู่ ในระยะ 5 ปี ของรัฐบาลนี้ ก็คือ การสร้างทางคู่ ระยะแรก ระยะเร่งด่วน จำนวน 6 เส้นทาง และ ระยะที่ 2 อีก 8 เส้นทาง รวมระยะทาง 2,500 กว่ากิโลเมตร ก็คือให้รถสวนได้ ปัจจุบันสัดส่วน ทางเดี่ยว มี 93% ทางคู่ มีเพียง 4% ซึ่งต้องแก้ปัญหาเรื่องรถไฟทางคู่ ความกว้าง 1 เมตร ของเดิมด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อโครงการรถไฟทางคู่เสร็จสมบูรณ์นะครับ จะมีสัดส่วนทางคู่เพิ่มเป็น 60%

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า 2. การแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟซึ่งมี 1,000 กว่าแห่ง ทั่วประเทศ ต้องทำสะพานข้าม อุโมงค์ทางลอด และการติดตั้งสัญญาณไฟ และ 3. โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง เพื่อจะเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยนะครับ เหนือ-ใต้-ออก-ตก จะเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับเมืองเศรษฐกิจหลัก 4 ภาค ระยะแรกได้แก่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ - ระยอง, กรุงเทพฯ - หัวหิน และกรุงเทพฯ - พิษณุโลก - เชียงใหม่ และสามารถจะ ต่อประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคต่างๆ ของโลก

พล.อ.ประยุทธ ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการขนาดใหญ่ ที่จะต้องดำเนินการในลักษณะการจัดซื้อ-จัดจ้างใหม่ หรือทดแทนของเดิมให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. งบประมาณ ซึ่งตนได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มเติม ให้ไปศึกษาวิธีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยให้มีคณะกรรมการ 3 ระดับ คือ 1.คณะกรรมการกำหนดความต้องการ 2. คณะกรรมการสรรหา 3. คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยข้อมูลจากคณะกรรมการ ทั้ง 3 ระดับนั้น จะมานำใช้ประกอบในการจัดทำ TOR เพื่อดำเนินการจัดซื้อ-จัดจ้าง ต่อไปเพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส ไม่ซ้ำซ้อน เชื่อมโยง ตรงความต้องการ และมีการบริหารงบประมาณประเทศได้อย่างเป็นระบบ มีแบบแผน มียุทธศาสตร์สำหรับปัญหาการจราจรในกรุงเทพ

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปอีกว่า ทุกเรื่องวันนี้เราก็คิดในโครงสร้างใหญ่ด้วย เช่น 1. การเชื่อมโยงกรุงเทพฯ – ชานเมือง และหัวเมืองใหญ่ ทั้งนี้เราต้องการจะกระจายความเจริญ ความแออัดออกนอกเขตเมืองกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่โดยได้มีการเร่งรัดโครงการก่อสร้าง ด้านคมนาคม ทั้งทางด่วน ทางพิเศษ วงแหวน และรถไฟ แล้วก็ให้มีที่อยู่อาศัย ของประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย รายได้ปานกลาง รายได้น้อย รายได้มาก อะไรก็แล้วแต่กระจายไปอยู่ชานเมือง ทั้งภาคธุรกิจด้วยนะครับ ประชาชนสามารถเดินทางไปทำงานเช้า – กลับเย็นได้

พล.อ.ประยุทธ กล่าวว่า อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงใน 4 เส้นทาง รัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการในระยะแรกให้ได้ โดยพิจารณาเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางในเชิงธุรกิจด้วย ต้องไปดูเรื่องกฎหมาย ต้องมีการปรับปรุง ทั้งนี้ก็เพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดิน หรือในพื้นที่ที่รถไฟผ่าน จะต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ต้องให้มีที่อยู่อาศัย มีตลาด มีชุมชนใหม่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่วเป็นศูนย์ซ่อม สร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่น เหล่านี้เป็นต้น