‘ไทยไลอ้อนแอร์’รุกเปิดบินต่างประเทศ

‘ไทยไลอ้อนแอร์’รุกเปิดบินต่างประเทศ

ไทยไลอ้อนแอร์ เตรียมรุกหนักบินต่างประเทศ 5 เส้น หลังโกยส่วนแบ่งตลาดในประเทศเข้าเป้า 11 เส้นทางดันอัตราบรรทุก 90%

นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า จากการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนแรกที่บรรทุกผู้โดยสารไปแล้วกว่า 4.8 ล้านคน หรือราววันละ 2 หมื่นคน จากเที่ยวบินที่ให้บริการ 100 เที่ยวต่อวันใน 11 จุดหมายเส้นทางประจำในประเทศ และ 3 เส้นทางต่างประเทศ โดยมีอัตราบรรทุกเฉลี่ยสูง 90% เป็นไปตามเป้าหมาย

รวมถึงครองส่วนแบ่งผู้โดยสารอันดับ 1 ในเส้นทางหลัก อาทิ เชียงใหม่, หาดใหญ่ ที่มีจำนวนที่นั่งใกล้เคียงกับคู่แข่ง ทำให้ต้องเริ่มวางแผนเชิงรุกขั้นต่อไปด้วยการขยายสู่เส้นทางต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนฝูงบินที่กำลังจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันมีเครื่องบิน 23 ลำ และภายในปีนี้จะรับเพิ่มอีก 1 ลำ ส่วนปีหน้ามีแผนนำเครื่องบินมาประจำการอีก 6 ลำ ประกอบด้วย โบอิ้ง 737 แม็กซ์ และโบอิ้ง 737-800 และโบอิ้ง 737-900

สำหรับเส้นทางที่อยู่ระหว่างการติดต่อได้แก่ กรุงเทพฯ - กวางเจา (จีน), กรุงเทพฯ-เดนปาซาร์ (บาหลี/อินโดนีเซีย) - เพิร์ธ (ออสเตรเลีย) ซึ่งคาดว่าทั้งสองเส้นทางจะเริ่มต้นได้ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ขณะเดียวกันพิจารณาเส้นทาง กรุงเทพฯ เข้า นิวเดลี หรือ มุมไบ ของอินเดีย และกรุงเทพฯ ไปยัง โฮจิมินห์ หรือ ฮานอย ในเวียดนาม หลังจากที่ปีนี้ได้เปิด 3 เส้นทางไปแล้ว ได้แก่ ย่างกุ้ง, สิงคโปร์ และกลับมาบินเข้าจาการ์ต้า เมืองหลวงอินโดนีเซียอีกครั้งหลังจากหยุดไประยะหนึ่ง

ทั้งนี้ มั่นใจในการขยายไปต่างประเทศทั้งเรื่องความพร้อมของเครื่องบิน, และมาตรฐานความปลอดภัยที่จะทำให้ประเทศต่างๆ พิจารณาอนุญาตให้เข้าไปทำตลาดได้ เนื่องจากไทยไลอ้อนแอร์ ผ่านการรับรองการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย หรือ IOSA : IATA Operational Safety Audit (ไอโอซ่า) ต่อด้วยการได้รับรองฐานะเป็นสมาชิกของไออาต้าอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสายการบินลำดับที่ 3 จากไทย และเป็นสายการบินโลว์คอสต์แห่งแรกของประเทศที่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) อีกด้วย

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการที่มาตรฐานการบินของไทยยังติดธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) มีผลทำให้เสียโอกาสในการเปิดเส้นทางต่างประเทศไปมาก และทำให้ทุกสายการบินต้องไปแข่งขันกันเปิดเส้นทางในประเทศที่ยังอนุญาตซึ่งมีจำนวนจำกัดมาก แต่ทั้งนี้เชื่อมั่นในสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ว่าจะแก้ไขปลดล็อคได้ในปีหน้า และหากหมดอุปสรรคด้านนี้เมื่อใด ก็พร้อมจะเดินหน้าติดต่อขอเพิ่มเส้นทางไปยังญี่ปุ่น ทั้งโตเกียว, ซัปโปโร, ฮิโรชิม่า และกรุงโซล เกาหลีใต้ ทันที เนื่องจากอยู่ในแผนดั้งเดิมตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่ไทยจะได้รับธงแดงจากไอเคโอ ขณะนี้เครื่องบินมีความพร้อมในการบินระยะดังกล่าว เนื่องจากโบอิ้ง 737-900 มีพิสัยบินถึงได้ และหากพิจารณาว่าตลาดมีศักยภาพพอ ก็อาจจะนำเครื่องแอร์บัส เอ330 เข้ามาใช้ด้วย เพราะไลอ้อนกรุ๊ปมีคำสั่งซื้อรุ่นดังกล่าวรวมอยู่ในการสั่งล็อตใหญ่กับแอร์บัสกว่า 234 ลำที่ได้ลงนามกันไปแล้ว

สำหรับปี 2559 คาดว่ามีโอกาสบรรทุกผู้โดยสารรวมกว่า 9 ล้านคน เนื่องจากมีการเพิ่มฝูงบินเข้ามาเสริมถึง 7 ลำ แต่คาดว่าจะยังต้องขาดทุนต่ออีกปี เนื่องจากมีการลงทุนเครื่องบินใหม่เข้ามาเสริมมาก และตั้งเป้าว่าจะลดการขาดทุนไปต่อเนื่องจนสามารถเริ่มทำกำไรในปี 2561 เป็นต้นไป ส่วนการที่ กพท.จะมาตรวจเพื่อออกใบอนุญาตใหม่ในเดือน ก.ย.นี้ ยืนยันว่ามีความพร้อมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนเชิงรุกในการทำตลาดจีนในรูปแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) เพิ่มขึ้นด้วย โดยภายในปลายปีนี้จะมี 9 เส้นทางให้บริการ และปัจจุบันรายได้จากตลาดจีนมีสัดส่วน 15-20% เทียบกับรายได้ทั้งหมด

ด้านนายคริส ฮัมเบิร์ต-ดรอซ ผู้จัดการภาคพื้นประเทศไทย, กัมพูชา, ลาว และเมียนมา สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) กล่าวว่าปัจจุบันไออาต้ามีสมาชิกสายการบินทั่วโลก 266 สายการบิน โดยในไทยมีสมาชิก 3 สายการบิน ได้แก่ การบินไทย, บางกอกแอร์เวยส์ และล่าสุดไทยไลอ้อนแอร์ โดยการเป็นสมาชิกของไออาต้า นอกจากจะได้สิทธิพิเศษเรื่องการแบ่งปันฐานข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจการบิน, การตลาด, การอำนวยความสะดวกในการประสานเชิงนโยบายกับรัฐบาลต่างๆ แล้ว

ประเด็นสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการบิน เนื่องจากสมาชิกไออาต้าจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานไอโอซ่ามาก่อน ซึ่งที่ผ่านมาการมีสถานะเป็นสมาชิกจะทำให้สายการบินได้รับการรับรองจากกลุ่มลูกค้าบางประเทศเป็นพิเศษ เนื่องจากเชื่อถือในมาตรฐาน

ขณะนี้ไทยยังติดธงแดงจากไอเคโอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่ใช่เป็นเพราะปัญหาของตัวสายการบินจากไทยเอง การมีมาตรฐานไอโอซ่ายังสามารถช่วยค้ำประกันความเชื่อมั่นจากต่างประเทศที่จะทำการบินเข้าไปได้ด้วย เช่น กรณีที่สหภาพยุโรปยังคงอนุญาตให้การบินไทยที่ถือมาตรฐานไอโอซ่าเช่นกัน สามารถทำการบินได้ตามปกติ