“สงขลา” ถามเวลาว่าหยุดได้ไหม

“สงขลา” ถามเวลาว่าหยุดได้ไหม

ไม่ใช่แค่อยากให้ผ่านไปแบบช้าๆ แต่สำหรับเมืองน่ารักอย่างสงขลา ขอหยุดเวลาไว้เลยคงจะดี

มันคงเป็นบ่ายที่ร้อนระอุที่สุดในรอบสัปดาห์ เขายกมือขึ้นปาดเหงื่อที่ไหลอาบอยู่บนใบหน้า ก่อนจะหันมาสนทนากับผู้ร่วมเดินทางอีกครั้ง


“เมืองเก่าสงขลามันควรมาเดินเที่ยวแบบนี้แหละ” พี่ดวง - ปราการ ศิริพานิช มัคคุเทศก์วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่พ่วงตำแหน่งประธานกลุ่มรักษ์นครใน บอกแบบนั้น ก่อนจะพาเราสวนทางกับรถรา แล้วเดินทอดน่องเข้ามาในย่านที่เรียกว่า “เมืองเก่า” ทันที


แม้จะรู้ดีว่าการเดินทางท่ามกลางแสงแดดแผดจ้าไม่ใช่ความสบาย แต่พวกเราหลายคนก็ยอมเสียน้ำในร่างกายให้ระเหิดระเหยไป เพื่อแลกกับการได้เห็นสถาปัตยกรรมของอาคารและสัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวสงขลา


“เข้ามานั่งพักข้างในให้เย็นๆ ก่อนสิ” / “ให้ชิมนะ ไม่ได้ให้ซื้อ” / “แกลเลอรี่ยังไม่เปิด แต่เข้ามาชมก่อนก็ได้” / “เชิญหนูก่อนเถอะ ไม่เป็นไร ลุงไม่รีบ” / “อันนี้ป้าแถมให้จ้ะ” ฯลฯ


เห็นรึยังว่า คนสงขลาน่ารักขนาดไหน แล้วทำไมเราจะไม่เลือกใช้วิธีการเดิน


-1-


สงขลา เป็นเมืองเก่าที่สามารถย้อนประวัติไปได้ไกลหลายร้อยปี โดยปรากฏชื่อครั้งแรกๆ ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 1893 ว่าเป็นเมืองประเทศราชในจำนวน 16 หัวเมือง หลังจากนั้นก็มีทั้งเอกสารและบันทึกอีกมากมาย ที่เด่นๆ คือบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับเปอร์เซีย ระหว่างปี พ.ศ. 1993-2093 ที่ระบุชื่อเมือง “ซิงกูร์” หรือ “ซิงกอรา” ซึ่งสันนิษฐานว่าคือเมืองสงขลา แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์เและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนิโกลาส แซร์แวส กลับเรียกว่า “เมืองสิงขร” ซะอย่างนั้น จนทำให้มีการตีความกันไปต่างๆ นานา แต่ไม่ว่าจะเคยเรียกอะไร “สงขลา” ก็เป็นชื่อสุดท้ายที่ถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้


เราแหงนเงยหน้าขึ้นไปมองที่อาคารแบบชิโนยูโรเปียนหลังนั้น ปูนปั้นลวดลายจีนที่อยู่ข้างหน้าต่างวงโค้งเกือกม้าสไตล์ยูโรเปียน แม้จะเป็นศิลปะต่างวัฒนธรรม แต่ก็ดูเข้ากันได้เป็นอย่างดี


“ที่นี่เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม คือชาวไทยพุทธมุสลิมอยู่ร่วมกันได้โดยไม่แปลกแยก” พี่ดวง บอกแบบนั้น ก่อนจะพาเราเดินลัดเลาะมาเข้า “ร้านเกาะไทย” ร้านโจ๊กเจ้าอร่อยที่ใครมาสงขลาแล้วขอความกรุณาว่า อย่าพลาด


โจ๊กร้อนๆ ที่เสิร์ฟมาพร้อมปาท่องโก๋หั่นชิ้นจานเล็กนั้นดูน่ากินเกินกว่าจะห้ามใจ ขณะดูดดื่มกับรสชาติอันแสนอร่อยไป ตาก็กวัดไปเห็นกำแพงอาคารทรงจีนแบบดั้งเดิมที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เยื้องๆ กับร้านเกาะไทย


ภาพชายชรา 3 คนในร้านน้ำชาฟุเจาคือศิลปะบนกำแพง (Wall Street Art) ชิ้นแรกๆ ของเมืองเก่าสงขลา พี่ดวงบอกว่า บุคคลในภาพมีตัวตนอยู่จริง และหนึ่งในนั้นก็คือ อ.ก้อย-วุฒิชัย เพ็ชรสุวรรณ นักวิชาการท้องถิ่น ที่พยายามอนุรักษ์คุณค่าเมืองเก่าสงขลาไว้อย่างดีที่สุด


และไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างที่เข้าใจ เพราะในวันนี้พี่ดวงนัดแนะ อ.ก้อย ให้มาพบปะพูดคุยกับพวกเราด้วย


“สงขลาปัจจุบันเป็นบ้านเป็นเมืองมานาน 180 ปี ตั้งแต่มีการย้ายเมืองมาอยู่ที่ฝั่งบ่อยางในสมัยรัชกาลที่ 3 จะเห็นว่าบ้านในย่านเมืองเก่าจะเป็นแบบผสมผสาน มีชาวจีนอยู่เยอะ ซึ่งจีนเข้ามาประมาณสมัยกรุงธนบุรี มีบทบาททางการเมือง คนจีนสงขลาคือจีนฮกเกี้ยน จริงๆ เดิมมีคนพุทธ พอจีนเข้ามาก็เป็นจีนแบบพุทธ เป็นพุทธมหายาน แล้วก็อยู่ร่วมกับชาวมุสลิมบ้านบนได้”


สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงการอยู่ร่วมกันได้ของคนหลายวัฒนธรรมคือภาพเจ้าแม่กวนอิมที่ตั้งอยู่เหนือประตูคู่กับภาพนางกวัก ณ ร้านเกาะไทย ซึ่งแม้เชื้อสายจะเป็นจีนกวางตุ้ง แต่ก็ให้เกียรติความเชื่อแบบไทยๆ ประมาณว่า อะไรดี อะไรถูก ก็บูชาไปแบบนั้น


“เคยได้ยินมั้ย พัทลุงมีดอน นครมีท่า ตรังมีนา สงขลามีบ่อ นี่เป็นอัตลักษณ์ในการกำหนดขอบเขตของคนในแถบนี้ ซึ่งสงขลาที่เราอยู่นี่เรียกว่าบ่อยาง ส่วนที่มุสลิมอยู่จะเรียกบ่อพลับ นั่นก็เพราะสงขลาถูกขนาบด้วยทะเล ฝั่งหนึ่งเป็นอ่าวไทย อีกฝั่งเป็นทะเลสาบ ทำให้ต้องขุดบ่อเพื่อหาน้ำจืดมาใช้ สงขลาจึงมีบ่ออยู่มากมาย และใช้บ่อเป็นอัตลักษณ์”


ไม่ผิดจากที่ อ.ก้อย บอกเลย เพราะระหว่างเดินเข้าไปชมอาคารบ้านเรือนหลายๆ หลังในตัวเมืองเก่าสงขลา เราพบว่าภายในบ้านจะต้องมี “บ่อน้ำ” เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของบ้านเสมอๆ


-2-


สงขลาบ่อยางมีความสำคัญในแง่ของการเป็นเมืองท่า เป็นเมืองการค้าที่มีการค้าขายแลกเปลี่ยนคึกคัก ซึ่งภาพความรุ่งเรืองนั้นถูกฉายชัดผ่านสถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องบนถนนเก่าแก่ที่สำคัญ 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม(เดิมคือถนนเก้าห้อง)


“เราพยายามพัฒนาเมืองเก่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง” พี่ดวง บอกพร้อมๆ กับพาเราเดินข้ามถนนไปยังร้านรวงต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนถนนนางงาม


บนถนนเส้นนี้เต็มไปด้วยร้านรวงที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งส่วนใหญ่ชื่อร้านก็มักจะเป็นภาษาจีน อย่าง “ร้านตั้งฮั่วกิม” ที่จำหน่ายขนมจีบ-ซาลาเปารสชาติดี แถมภายในตกแต่งสไตล์วินเทจ สามารถเข้าชมได้แบบไม่ต้องจ่ายสตางค์ ซึ่งเจ้าของร้านคนปัจจุบันเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่นี่เคยเป็นโรงแรม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นร้านน้ำชาและมีซาลาเปาขายแบบในปัจจุบัน


อีกร้านถัดมาที่อยู่ไม่ไกลกันคือ “ร้านเกียดฟั่ง” ที่แปลว่า กลิ่นหอม, สะอาด ที่นี่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 ของเด่นๆ ที่เห็นคือซาลาเปาอีกเช่นกัน แต่ซาลาเปาเกียดฟั่งดังถึงขนาดที่มีพ่อค้าแม่ค้ามารับไปขายต่อหลายเจ้าทีเดียว แต่จริงๆ ทีเด็ดของร้านนี้คือการเป็นต้นตำรับของอาหารพื้นถิ่นแบบที่เรียกว่า “ข้าวสตู” อร่อยแค่ไหนไม่มีใครรู้ จนกว่าจะได้ชิมดูนั่นแหละ


เรากระจายรายได้ให้กับของกินแสนอร่อยไปหลายร้าน รวมถึงของหวานที่ “ร้านขนมไทยแม่ฉวี” ซึ่งมีเมนูเด็ดอยู่ที่ขนมต้มสามเหลี่ยมแบบมีไส้ และร้านไอศกรีมไข่แข็งของคุณยายที่ “ร้านจิ่นกั้วหยวน”


“แค่ทัวร์กินอย่างเดียวก็คุ้มแล้ว” ใครบางคนในคณะเราเอ่ยขึ้น แล้วทุกคนก็พยักหน้าเป็นการสนับสนุน


กี่องศาไม่รู้ รู้แต่ว่าผ้าเช็ดหน้าที่พกมาเปียกไปหมด หลังเดินออกจาก “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” เราพากันเดินมุ่งหน้าสู่ย่านที่มีคาเฟ่ดีๆ ซึ่งมัคคุเทศก์นำทางก็ไม่ทำให้ผิดวัง เพราะร้านกาแฟแต่ละร้านถึงแม้ภายในจะแต่งเก๋ชิคอย่างไร แต่ก็มีความกลมกลืนกับความเป็นย่านเก่าโบราณได้อย่างแยกไม่ออก


และไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกเช่นกันที่เราได้พบกับ “พ่อเมืองสงขลา” ในร้านกาแฟที่ชื่อว่า “บลูสไมล์คาเฟ่”


ทรงพล สวาสดิ์ธรรม เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้เพียง 1 ปี แต่ดูเหมือนว่า ท่านจะรู้จักเมืองนี้เป็นอย่างดีทุกซอกทุกมุม อย่าแปลกใจไปเลยที่เป็นแบบนั้น เพราะพื้นเพภูมิลำเนาของท่าน เป็นลูกหม้อของเมืองสงขลานี่แหละ


ทันทีที่เข้ามาทำงาน ผู้ว่าฯ ทรงพล ก็วางกลยุทธ์ในการพัฒนาจังหวัดสงขลาหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งหลายพื้นที่ของสงขลามีศักยภาพมากพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม แน่นอนว่า เขตเมืองเก่าสงขลาก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทางจังหวัดมองว่าสำคัญ


“ย่านเมืองเก่าเราจะพัฒนาให้เป็น “ถนนสายศิลปะ” หรือ Street Art โดยมีภาพงานศิลปะบนกำแพงและงานประติมากรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวเมืองสงขลาดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็มีรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในยุคออนไลน์ด้วย ซึ่งผลงานศิลปะที่จะเพิ่มขึ้นมามีจำนวนทั้งสิ้น 20 ชิ้น รวม 10 จุด จัดแสดงไว้ในมุมต่างๆ ภายใต้ภูมิทัศน์ของเมืองเก่าที่งดงาม”


นอกจากนี้ทางเครือข่ายภาคเอกชน ภาคีคนรักเมืองสงขลา และกลุ่มรักษ์นครใน ยังพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลสาบขยายมาสู่ถนนนครใน กลายเป็น “นครในสตรีท” (NAS : Nakornnai Art Street) ที่เชื่อมโยงกับ “ฮาลาลสตรีท” ในย่านมัสยิดบ้านบน


ผู้ว่าฯ ทรงพล ว่า เป้าหมายต่อไปจะมีการปิดถนนในช่วงวันหยุดเพื่อให้เมืองสงขลากลายเป็นเมืองวัฒนธรรมน่าเดิน แล้วนำสามล้อที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองสงขลากลับมาให้บริการ คล้ายกับเมืองมรดกโลกแห่งอื่นๆ (ปัจจุบันกำหนดปิดถนนนครในทุกวันเสาร์เวลา 16.00-20.00 น.)


-3-


จะเรียกว่าเป็นย่าน “ฮิป” ที่สุดในเมืองเก่าก็ว่าได้ สำหรับ “นครใน” ซึ่งปัจจุบันมีร้านดีๆ พิพิธภัณฑ์เก๋ๆ และห้องสมุด 2 เล ที่เป็นศูนย์รวมของ “กลุ่มรักษ์นครใน” โดยมีพี่ดวงเป็นประธาน


“ห้องสมุด 2 เล” เป็นห้องสมุดที่ให้บริการยืมหนังสืออ่านฟรี ไม่มีกำหนด จะนั่งอ่านที่ร้านไปพร้อมกับการดื่มชารสดีที่มีจำหน่ายก็ได้ หรืออ่านไม่จบจะหยิบยืมติดมือกลับบ้านไป พี่ตาวัน วิเศษสินธุ์ เจ้าของห้องสมุด 2 เล ก็ไม่ว่ากัน


พี่ตาวัน บอกว่า เปิดห้องสมุดมาเพราะอยากให้ทุกคนรู้ถึงคุณค่าของการอ่าน ซึ่งปัจจุบันดูเหมือนว่าจะถูกลดความสำคัญลง การมีห้องสมุดดีๆ อยู่ในทำเลที่ผู้คนผ่านไปมา จึงน่าจะช่วยฟื้นนิสัยรักการอ่านให้กลับมาได้


และจริงๆ แล้ว ห้องสมุด 2 เล ก็เปิดให้บริการอยู่ในบ้านที่ชื่อว่า “ดวงเฮง” ซึ่งเป็นบ้านของพี่ดวง ประธานกลุ่มรักษ์นครในที่ให้พี่ตาวันแห่งห้องสมุด 2 เล เข้ามาใช้พื้นที่ได้ฟรี ถือเป็นความเอื้ออาทรที่มิตรมีต่อมิตรที่ดี


สถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนในย่านนี้แม้จะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังมีกลิ่นอายของอาคารสไตล์โบราณอยู่เยอะ ไม่ว่าจะเป็น “ร้านอ่องเฮียบฮวด” ที่เป็นอาคารเก่าแบบชิโนยูโรเปียน ภายในจัดแสดงของสะสมโบราณ พร้อมกับเป็นร้านจำหน่ายกาแฟด้วย


เราเดินเข้าไปในบ้านที่อยู่ทางซ้ายมือ หน้าบ้านมีป้ายติดไว้ว่า “238 แกลเลอรี่ และพิพิธภัณฑ์ผ้า” เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 09.30-16.30 น. เมื่อเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม เราจึงเดินเข้าไป


ภายในบ้านที่มีโครงสร้างคล้ายเรือสำเภานี้เป็นบ้านของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทย แต่ปัจจุบัน พี่ต้อม-ปัญญา พูลศิลป์ นักสะสมผ้าทอ ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงผ้าทอโบราณ และผ้าพื้นเมืองสำคัญๆ ของชาวสงขลา ส่วนใครที่ชอบสถาปัตยกรรมของบ้านสามารถขอเข้าชมได้


จริงๆ เอาแค่เดินชมสถาปัตยกรรมในย่านเก่าแบบนี้ให้ครบทุกซอยก็สนุกแล้ว เพราะมีรูปแบบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคาร ศาลเจ้า โรงสีเก่า หรือวัด ต่างก็มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน


หรือใครเป็นสายกินจะเดินตามหาร้านอร่อย ในย่านเก่าเมืองสงขลาก็ควรจะต้องวางแผน(การกิน)ดีๆ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้พุงโตเกินขนาดที่ต้องการเหมือนกับเราได้


จะว่าไป แดดร้อนๆ ของสงขลาก็ไม่ได้น่ากลัวสักเท่าไร ในทางกลับกัน ความร้อนร้ายเหล่านั้นทำให้เรามีโอกาสได้แวะไปเยี่ยมเยือนบ้านเรือนและร้านรวงต่างๆ ได้พูดคุยซักถาม ได้เห็นแง่งามของการใช้ชีวิตของผู้คนที่นี่ จนอยากจะหยุดเวลาไว้ซะเดี๋ยวนี้เลย


...............


การเดินทาง


สงขลาอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครราว 950 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้หลายวิธี หากขับรถไปแนะนำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง แล้วเข้าสงขลา แต่ถ้ามารถโดยสารประจำทาง ที่สถานีขนส่ง(สายใต้) มีรถให้บริการทุกวัน ดูข้อมูลได้ที่ www.transport.co.th


ส่วนรถไฟมีลงที่สถานีหาดใหญ่ สอบถาม โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th สุดท้ายมาง่ายๆ ได้ดดยใช้บริการเครื่องบิน มีสายการบินหลายบริษัทให้บริการ เช่น การบินไทย โทร. 1566 แอร์เอเชีย โทร.0 2515 9999 นกแอร์ โทร. 1318