กทม.คาดได้ผู้รับจ้างซ่อมรถดับเพลิง ต.ค.นี้

กทม.คาดได้ผู้รับจ้างซ่อมรถดับเพลิง ต.ค.นี้

"กทม." คาดได้บริษัทผู้รับจ้างซ่อมรถดับเพลิง 176 คัน ต.ค.นี้ พร้อมตั้งวงเงินไม่เกิน 183 ล้าน ลุยตรวจรถที่ "แหลมฉบัง" พรุ่งนี้

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการนำรถกู้ภัยและรถดับเพลิง 176 คันที่ถูกส่งมาเป็นล็อตแรกเมื่อปี 2549 ออกนำมาซ่อมแซม ภายหลังคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินให้บริษัทสไตเออร์ฯจ่ายเงิน 20.49 ล้านยูโร หรือประมาณ 800 ล้านบาทให้กับกทม. โดยให้กทม.รับสินค้าทั้งหมด ว่า รถกู้ภัยและรถดับเพลิง 176 คัน เป็นรถที่นำเข้ามาปี 2549 เบื้องต้นได้เข้าไปตรวจสอบที่โกดังสินค้าของบริษัทเทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ ต.ไทรน้อย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี พบว่ามีรถส่วนหนึ่งยังสามารถขับออกมาได้ แต่ส่วนหนึ่งต้องยกเพื่อเคลื่อนย้ายออกมา โดยมีเจ้าหน้าที่ 200 นายเข้าไปดำเนินการตรวจสอบเครื่อง ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสภาพอย่างละเอียดมีจำนวน 140 คันที่ขับออกมาได้ แต่เหลืออีก 36 คันที่ไม่สามารถขับออกมาได้ จึงต้องลากออกมา และได้นำไปจัดเก็บในสถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย 1.สถานดับเพลิงสามเสน ใช้จอดรถดับเพลิง พร้อมเครื่องหาบหาม จำนวน 72 คัน 2.สถานีดับเพลิงตลิ่งชัน ใช้จอดรถดับเพลิงเคมี 7 คัน รถบรรทุกเครื่องช่วยหายใจ พร้อมเครื่องอัดอากาศ 2 คัน 3.สถานีดับเพลิงย่อยหนองแขม จะใช้จอดรถดับเพลิงพร้อมบันได ความสูง 13 เมตร 9 คัน 4.สถานีดับเพลิงบางแค จะใช้จอดรถดับเพลิงรถไฟฟ้าส่องสว่าง 4 คัน รถบรรทุกเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 คัน และรถกู้ภัยกลาง 2 คัน ส่วนรถดับเพลิงบรรทุกน้ำ 2,000 ลิตร มีหัวฉีด จำนวน 77 คัน จะกระจายจอดที่สถานีดับเพลิงลาดยาว จำนวน 20 คัน และที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 20 คัน เขตประเวศ 10 คัน และเขตบางนา 27 คัน เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดซ่อมต่อไป

ส่วนขั้นตอนการซ่อม จะเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้าง โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ได้จัดตั้งคณะกรรมการเข้าไปประมาณราคาเบื้องต้น สำหรับรถจำนวน 176 คัน ใช้เงินค่าซ่อมประมาณ 183 ล้านบาท ซึ่งแต่ละคันก็จะต้องตรวจโดยละเอียดอีกครั้ง แต่เบื้องต้นทุกคันจะต้องเปลี่ยนยางทั้งหมด ส่วนเครื่องยนต์ ก็จะซ่อมบางส่วน แต่ทั้งหมดจะไม่เกินงบที่ประมาณไว้ ทั้งนี้ การเข้ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจะจัดทำทีโออาร์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่กลางเดือนส.ค.แล้ว โดยคาดว่าเดือนต.ค.จะได้บริษัทที่จะเข้ามารับจัดซ่อมรถ ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติ มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมทั้งระบบเครื่องยนต์ และระบบดับเพลิงด้วย และหากตรวจสอบพบว่ารถคันใด ซ่อมแล้วมีราคาแพงกว่าที่ซื้อมา และไม่คุ้มค่าต่อการใช้งานก็จะจำหน่ายออกไปแทน โดนประเมิณราคารถรวมอุปกรณ์ทั้งหมดไว้ต่อคันประมาณ 1.2 ล้านบาท

“หากดำเนินการตามกระบวนการทุกอย่างแล้ว คาดว่า ภายใน 5 เดือนจะแล้วเสร็จกระบวนการซ่อมและนำรถมาใช้งานได้ ซึ่งรถทั้ง 315 คัน ได้มีการจัดสรรไว้แล้วว่าจะกระจายไปอยู่ใน 35สถานีหลักและ12 สถานีย่อย ตั้งแต่นำเข้ามา ซึ่งจะมีสถานที่ติดอยู่ที่ตัวรถชัดเจน ซึ่งๆได้จัดทำเป็นคุรุภัณฑ์ของ กทม.แล้วเพียงแค่รอนำรถมาซ่อม และจากนั้นก็จะเข้าสู่การจดทะเบียนที่ กรมการขนส่งทางบก เพื่อนำมาใช้งาน ซึ่งคาดว่า ถ้านำรถทั้ง 315 คันมาใช้ได้จะเพียงพอต่อการใช้งานในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนในวันพรุ่งนี้(1ก.ย.) ผมจะเดินทางไปดูพื้นที่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อตรวจสอบสถานที่และนำมาประเมิณราคาที่จอดรถอีกครั้ง โดยจะให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ ข้อกำหนดของกทม.ด้วย” นายจักกพันธุ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถและเรือดับเพลิงถูกจัดเก็บไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง แยกเป็นรถดับเพลิง 67 คัน รถดับเพลิงบรรทุกน้ำขนาด 1 หมื่นลิตร 72 คัน ซึ่งตามสัญญา กทม.จะต้องเป็นผู้รับภาระ โดยมีบริษัท นามยงค์ เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดูแล