บันได4ขั้น! ปูทาง 'บิ๊ก ป.' นั่งนายกฯคนนอก?

บันได4ขั้น! ปูทาง 'บิ๊ก ป.' นั่งนายกฯคนนอก?

วิเคราะห์ : บันได4ขั้น! ปูทาง "บิ๊ก ป." นั่งนายกฯคนนอก?

ถึงแม้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะย้ำแล้วย้ำอีก ว่า “ยังไม่ถึงเวลา” แต่สามารถฟันธงได้เลยว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามโรดแมพนั้น.. "นายกรัฐมนตรี" จะเป็นใคร

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

นายกฯคนใน - นายกฯคนนอก?
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า นายกฯ "คนนอก" หรือ "คนใน" หมายความว่าอย่างไร
เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ให้สิทธิพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. เสนอรายชื่อคนที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯพรรคละไม่เกิน 3 คน บางพรรคจะไม่เสนอก็ได้ และมีมาตรา 159 มากำหนดว่าให้สภาผู้แทนฯ หรือ ส.ส. เป็นผู้เลือกนายก โดยคนที่สภาจะเลือกต้องเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

กรณีนี้ เรียกได้ว่าเป็น "นายกฯคนใน"
แต่เมื่อ "คำถามพ่วง" ผ่านประชามติ ส่งผลให้ ส.ว.มีสิทธิมาร่วมเลือกนายกฯด้วย เรียกว่าเลือกโดย "รัฐสภา"  แต่แม้ ส.ว. มาร่วมเลือกด้วย หากเป็นการเลือกนายกฯที่มาจากบัญชีพรรคการเมือง ก็ยังเรียกได้ว่าเป็น "คนใน"

แต่หาก "รัฐสภา" ไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อได้ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนเพื่อขอยกเว้นให้เลือก "นายกฯที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีพรรคการเมือง" กรณีนี้เองที่เรียกว่า "คนนอก"

ทั้งนี้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 กำหนดไว้ว่าหากไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีที่พรรคเสนอได้ ให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 250 คนขึ้นไป เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรค โดยมติที่จะยกเว้นนี้ต้องมีไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา (ไม่น้อยกว่า 500 จากทั้งหมด 750 คน)

เมื่อวันจันทร์ (29 ส.ค.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำถามพ่วงต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะมาตรา 272 มาตราเดียว คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะหยิบมาพิจารณาในการประชุมวันพุธนี้ (31 ส.ค.)

หลักการทุกอย่างในมาตรา 272 ยังเหมือนเดิม กรธ.เพิ่มเข้าไปเฉพาะการให้ ส.ว. มาร่วมให้ความเห็นชอบผู้จะเป็นนายกฯ เท่านั้น ส่วนการเข้าชื่อเพื่อขอยกเว้นให้เลือกนายกฯนอกบัญชีได้ยังเป็นอำนาจของ ส.ส. เท่านั้น รวมถึงการเสนอชื่อนายกฯ กรธ.ก็ยังยืนยันให้เป็นอำนาจของ ส.ส.เท่านั้น ไม่ยอมตามความเห็นของ สนช.ที่เห็นว่า ส.ว. ควรมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯในการเลือกรอบ 2 หากไม่สามารถเลือกนายกฯ “คนใน” ได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังฟันธงไม่ได้ว่าจะจบแค่นี้ ต้องรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ในขณะที่ สนช.ยังแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการ “ดันต่อ”

ทำไมต้องการให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ?
ตามเหตุผลของทาง สนช. จะบอกว่า เพื่อป้องกันทางตัน กรณีที่รัฐสภาไม่สามารถเลือก “นายกฯคนใน” ได้ และ ส.ส.ไม่สามารถรวบรวมชื่อได้ถึงครึ่งหนึ่งคือ250 คน เพื่อเสนอให้รัฐสภายกเว้นข้อกำหนด เพื่อให้เลือก “คนนอก” ได้

แต่เมื่อไปถามเรื่องนี้จาก “แหล่งข่าว” ที่เป็นฝ่ายสนับสนุน คสช. เขากลับมองต่าง และเห็นว่าไม่จำเป็นต้องให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ เพราะหากไม่สามารถเลือกนายกฯได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด คสช. ก็ไม่เดือดร้อน เพราะตราบใดที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ คสช. และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็จะยังรักษาการต่อไป

ทั้งนี้ เป็นไปตามบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 265 กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ คสช. ยังอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ารัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่

จึงมีคำถามว่า ในเมื่อฝ่าย คสช. ก็ไม่ได้เดือดร้อนอยู่แล้ว ทำไมยังพยายาม “ดันสุดลิ่ม” เพิ่มอำนาจให้ ส.ว.อีก รวมทั้งแม้ ส.ว. จะเสนอชื่อนายกฯไม่ได้ ก็คงมี ส.ส. “จำนวนไม่น้อย” ที่พร้อมจะเสนอชื่อ “คนนอก”

คำตอบที่ได้รับนอกจากเรื่องกลัว “ทางตัน” คือ 1.เพื่อให้ชัวร์ว่าจะมีคนเสนอชื่อ “คนนอก” ให้แน่ๆ และ 2.เป็นอีกวิธีในการ “สร้างผลงานให้เข้าตา” เผื่อได้รับพิจารณาให้ไปเป็น ส.ว.ชุดแรก

"นายกฯคนนอก" เส้นทางที่เลี่ยงไม่ได้
ทำไมจึงบอกว่าถึงแม้ว่ายังไม่ถึงเวลา แต่สามารถฟันธงได้เลยว่า "นายกรัฐมนตรี" หลังเลือกตั้ง จะเป็น "นายกฯคนนอก"?

ก็เพราะกลไกทุกขั้นตอนถูกวางเป็นกรอบไว้หมดแล้ว หากเปรียบเป็นสายน้ำ ก็เป็นสายน้ำที่ถูกบล็อกเส้นทางไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าต้องไหลไปทางไหน

นับตั้งแต่การกำหนดเพิ่มเข้าไปในบทเฉพาะกาลตามข้อเสนอของ คสช. ว่าให้ "ส.ว. ชุดแรก" มาจากกระบวนการแต่งตั้งโดย คสช. และกำหนดด้วยว่าต้องมีจำนวน 250 คน คือ "ครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่มี 500 คน" ทั้งที่ในบทถาวรของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ว.เพียง 200 คนเท่านั้น

ทำไมต้องเป็น 250 คน?
ก็เพราะต้องการให้ ส.ว.เป็น “พรรคใหญ่ที่สุด” ในรัฐสภา โดยเฉพาะเมื่อให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯได้ จะทำให้ ส.ว.กลายเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปโดยปริยาย ขณะที่ชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้วางกลไก "ตัดกำลัง" พรรคใหญ่ เพื่อไม่ให้มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง

อีกเหตุผล หาก ส.ส.ครึ่งหนึ่งเข้าชื่อขอมติที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้เลือก “นายกฯคนนอก” ได้ มาบวกเสียง ส.ว. อีก 250 คนนี้ ก็จะถึงเกณฑ์เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา สามารถ “เปิดทาง” ให้นายกฯคนนอกได้ทันที

ทั้งนี้ หากคำนวนตัวเลข แม้จะมีพรรค ส.ว. 250 เสียง ตุนไว้ในกระเป๋าแล้ว และถ้ามีเสียง ส.ส. อีกเพียง 126 คน จาก 500 คน ก็สามารถเป็นเสียงข้างมากในการเลือกนายกฯได้แล้ว แต่เนื่องจากรัฐบาลต้องทำงานในสภาด้วย ซึ่งจำเป็นต้องใช้เสียงข้างมากของ ส.ส.ในการโหวตเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมาย ญัตติ หรือเรื่องต่างๆ ไปจนถึงญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นหากเป็น "รัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา" คือมีเสียง ส.ส.สนับสนุนไม่ถึงครึ่ง รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้

กลไกที่วางไว้ว่าต้องใช้ "ส.ส.ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง" เป็นผู้เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเลือกนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมือง จึงเป็นตัวการันตีว่ารัฐบาลจะไม่เป็นเสียงข้างน้อยในสภาแน่นอน

แหล่งข่าวฝ่าย คสช. วิเคราะห์ว่า เรื่องจะยุ่งก็ต่อเมื่อมีพรรคที่ได้ ส.ส.เกินครึ่งหนึ่ง แต่เชื่อว่าเหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้น

เมื่อเห็นเส้นทาง “นายกฯคนนอก” ชัดเจนขนาดนี้ คงไม่ต้องถามกันอีกแล้วว่า “นายกฯคนนั้น” จะชื่ออะไร

โดยเฉพาะเมื่อมีกระแส “เบื่อนักการเมือง” และกระแสจากผลโพลต่างๆ เช่น “ซูเปอร์โพล” ล่าสุด ที่นำคำว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” กลับมาอีกครั้ง พร้อมผลสำรวจที่ระบุตัวเลขผู้ต้องการให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯต่อ มากถึง 87.2 เปอร์เซ็นต์

นี่คือเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้แล้ว!!