หวั่น‘ฟินเทค’ดูดลูกค้า แบงก์แก้เกมหาพันธมิตร

หวั่น‘ฟินเทค’ดูดลูกค้า แบงก์แก้เกมหาพันธมิตร

ผลสำรวจ “ไพร์ซ วอเตอร์เฮ้าส์” ระบุ ผู้บริหารแบงก์ห่วง “ฟินเทค” เข้ามาแย่งลูกค้าในอีก 5 ปีข้างหน้า ชี้กลุ่มงานลูกค้ารายย่อยอ่อนไหวสุด

 

  ส่งผลให้หลายแบงก์ปรับกลยุทธ์ดึงธุรกิจฟินเทคร่วมเป็นพันธมิตร

บริษัท PwC ประเทศไทย เผยแพร่รายงานเรื่อง Customers in the spotlight: How FinTech is reshaping banking โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินและเทคโนโลยี จำนวน 163 ราย จาก 46 ประเทศ

นายบุญเลิศ กมลชนกกุล หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี และ หัวหน้าสายงานธุรกิจการเงินและการธนาคาร บริษัท PwC ประเทศไทย บอกว่า กระแสการตื่นตัวด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน หรือ ‘ฟินเทค’ ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมทางการเงินทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ต่างกังวลว่าจะสูญเสียฐานลูกค้ารายย่อยให้แก่ ฟินเทค

โดยผลสำรวจพบว่า 73% ของผู้บริหารเชื่อว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า สายงานธุรกิจเพื่อลูกค้ารายย่อย (Consumer Banking) จะเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวและได้รับผลกระทบมากสุดจากการเข้ามาของฟินเทค

ผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามถึง 76% ยอมรับว่า ธุรกิจของตนมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียผลประโยชน์ให้แก่ฟินเทค โดยมองว่า ส่วนแบ่งทางการตลาดแรงกดดันอัตรากำไรขั้นต้นและภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวเป็นความเสี่ยงสามอันดับแรกที่กังวล

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ฟินเทคสามารถเข้าถึงลูกค้ารายย่อยได้ดีกว่าธนาคาร เพราะสามารถเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้แก่ลูกค้าได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านธนาคาร โดยฟินเทคนำเสนอโซลูชั่นทางเลือกที่คำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก ตอบสนองความต้องการของลูกค้ารายย่อยที่ส่วนใหญ่มีอำนาจการต่อรองน้อย หรือในบางกรณีที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้แก่กลุ่มลูกค้าบุคคลเท่าที่ควร

แม้ผู้ประกอบการธนาคารจะรับรู้ถึงความเสี่ยงต่อการเข้ามาของฟินเทค แต่มีผู้บริหารเพียง 53% ที่เชื่อว่าพวกเขาดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Consumer-centric) เปรียบเทียบกับธุรกิจฟินเทคที่ยึดเรื่องนี้เป็นหลักมากกว่า 80%

จากแนวโน้มการเข้ามาของบรรดา FinTech Start-up ที่เพิ่มขึ้นในระบบนี่เอง ทำให้ธนาคารต่างๆ เริ่มปรับรูปแบบและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยหันมาเป็นพันธมิตรกับธุรกิจฟินเทคมากขึ้น โดยผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการธนาคารถึง 42% จับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจและจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนเพื่อลงทุนในบริษัทฟินเทค

ทั้งนี้ แม้บรรดาธุรกิจฟินเทคจะมีจุดแข็งด้านการพัฒนานวัตกรรมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงเชี่ยวชาญด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแบบไร้รอยต่อ แต่ยังขาดระบบการรักษาความปลอดภัยด้านไอที (IT Security) ความเข้าใจด้านกฎระเบียบและการกำกับดูแล (Regulatory Certainty) อีกทั้งการได้มาซึ่งแหล่งเงินทุน ขณะที่ธนาคารมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่เพียบพร้อมกว่า ซึ่งหากทั้งสองกลุ่มธุรกิจนี้หันมาร่วมมือกันก็จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจทั้งสองฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันฟินเทคนำเสนอโซลูชันที่เป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร จึงหันไปพึ่งพาการกู้ยืมแบบรายต่อราย (Peer-to-Peer Lending) ทำให้ตลาดนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการใช้ฟินเทคเป็นเครื่องมือในการบริหารเงินส่วนบุคคล และอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีต้นทุนต่ำผ่านช่องทางที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม (Non-traditional channel) เช่น สังคมออนไลน์ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ และบริการของฟินเทคยังเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความแพร่หลายและเชื่อมโยงได้หลายช่องทางช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงบริการให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ผลสำรวจระบุว่า 71% ของผู้บริหารยังประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ลูกค้ากว่า 60% จะหันมาใช้บริการทางการเงินผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถืออย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง และมากกว่า 90% คาดว่าอัตราการเติบโตของการใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือในกลุ่มแบงก์จะสูงกว่าธุรกิจบริการทางการเงินประเภทอื่นๆ