ครม.ไฟเขียวเงินกู้ปรับโครงสร้าง การผลิตมันสำปะหลัง

ครม.ไฟเขียวเงินกู้ปรับโครงสร้าง การผลิตมันสำปะหลัง

"ครม." อนุมัติแนวทางบริหารจัดการมันสัมปะหลัง 4 โครงการ ทั้งลดดอกเบี้ยเงินกู้ 6 เดือน รวม 3.1 แสนราย พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพเพาะปลูกระบบน้ำหยด

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติแนวทางบริหารจัดการมันสัมปะหลังปี 59-60 โดยมีโครงการทั้งสิ้น 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสัมปะหลัง โดยลดภาระดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 80,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน เป้าหมายเกษตรกรได้รับประโยชน์รวม 310,000 ราย

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเพาะปลูกมันสัมปะหลังในระบบน้ำหยด ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน รัฐบาลดำเนินการมา 2 ถึง 3 ปีแล้ว โดยทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส.ปล่อยเงินกู้ โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี วงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท โดยมีเป้าหมายเกษตรกรรวม 10,000 ราย

โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสัมปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มสถาบันเกษตรกร จุดประสงค์โครงการเพื่อให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันมากขึ้น จะได้ช่วยเหลือกันยกมาตรฐานการผลิต มีการแปรรูปหัวมันสด มันเส้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย ธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ย เพียงร้อยละ 1 ต่อปี เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน มีวงเงินกู้รวม 1,500 ล้านบาท

และโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับ มาตรฐานการผลิตและการแปรรูปมันสำปะหลัง โครงการนี้ เน้นสำหรับให้เกษตรกู้เงินเพื่อนำไปลงทุนซื้อเครื่องจักร สร้างลานมัน และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยโครงการนี้ มีระยะเวลา 2 ปี ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี วงเงินกู้รวม 1,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรรายย่อยกู้ได้รายละ 1 ล้านบาท สถานบันเกษตร สหกรณ์วงเงินกู้ได้รายละ 20 ล้านบาท

และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โดยที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีโครงการสำหรับข้าวแปลงใหญ่ไปแล้ว จึงออกโครงการนี้มาเพิ่มเติม ทั้งนี้การเกษตรแปลงใหญ่คือ เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิต จำหน่าย และบริหารจัดการซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน และมีการเชื่อมโยงการตลาด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขออนุมัติกรอบวงเงินสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) รวม 3,250 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปีคือ ปีงบประมาณ 60 ถึงปีงบ 62 เกษตรกรกู้ได้รายละ 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิต พัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน หรือนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน กรณีเงินทุนหมุนเวียนกู้ได้นาน 1 ปี ที่เหลือกู้ได้นาน 3 ปี โดยมีเป้าในปีนี้ ทั้งหมดจำนวน 650 แปลง แบ่งเป็นข้าว 426 แปลง พืชไร่จำนวน 140 แปลง ปศุสัตว์ 25 แปลงและประมง 20 แปลง โดยที่กระทรวงเกษตรฯ คาดว่า จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 20 โดยที่รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับธ.ก.ส.จำนวน 228 ล้านบาท