Daily Market Outlook (30 ส.ค.59)

Daily Market Outlook (30 ส.ค.59)

ยกประโยชน์ให้จำเลยไปก่อน

คาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบวันนี้ แต่น่าจะมีแนวโน้มเป็นบวกโดยนักลงทุนในเอเชียแบ่งแยกก้ำกึ่งออกเป็นผู้ที่เชื่อว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้า กับผู้ที่ยังสงสัยอยู่ โดยพวกหลังน่าจะมีมากกว่า อย่างไรก็ตามตัวเลขการว่าจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐวันศุกร์นี้ อาจกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปก็ได้ ภายในประเทศ จับตาประชุม ครม. วันนี้ กระทรวงการคลังน่าจะได้ไฟเขียวคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ต่อไปอีก 1 ปี จากเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวอยู่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพิ่งออกมาตรการภาษีสนับสนุนบริษัทผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มการแพทย์และสุขอนามัยและคนไข้ ด้วยราคายาและอุปกรณ์การแพทย์จะได้ถูกลง BOI กำลังจะออกมาตรการภาษีสนับสนุนกิจการโรงพยาบาลเฉพาะทางด้วย


หุ้นเด่นวันนี้: HANA (ราคาปิด 30.25 บาท; ราคาเป้าหมาย Bloomberg ปี 5929.17 บาท)

บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) น่าจะมีแนวโน้มที่สดใสจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของสินค้ามูลค่าสูงและซับซ้อนขึ้นสำหรับภาคยานยนต์และความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นจากการตั้งโรงงานในกัมพูชาและการที่จีนลดมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศ HANA น่าจะได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากความแตกต่างของนโยบายการเกินระหว่าง Fed และ ธปท. HANA ประกอบธุรกิจประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCBA), วงจร IC และ Microdisplayมีโรงงานกระจายอยู่ที่ลำพูน ในจีนและในสหรัฐ HANA ยังเตรียมเปิดโรงงานใหม่ที่เกาะกง กัมพูชา ซึ่งจะผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบง่าย ดังนั้นต้นทุนค่าแรงจะลดลงได้อีกเพราะค่าแรงที่กัมพูชาต่ำกว่าไทยและจีน ช่วยให้เหลือกำลังการผลิตในโรงงานเดิมเพิ่มขึ้นเอาไว้สำหรับผลิตสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงกว่าและใช้แรงงานน้อยกว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนลดมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศซึ่งน่าจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงและเป็นประโยชน์ต่อ HANA อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทน่าจะดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการเพิ่มสัดส่วนในสินค้าประเภทยานยนต์และการแพทย์ อุปสงค์ต่อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์น่าจะแข็งแกร่งอยู่จากการที่ค่ายรถยนต์เพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานโดยอัตโนมัติของรถยนต์ซึ่งจะต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำพวกเซ็นเซอร์รวมถึงอุปกรณ์วัดเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ และจากการที่ผู้คนมีความตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้นโดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุทำให้อุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์น่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามค่าคาดการณ์เฉลี่ยของ Bloomberg กำไรของ HANA น่าจะโต 0.5% ปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ แต่คาดว่าปีหน้าน่าจะกลับมาเติบโต 10% ได้ในปี 60 และ 61 หุ้นนี้ยังให้ปันผลตอบแทนที่น่าสนใจถึง 5.9% สำหรับปี 59 และ 6.5% สำหรับปี 60 Price Pattern ของ HANA กลับมาเกิดความแข็งแกร่งทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง จากการเกิดทั้ง Daily & Weekly Buy Signal หาก Price Pattern ของ HANA สามารถปิดตลาดรายเดือนได้เหนือ 29.50 บาท ก็จะทำให้กลับมาเกิด Monthly Buy Signal ครั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้ Price Pattern ของ HANA เปลี่ยนไปอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) อย่างเต็มตัว ในระยะสั้นนั้นมีเป้าหมาเบื้องต้นอยู่ที่ 33.75 บาท โดยมีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 28.25 บาท (แนวต้าน: 30.50, 30.75, 31.25; แนวรับ: 30.00, 29.50, 29.25)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• คงเป้าการเบิกง่ายงบประมาณปี 60 กรมบัญชีกลางคงเป้าหมายสำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณที่ 87% สำหรับปีงบประมาณหน้า แม้อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณของปีนี้คาดจะพลาดเป้าก็ตาม งบประมาณประจำปีงบประมาณ 60 ที่อยู่ในชั้น สนช. มีวงเงิน 2.73 ล้าน ลบ. โดย 5.47 แสน ลบ.เป็นงบสำหรับลงทุน ปีงบประมาณหน้าคาดว่าจะขาดดุลงบประมาณ 3.9 แสน ลบ. (Bangkok Post)ความเห็น: เราคาดว่าจะเห็นรัฐบาลประกาศใช้นโยบายการคลังท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ปัจจัยขับเคลื่อนมีไม่มากนัก

• คลังเตรียมขยายเวลาอัตราแวต 7% รมว.คลังกล่าววานนี้ว่า กระทรวงจะเสนอ ครม. ให้ขยายการใช้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ไปอีก 1 ปี โดยจะต้องมีพระราชกฤษฎีกาภายใน 30 ก.ย. ไม่เช่นนั้นแวตจะขึ้นเป็น 10% ทันที (Bangkok Post) ความเห็น: เราคาดว่ารัฐบาลจะคงแวตเอาไว้เพื่อช่วยให้ประเทศเติบโตได้และเศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว

• อนุมัติเว้นภาษีเงินได้กิจการผลิตยา-เครื่องมือแพทย์ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เห้นชอบการให้สิทธิประโยชน์ให้แก่โครงการลงทุนในกลุ่มกิจการผลิตยา และกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ จากปัจจุบันที่กิจการไม่ได้รับการยกเว้นภาษี ก็จะเปลี่ยนเป็นให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี และหากโครงการใดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2560 จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี นอกจากนี้ BOI ยังพิจารณาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทาง เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการแพทย์ครบวงจร (Bangkok Post)
• Q2/59 อัตราว่างงานเพิ่มคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาสสองอยู่ที่ 1.08% สูงขึ้นจากงวดไตรมาสก่อนหน้าที่ 0.97% และเทียบกับ 0.88% ในไตรมาสเดียวกันของปี 58 ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวลง รวมถึงภาวะภัยแล้ง ทั้งนี้ สศช. ปรับลดเป้าส่งออกปีนี้เป็นหดตัว 1.9% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 1.7% ขณะที่ประเมินการเติบโตของ GDP ปีนี้ไว้อยู่ที่ 3.0-3.5%(Bangkok Post) ความเห็น: เราคาดหวังจะเห็นตัวเลขการว่างงานที่ลดลงจากนี้หลังภาวะภัยแล้งได้คลี่คลายลง ประกอบกับแรงหนุนจากการใช้มาตรการทางการคลังแบบขาดดุลที่กำลังจะมาถึงเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ต่างประเทศ

• ราคาพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรมากขึ้นหลังการเทขายเมื่อวันศุกร์ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอ้างอิงอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นสูงสุดนับแต่ผลการลงประชามติ Brexitเมื่อปลายเดือนมิ.ย. ราคาพันธบัตรอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้น 10/32 อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 1.60% เทียบกับพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ -0.065% (Reuters)

• ดอลลาร์สหรัฐอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจตัวเลขการจ้างงานที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ซึ่งนายฟิสเชอร์ รองประธานเฟดระบุว่ามีความสำคัญต่อการที่จะเฟดพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากนักลงทุนมุ่งไปที่ความเห็นของนางเยลเลนเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้นซึ่งหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดัชนีค่าเงินดอลลาร์แตะที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 95.834 ก่อนจะปรับตัวลงอยู่ที่ 95.607 ส่วนเงินยูโรปิดเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่ระดับ 1.1189 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากก่อนหน้าได้ลดลงอยู่ที่ระดับ 1.1159 ดอลลาร์สหรัฐ (Reuters)

สหรัฐ:

• ตลาดหุ้นสหรัฐปิดบวกเมื่อวันจันทร์ หลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 3 วัน โดยหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งจะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวดันตลาดขึ้นหลังจากที่นางเยลเล็น ประธานเฟดได้กล่าวว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้เพิ่มมากขึ้น (Reuters)

• การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนก.ค. จากความต้องการซื้อรถยนต์ บ่งชี้ถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นกว่า 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมิ.ย. ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในเดือนก.ค. เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ซึ่งชี้ว่าการใช้จ่ายผู้บริโภคยังคงเพิ่มขึ้นต่อจากไตรมาส 2/59 และเติบโตในอัตรา 4.4% ต่อปีซึ่งเป็นอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี (Reuters)

• ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 0.1% MoMหลังจากขยับขึ้น 0.1% เช่นกันในเดือนมิ.ย. ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาจนถึงเดือนก.ค. 59 ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.6% โดยเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกับทุกเดือนนับแต่เดือนมี.ค. และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดนิยมใช้อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของเฟดที่ 2.0% (Reuters)


ยุโรป:

• ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวันจันทร์ปรับตัวลดลง หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Fed ออกมาเน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ทั้งนี้ราคาหุ้น Alstom ปรับตัวสูงขึ้นโดดเด่นหลังได้งานออกแบบและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 28 ขบวนให้กับ Amtrak ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟสัญชาติสหรัฐฯ มูลค่างานรวม 1.8 พันล้านยูโร (2.0 พันล้านดอลลาร์ฯ) (Reuters)

เอเชีย:

• อัตราการว่างงานของญี่ปุ่นลดลง 3.0% ในเดือนก.ค. จาก 3.1% ในเดือนก่อน ตามรายงานข้อมูลจากกระทรวงกิจการภายใน และการสื่อสาร ในวันอังคารที่ผ่านมาโดยประมาณการค่าเฉลี่ยจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์สำนักข่าวรอยเตอร์ออกมาที่อัตรา 3.1% ทั้งนี้อัตราส่วนงาน- ผู้สมัคร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เดือนมิ.ย. ที่ 1.37 จากการแยกข้อมูล ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการที่คาดสัดส่วนไว้1.38 (Reuters)

• การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงน้อยกว่าที่คาดไว้ในเดือนก.ค.: การใช้จ่ายของ ครัวเรือนลดลง 0.5%YoY ในเดือนก.ค.ตามที่รัฐบาลแสดงตัวเลขเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาดีกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ว่าลดลง0.9% ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นลดลง 0.2%YoY ในเดือนก.ค. น้อยกว่าตลาดคาดการณ์ว่าลดลง 0.9% ด้วย (Reuters)

• เสียงสนับสนุนของนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ขยับสูงกว่า 60%(62%)เป็นครั้งแรกในรอบเกือบสองปีและเกือบเท่ากับเสียงที่ต้องการให้เขาอยู่ไปถึงในงานสำคัญในการที่โตเกียวจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน 2020 ที่จัดในปี2563 การสำรวจ แสดงเมื่อวันจันทร์ให้เห็นว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังสนับสนุนในเรื่องสูตร "อะเบะโนมิกส์" ที่จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบ Hyper-easy การจ่ายเงินงบประมาณและการปฏิรูปด้วย ขณะที่เสียงอีก 47% มองในเชิงลบต่อนโยบายของ BOJ เรื่องอัตราดอกเบี้ยติดลบ(Reuters)

• การกักตุนเงินสดจะทำให้การผ่อนคลายทางการเงินของจีนไม่ได้ผล: PBOC มีช่องทางที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นบริษัทและธนาคารมีการกักตุนเงินสด ทำให้ผู้กำหนดนโยบายดำเนินการผ่อนคลายทางการเงินแล้วไม่เกิดผล โดยถ้าดูจากประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ที่แม้จะมีนโยบายผ่อนคลายมากกว่าจีน จนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยติดลบ พวกนั้นก็ยังพยายามที่จะยกเศรษฐกิจของพวกเขาออกมาจาก ความซบเซา ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจของจีนไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดจะโตต่ำกว่า 6.5% ผู้กำหนดนโยบายก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะ ต้องลดอัตราดอกเบี้ยหรือเงินสำรองของธนาคาร(Reuters)

สินค้าโภคภัณฑ์:

• ราคาน้ำมันปิดลงกว่า 1% วันจันทร์หักล้างสองวันก่อนหน้าที่บวกติดต่อกัน จากความกังวลที่กลับมาเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันล้นเกิน ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและคาดการณ์ว่ากบฏไนจีเรียจะหยุดรบกวนการผลิตของประเทศ Brent ลบ 66 เซนต์ (-1.3%) ปิดที่ 49.26 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบสหรัฐล่วงหน้าลบ 66 เซนต์ (-1.4%) ปิดที่ 46.98 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (Reuters)

• ทองคำดีดกลับจากจุดเกือบต่ำสุดในรอบห้าสัปดาห์เพราะดอลลาร์อ่อนค่าในวันจันทร์ ลดผลจากสุนทรพจน์โดยประธาน Fed และเจ้าหน้าที่คนอื่นสหรัฐที่ออกมาทำนองว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม ราคาทองคำตลาดจรแตะจุดต่ำสุดนับแต่ 26 ก.ค. ที่ 1,314.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สุดท้ายเพิ่มขึ้น 0.3% ปิดที่ 1,324.41 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากร่วงต่อกันมาติดต่อกันหกวันทำการ (Reuters)