ผลศึกษาชี้ไข่ยุงมีเชื้อซิกา

ผลศึกษาชี้ไข่ยุงมีเชื้อซิกา

คณะนักวิจัยชี้ว่า ยุงตัวเมียสามารถแพร่ไวรัสซิกาไปยังไข่และลูกหลานได้ ชี้ให้เห็นว่า การมุ่งกำจัดยุงโตเต็มวัยจึงไม่ได้ผล

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเมดิคัลแบรนช์ในเมืองแกลเวสตัน รัฐเท็กซัส ของสหรัฐ ต้องการศึกษาว่า ยุงตัวเมียจะส่งต่อไวรัสซิกาไปยังไข่ของมันได้หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์จึงทดลองฉีดไวรัสซิกาเข้าไปในตัวยุงแล้วให้อาหาร ภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์ ยุงตัวเมียวางไข่ นักวิจัยจึงฟักไข่แล้วเลี้ยงดูตัวอ่อนยุง พบว่า ยุงตัวหนึ่งใน 290 ตัวมีไวรัสซิกา

นายโรเบิร์ต เทช นักวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่า อัตราส่วนอาจจะดูต่ำแต่เมื่อพิจารณาจำนวนยุงลายในชุมชนเมืองเขตร้อน อัตราส่วนนี้สูงพอที่จะทำให้ไวรัสซิกาคงอยู่ แม้ว่ายุงโตเต็มวัยจะถูกกำจัดไปแล้วการฉีดยาฆ่ายุงมีผลกับยุงโตเต็มวัยก็จริง แต่ไม่ได้ฆ่าไข่ยุงและยุงตัวอ่อน จึงอาจจะช่วยแค่ลดการแพร่เชื้อแต่ไม่ได้กำจัดไวรัสให้หมดไป การส่งต่อไวรัสในแนวดิ่งจากยุงตัวเมียไปยังไข่ยุงอาจช่วยให้ไวรัสซิกาอยู่รอด แม้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่นในช่วงฤดูแล้งของประเทศเขตร้อน

ต่อจากนี้นักวิจัยจะต้องค้นหาต่อไปว่า การส่งต่อเชื้อเช่นนี้เกิดขึ้นในธรรมชาติเหมือนอย่างที่พบในห้องทดลองหรือไม่ หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นหลักฐานชี้ชัดถึงการส่งต่อไวรัสซิกาในแนวดิ่ง