เตรียมเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 'ประจวบฯ – ชุมพร'

เตรียมเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 'ประจวบฯ – ชุมพร'

"ร.ฟ.ท." เตรียมเปิดประมูลรถไฟทางคู่ "ประจวบฯ – ชุมพร" ต้นเดือน ก.ย.นี้ หวังเข็นเม็ดเงิน 1.7 หมื่นล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ ว่าสัปดาห์นี้ ร.ฟ.ท.จะส่งมอบรายละเอียดร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการรถไฟทางคู่ช่วงประจวบฯ – ชุมพร (มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท) เสนอต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หลังโครงการดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้ว ซึ่งหากรายละเอียดร่างทีโออาร์ได้รับความเห็นชอบ ร.ฟ.ท.ก็จะสามารถดำเนินการในขั้นตอนของการประกวดราคาได้ภายในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้

ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ ยังเตรียมเสนอโครงการรถไฟทางคู่ที่จัดอยู่ในแผนโครงการเร่งด่วนปี 2559 อีก 3 เส้นทางเข้า ครม.ภายในเดือน ก.ย.นี้ มูลค่ารวม 7.49 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วย ช่วงมาบกะเบา – จิระ ( มูลค่า 2.98 หมื่นล้านบาท)อยู่ในช่วงเตรียมเสนอ ครม.ส่วนช่วงนครปฐม – หัวหิน (มูลค่า 2.03 หมื่นล้านบาท) และช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ (มูลค่า 2.48 หมื่นล้านบาท) จะทยอยเสนอให้ ครม.เห็นชอบอย่างต่อเนื่อง

ส่วนโครงการที่กระทรวงฯ จะเสนอเพิ่มเติมในปี 2560 คือรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน – ประจวบ (มูลค่า 1.03 หมื่นล้านบาท) รวมไปถึงแผนขยายทางคู่ออกไปยังชุมพร สุราษฎร์ธานี และต่อเชื่อมกับเส้นทางรถไฟของประเทศมาเลเซีย โดยไทยจะต้องยกระดับระบบรถไฟเป็นระบบไฟฟ้าเพื่อต่อเข้ากับระบบรถไฟของมาเลเซีย

นอกจากนี้ แผนพัฒนารถไฟไทย กระทรวงฯ ยังมอบนโยบายให้ ร.ฟ.ท.เร่งพัฒนาระบบรถไฟเป็นไฟฟ้านำร่องจัดใช้ในเส้นทางกรุงเทพฯ – นครปฐม กรุงเทพฯ – อยุธยา และกรุงเทพฯ – ฉะเชิงเทรา เสนอไปยัง ครม.เห็นชอบในปี 2560 เพื่อเป็นการยกระดับบริการของรถไฟไทยนอกเหนือจากการพัฒนาระบบราง อย่างไรก็ดี ในส่วนของแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ความคืบหน้าการหารือกรอบความร่วมมือระหว่างไทย – จีน เบื้องต้นยังติดขัดในประเด็นของการออกแบบที่ฝ่ายจีนออกแบบเป็นโค้ดเฉพาะ ฝ่ายไทยจึงขอให้ทำการปรับแก้ หากดำเนินการแล้วเสร็จก็จะนำมาสู่การหารือประเมินราคาในช่วงก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเปิดขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ เที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างกรุงเทพ - นครปฐม ว่า โครงการพัฒนารถไฟทางคู่หากเชื่อมโยงได้ครอบคุลมในประเทศก็จะช่วยภาคการขนส่งสินค้า และช่วยให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งต่อไปหากมีพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค เช่น มาเลเซีย หรือCLMVและสามารถเชื่อมไปประเทศกลุ่มยุโรป และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ก็จะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าของประเทศได้ เพราะการขนส่งสินค้าทางรถไฟถือเป็นต้นทุนต่ำ ประกอบกับไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกถึง 70%

“ต่อไปนี้อยากให้กระทรวงคมนาคมวางแผนเชื่อมต่อระบบการเดินทางได้ทุกโหมดทั้ง บก ราง น้ำ และอากาศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อไปจะต้องดูด้วยว่าจะควรเป็นเท่าไร เพราะหากราคาค่าโดยสารต่ำจะไม่คุ้มค่า ส่งผลกระทบระยะยาว และอาจกลายเป็นภาระของประเทศได้ ส่วนอีกประเด็นของ ร.ฟ.ท.ก็ขอให้ไปดูแลเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อนำมาสร้างประโยชน์และผลักดันให้องค์กรสามารถอยู่ได้ในอนาคตด้วย”

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท. จะนำขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่มาวิ่งเป็นขบวนรถด่วนพิเศษใน4เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพ–เชียงใหม่ กรุงเทพ - อุบลราชธานี กรุงเทพ - หนองคาย และกรุงเทพ - ชุมทางหาดใหญ่ ไป/กลับวันละ2ขบวนต่อวัน รวม8ขบวน ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 9 แสนคนต่อปี และคาดว่าจะส่งผลให้ ร.ฟ.ท.มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 785.1 ล้านบาทต่อปี

รถโดยสารชุดใหม่นี้ภายในมีระบบการทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดติดตั้งระบบสัญญาณ Wi-Fi ติดตั้งจอแอลอีดี ปุ่มเรียกพนักงานฉุกเฉิน ห้องอาบน้ำ ห้องสุขาใหม่ให้มีระบบเก็บสิ่งปฏิกูล อีกทั้งยังสามารถวิ่งทำความเร็วได้สูงสุดถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งหากใช้ทางคู่กับโครงการรถไฟทางคู่ที่แล้วเสร็จจะสามารถเดินทางสู่จุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น 3 ชั่วโมง