'นายกฯ'ย้ำฝ่ายก่อเหตุ ต้องยุติความรุนแรงก่อนคุยสันติสุข

'นายกฯ'ย้ำฝ่ายก่อเหตุ ต้องยุติความรุนแรงก่อนคุยสันติสุข

"นายกรัฐมนตรี" ย้ำฝ่ายก่อเหตุต้องยุติความรุนแรงก่อน ค่อยพูดคุยสันติสุข พร้อมเสนอกำหนดพื้นที่ปลอดภัย

ที่ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างพล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุขฯ กับกลุ่มมารา ปาตานีว่า เป็นการพูดคุยว่าจะเอาอย่างไรกันต่อ ซึ่งในประเด็นที่เราเสนอไปคือให้ยุติความรุนแรงในพื้นที่ให้ได้ก่อน ซึ่งตนได้พูดคุยกับพล.อ.อักษรา แล้ว และมอบหมายให้พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ กำกับดูแลเรื่องนี้ โดยเอาหลักการของตนที่ต้องการยุติความรุนแรงให้ได้ก่อนไปพูดคุย ไม่อย่างนั้นเราจะต้องทำตามเขาถึงเมื่อไหร่ หน้าที่ของเราคือ ให้มีการบังคับใช้กฎหมาย มีการพัฒนา เพิ่มการศึกษา ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและยากจน นี่คือการแก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งจะทำให้คนมีรายได้ดีขึ้น ก็ต้องพัฒนาด้านการศึกษา โดยเฉพาะภาษาไทย การเรียนรู้ในพื้นที่นั้นเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมาใครทำไว้ ถึงมีปัญหามาตลอด ปัญหาชายแดนภาคใต้จะใช้การเมืองเดินไม่ได้ แต่ต้องใช้การพัฒนา ความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือการแก้การศึกษา เพราะมีการพูดกันคนละภาษา โรงเรียนก็มีหลายรูปแบบ ก็ต้องปรับให้เข้าในกรอบ เพื่อสามารถไปศึกษาต่อได้ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้แล้ว แต่ก็ยังมีคนไปบิดเบือน

“ท่านต้องช่วยผม อย่าไปกังวลว่าจะไปคุยเมื่อไหร่ ผมเคยยกปัญหาประเทศเพื่อบ้านที่มีปัญหาเหล่านี้ เขาแก้ปัญหามากว่าห้าสิบปี เขารบกัน เพิ่งแก้ได้ภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขามีการตั้งคณะกรรมการพูดคุยขึ้นมา คุยกันมาห้าหกปีแล้ว มีรบกันเหมือนเดิม แต่ก็ไม่มากเหมือนก่อน แต่มันจบที่ไหน ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่จริงใจต่อกัน มันก็ไม่ได้ แต่รัฐบาลจริงใจทุกอย่าง ปัญหาที่บุคคลที่เราไปพูดคุยกับเขา เป็นกลุ่มเดียวกันหรือเปล่า มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเปล่า มันมีทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายการทหาร แล้วยังมีเล็กๆน้อยอีก ซึ่งทั้งหมดก็เป็นกลุ่ม มีสิบคนก็เป็นกลุ่ม แล้วถามว่าเขารวมกันได้หรือยัง ซึ่งมันต้องรวมกันมาทีเดียว พูดกันให้รู้เรื่อง อย่างน้อยก็อยู่ในกลุ่มพาสเอ ที่เล็กน้อยๆก็ไปอยู่พาสบี แล้วทั้งเอกับบีก็ไปคิดให้ตรงกัน แล้วถึงมาพูดกับรัฐบาล หรือไม่รัฐบาลก็ไปพูดกับพาสเอ แล้วพาสเอก็ไปพูดกับพาสบีต่อ ไม่อย่างนั้นก็เป็นอยู่อย่างนี้ ประชุมเป็นร้อยครั้งก็ยังไม่จบ”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาอยู่ที่ว่าเราดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ได้แค่ไหน ก็อย่าไปขยายความ วันหน้าสังคมก็รังเกียจผู้ก่อเหตุ ประชาชนไม่หวาดกลัว ต้องสร้างประชาชนให้เข้มแข็ง ปกป้องตัวเองให้ได้ ถ้าสื่อไปเขียนเช่นนี้ก็หวาดกลัวไปเรื่อย ต้องปลุกระดมคนขึ้นมาต่อสู้ ปกป้องพื้นที่ตัวเองบ้าง สื่อต้องเสนอข้อเท็จจริง วิธีการแก้ปัญหาที่เป็นสากล ไม่ใช่อะไรก็รัฐบาลต้องแก้ไข ใช้กฎหมายอย่างเดียว แล้วสังคมจะสงบสุขได้อย่างไร ดังนั้นปัญหาของสังคมต้องช่วยกัน ต้องแต่ครอบครัว โรงเรียน ต้องสร้างสังคมที่อบอุ่น ที่เรียนรู้ว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างไร รวมถึงเข้าใจด้วยว่าการบริหารราชการแผ่นดินเป็นอย่างไร ทั้งข้าราชการ รัฐบาล ต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง มีกติกา กฎหมายอะไรบ้าง ซึ่งถ้าข้าราชการไม่รู้ ประชาชนยิ่งไม่รู้ เพราะเขาต้องฟังข้าราชการ

เมื่อถามว่า มีผลหารือมาหรือไม่ ว่ากลุ่มมารา ปาตานี รับข้อเสนอของเรา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขายังไม่ได้รายงานมา ซึ่งถ้ารายงานมาแล้วว่าเขาเห็นด้วย แต่ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก มันจะน่าเชื่อหรือไม่ เราก็ได้เสนอไปให้กำหนดพื้นที่ปลอดภัยเป็นจุดๆ เขาก็ยังไม่ทำเลย แล้วจะยอมอะไรเขา ซึ่งเขาเป็นคนกลุ่มน้อย แต่อยู่ที่เราจะทำอะไรเขา ซึ่งเราต้องมีศักยภาพปิดรอยรั่ว ใช้กฎหมายให้ดี เป็นธรรม ไม่ขยายความขัดแย้งให้มากขึ้น มันไม่ง่ายนักกับการสู้รบทางการเมือง และการทหาร ด้วยการสร้างความหวาดกลัว และรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นทุกพื้นที่ในโลก แต่เราทำไมจะต้องไปขยายให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเกิดความวุ่นวาย อย่างที่คนอื่นเขาเป็น ต้องการอย่างนั้นกันหรือ แต่ตนไม่ต้องการให้ไปถึงจุด ดังนั้นไม่ต้องไปขยายมากนัก ข้างล่างเขาแก้กันไป อย่าเพิ่งไปเร่ง มันยังไม่จบหรอก ตราบใดที่เขายังรวมกันไม่ได้

เมื่อถามว่า ได้มีการพบกับทางมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขาเป็นผู้อำนวยความสะดวก จัดสองฝ่ายให้มาคุยกันในสถานที่ปลอดภัย เพราะมาคุยในประเทศไทยไม่ได้ เราคุยกับผู้กระทำความผิดไม่ได้ ซึ่งมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่คนกลาง นี่เป็นกระบวนการแก้ปัญหาในระดับสากล อย่างไรก็ต้องยอมรับว่าตามปัญหานี้มีเรื่องภัยแทรกซ้อน เขามาเกี่ยวด้วย ทั้งเรื่องอิทธิพล ยาเสพติด ตนก็ไม่อยากโยนความผิดให้ใคร ทั้งหมดทุกพื้นที่ก็เกิดปัญหาเหล่านี้ ในส่วนของปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้ ก็มีอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องศาสนา ที่มีคนไปบิดเบือน ซึ่งพื้นที่อื่นก็มี เพียงแต่เราจะยุติได้แค่ไหนเบื้องต้น เพราะพื้นที่อื่นเขาสามารถใช้กฎหมายได้ ไม่มีปัญหา แต่เรื่องภาคใต้ตนต้องระวังคำพูด หากพูดไม่ดีก็ถูกจับตา และเอามากดดันตน สื่อก็อย่าให้ตนต้องตอบตำถามแบบนั้น ฝ่ายนั้นเขาจะมองว่าตนไม่จริงใจ ต้องคิดแบบตน