รอยสตั๊ด : ทีมชาติไทยในฟุตบอลโลก

รอยสตั๊ด : ทีมชาติไทยในฟุตบอลโลก

ในวันที่ 1 กันยายนนี้ ทีมชาติไทย

จะลงสนามฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 2018 เป็นแมทช์แรกของรอบ 12 ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย เพื่อคัดเอา 4 ทีมไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ณ ประเทศรัสเซีย คงจะเป็นความพยายามอีกครั้ง นับจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ตัดสินใจส่งทีมเข้าร่วมเล่นรอบคัดเลือก พรี-เวิล์ดคัพ สมัยแรกเมื่อ ค.ศ. 1974 หรือ 42 ปีที่ผ่านมา

นับแต่สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟา ก่อตั้งใน ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) อีก 21 ปี ต่อมา สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จึงได้สมัครเป็นสมาชิกฟีฟ่า เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2468 ถือเป็นสมาชิกชาติแรกของทวีปเอเชีย และลำดับที่ 37 ของโลก หรือก่อนจะมีการจัดตั้งสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ถึง 3 ทศวรรษเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังนับเป็นสมาคมกีฬาแห่งแรกของไทย ที่เป็นภาคีองค์กรกีฬาระหว่างประเทศ 

หลังจากนั้น 5 ปี ฟีฟา จึงได้จัด ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 1 อุรุกวัย ค.ศ. 1930 ขณะเดียวกัน ก็มีการบันทึกว่า ก่อนฟุตบอลโลกครั้งแรก เพียง 3 เดือน ได้มีการส่งทีมชาติสยามไปแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติ ณ เมืองไซ่ง่อน ในเดือนเมษายน 2473 แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก จึงงดส่งทีมชาติสยามเดินทางไกลไปทวีปอเมริกาใต้ 

จนมาถึงฟุตบอลโลก ครั้งที่ 2 อิตาลี ค.ศ. 1934 ในหนังสือ “L'HISTOIRE MERBEILLEUSE DE LA COUPE DU MONDE” ได้ปรากฎชื่อทีมของกลุ่มโซนเอเชีย คือ Siam, Indes Neerlandaises, Japon, Philippines แต่คราวนี้ก็จำต้องถอนทีมอีกครั้ง เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

นับจากนั้น ถึง 40 ปี เมื่อสมาคมฟุตบอลฯ เห็นว่านักเตะไทยมีมาตรฐานการเล่น พอแข่งขันกับทีมระดับแนวหน้าของเอเชียได้ เนื่องจากทีมกรุงเทพผสม (ทีมชาติไทย) มีการอุ่นเครื่องกับทีมสโมสรระดับอาชีพจากยุโรปที่มีมากขึ้น อีกทั้งการเข้าร่วมรายการสำคัญของชาติเอเชียที่จัดขึ้น ระหว่าง พ.ศ. 2512- 2516 จึงตัดสินใจส่งทีมชาติไทยลงเล่นพรี-เวิลด์คัพ เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ณ ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2516 เพื่อคัดเลือกเข้าแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 10 เยอรมนี ค.ศ. 1974

อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลากว่า 4 ทศวรรษ ทีมไทยยังไม่เคยประสบความสำเร็จผ่านเข้าไปสู่รอบสุดท้ายของ ฟุตบอลโลกได้ นอกจากทำผลงานได้ดีที่สุด คือลงเล่นรอบสุดท้ายของเอเชีย ค.ศ. 2002 ที่จบลงด้วยผลงานเสมอ 4 แพ้ 4 ไม่ชนะใคร

สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คงจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารทั้งองค์กรและการเตรียมทีมที่ต้องมีความเป็นมืออาชีพมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการเก็บตัวฝึกซ้อมในต่างประเทศอย่างจริงจังพร้อมทั้งการอุ่นเครื่องกับทีมชาติที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของวงการลูกหนังเมืองไทย ที่รู้จักและเล่นกันมากว่า 100 ปี...ไปสู่เกมระดับ “ฟุตบอลโลก” (เสียที)