‘ZmyHome’ คอนโดมือสอง เจ้าของขายเอง

‘ZmyHome’  คอนโดมือสอง เจ้าของขายเอง

มีสโลแกนสั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความว่า “คอนโดเจ้าของขายเอง” สำหรับ ZmyHome(ซีมายโฮม)

ซึ่งเป็นไอเดียของ “ณัฐพล อัศว์วิเศษศิวะกุล” ฟาวเดอร์/ซีอีโอ ของซีมายโฮม ที่ผ่านประสบการณ์ร้อนหนาวในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากว่าสิบปี เขาเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท และเริ่มทำงานกับบริษัทข้ามชาติอย่าง “ซีบีอาร์อี” จากนั้นก็ออกมาเปิดธุรกิจเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และยังเป็นนายหน้าด้วย


"ผมมีแนวคิดที่จะทำธุรกิจแนวซีมายโฮมมาตั้งแต่แรกแล้ว อยากทำเว็บให้เจ้าของประกาศขายคอนโดและบ้านเอง แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเราต้องมีความรู้เรื่องเว็บแค่ไหน ปีที่แล้วผมได้ไปเรียนกับคุณกระทิง ที่ดิสรับ ยูนิเวอร์ซิตี้ เลยรู้ถึงการเป็นสตาร์ทอัพ พอเรียนจบก็รู้ว่ามีโครงการดีแทค แอคเซลเลอเรทก็เลยสมัคร ที่ถูกคัดเลือกเพราะโครงการคงชอบไอเดียของผม"


“ชีวิตต้องไปให้สุด” ณัฐพล ตัดสินใจล้มเลิกธุรกิจที่ทำมาแล้วหันมาสวมบทสตาร์ทอัพอย่างเต็มตัว ซึ่งถือเป็นการ “ทุบหม้อข้าว” เพื่อที่จะพิสูจน์แนวคิดที่ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างเลย


"ถ้าจะล้มเหลวผมก็คิดว่าไม่เป็นไร เพราะแนวคิดนี้ผมคิดมาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว และคิดว่าวันหนึ่งผมจะต้องทำให้ได้ และวันนี้ผมก็ทำ ต้องบอกว่าผมพร้อมที่จะตื่นขึ้นมาทำมันทุกวัน พร้อมจะทำตั้งแต่เช้า กระทั่งปิดไฟนอน มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ"


เจ้าของลงประกาศขายคอนโดมิเนียมเองแล้วดีอย่างไร?


ณัฐพลเล่าถึงปัญหาที่มีมายาวนานว่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตลาดเมืองไทยอยู่ในลักษณะที่นายหน้าจะเป็นผู้ประกาศขาย โดยเจ้าของบ้านหรือคอนโดมิเนียมก็ไม่ได้เซ็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีพให้นายหน้ารายใดรายหนึ่งช่วยขายให้ แต่จะบอกผ่านนายหน้าเป็นสิบๆ ราย ก็เลยมีบ้าน หรือคอนโดมิเนียมหลังเดิมๆ ลงประกาศขายซ้ำ ๆอยู่บนเว็บไซต์


หรือไม่บางทีทั้งๆที่ก็ขายไปแล้ว แต่ประกาศก็ยังคงอยู่บนเว็บ เพราะนายหน้าไม่รู้ว่าบ้านหรือคอนโดมิเนียมหลังนั้นถูกขายไปแล้ว


อีกกรณีหนึ่งก็คือ นายหน้าอาจรู้ว่าขายได้แต่เขาไม่ได้ปลดประกาศลงเผื่อเป็นช่องทางให้ผู้ซื้อติดต่อเข้ามา ซึ่งอาจทำให้เขามีโอกาสนำเสนอบ้านหรือคอนโดมีเนียมอื่นๆที่มีอยู่ในมือ 

นอกจากนี้ข้อมูลในประกาศโฆษณาก็อาจลงข้อมูลไม่ครบถ้วน ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนก็อาจเกิดความเข้าใจที่ผิดๆ


ทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้เกิดปัญหา เวลาผู้ซื้อเสิร์ซหาบ้านหรือคอนโดมิเนียมในฝันในเว็บก็ยากลำบาก คือมักพบเจอแต่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ส่วนฝั่งคนขายก็ไม่รู้ราคาที่ควรจะเป็น ว่าต้องตั้งราคาเท่าไหร่ สำหรับบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ในทำเลนี้ ขนาดพื้นที่เท่านี้ แน่นอนว่าผู้ขายไม่อยากขายราคาถูก ทุกรายไปจึงมักตั้งราคาเผื่อเอาไว้แล้วรอจังหวะให้ตลาดไต่ขึ้นมาชนเอง ซึ่งต้องใช้เวลานานนับปี


"บริษัทผมเคยทำรีเสิร์ชสอบถามคนขายบ้านระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา พบว่าต้องใช้เวลาเกือบปีถึงจะขายได้ เทียบกับตลาดซื้อขายบ้านที่ต่างประเทศแล้วเขาใช้เวลาแค่ 1-3 เดือนเท่านั้น"


เขาศึกษาต่อว่าทำไมตลาดไทยขายได้ยากกว่า และพบว่าตลาดต่างประเทศ มีฐานข้อมูลที่เรียกว่า “Multiple Listing System” คอยทำงานเป็นเหมือนฐานข้อมูลกลาง คอยรวบรวมข้อมูลการซื้อขาย ราคาขาย ทุกๆอย่างไว้ทั้งหมด และมีการอัพเดตอยู่เสมอ ทำให้ไม่มีประกาศขายซ้ำซ้อน ผู้ขายก็ขายบ้านได้อย่างรวดเร็วในราคาที่เหมาะสม ขณะที่ผู้ซื้อก็ได้บ้านที่มีคุณภาพในราคาที่ถูกใจ


ในหมายเหตุที่ว่าเมืองไทยเองก็มีความพยายามสร้างระบบแบบเดียวกันนี้ขึ้นมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะพฤติกรรมของเจ้าของบ้านคนไทยจะไม่ยอมเซ็นสัญญากับนายหน้ารายใดเป็นพิเศษ ขณะที่ทางนายหน้าเองก็ไม่มีเครื่องมือการันตีได้ว่าจะสามารถขายบ้านได้ภายในระยะเวลาตามที่เจ้าของบ้านต้องการ


จุดประสงค์ของณัฐพล ที่ก่อตั้งซีมายโฮมขึ้นมา ก็เพื่อเป็นเว็บไซต์ขายคอนโดมีเนียมที่ให้เจ้าของเป็นคนประกาศขายด้วยตัวเอง และต้องการเป็นเว็บที่สร้างความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลที่อัพเดต ถูกต้อง ครบถ้วน


"เว็บเราจะมีการอัพเดทความเคลื่อนไหวกับทางเจ้าของคอนโดด้วย ซึ่งตอนแรกเขาอาจตั้งราคาเผื่อไว้เพราะไม่รู้ราคาแท้จริง แต่พอได้เห็นว่ามีห้องในโครงการเดียวกันขายได้ เว็บก็จะส่งข้อความไปแจ้งให้เขารู้โดยอัตโนมัติทุกความเคลื่อนไหว และเกิดคำถามว่าทำไมคนอื่นขายได้ ทำไมห้องเราขายไม่ได้ เพราะคนอื่นถ่ายภาพห้องสวยกว่าหรือเราต้องปรับแต่งตรงไหนเพิ่มขึ้นอีกเพื่อจะขายได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่มีระบบแบบนี้ เจ้าของก็ต้องไปถามนายหน้าหรือทางนิติบุคคลซึ่งก็ไม่ได้คำตอบ"


ด้านฝั่งผู้ซื้อก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีความสนใจห้องๆ หนึ่ง แต่ราคายังไม่พอดีกับเงินในกระเป๋าเลยยังไม่ได้ตัดสินใจซื้อ ซึ่งทางเว็บจะมีระบบติดตามผลให้ โดยแจ้งเตือนให้รู้ทันทีที่มีผู้ซื้อรายอื่นสนใจและติดต่อเจ้าของห้องที่เขาชอบ เพื่อให้รีบตัดสินใจก่อนที่ห้องนั้นจะถูกขายไปให้กับคนอื่น


ซีมายโฮม จึงเป็นตัวช่วยที่ทำให้ให้เจ้าของขายคอนโดมีเนียมได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นเว็บที่ผู้ซื้อสามารถเข้ามาเช็คหาบ้านที่ถูกใจทั้งเรื่องของทำเลและราคา คือได้ค้นเจอดีลที่ดีที่สุดก่อนตัดสินใจ และการได้ซื้อตรงจากเจ้าของก็ไม่ต้องเสียเงินค่าคอมมิชชั่นให้นายหน้าอีกด้วย


"อีกความแตกต่างหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมา คือช่วยเซฟเวลาให้ผู้ซื้อ ก็เหมือนเวลาที่ไปจองโรงแรม ที่เราต้องเสิร์ซหาโรงแรมในทำเลที่จะไปเที่ยว ตั้งงบประมาณไว้ แล้วก็ไปค้นว่าห้องที่ไหนดีไม่ดี เรตติ้งเป็นอย่างไร พอถูกใจก็จอง พอจองเสร็จสมมุติเว็บไซต์ขึ้นข้อความว่ากรุณาตรวจสอบราคาอีกครั้งกับทางโรงแรม และเมื่อได้โทรไปก็ได้รับชี้แจงว่าราคาต้องบวกเพิ่มขึ้นอีก เราก็คงไม่พอใจและต้องเสียเวลาค้นหาโรงแรมใหม่ คิดดูว่ามันจะซัพเฟอร์แค่ไหน"


ในเบื้องต้นซีมายโฮม “ขายและให้เช่าคอนโดมีเนียมเพียงอย่างเดียว” ถามว่าเพราะอะไร? ณัฐพลให้เหตุผลว่าเพราะสตาร์ทอัพถูกสอนมาว่าต้อง “โฟกัส”


"ตลาดคอนโดมันแอคทีฟมากกว่า และยังเป็นความชำนาญของทีมงานเราด้วย แต่อีกสักพักเราจะขายบ้านด้วย เพราะตลาดมือสอง แนวราบใหญ่กว่าคอนโด 3-4 เท่า เฉพาะในกรุงเทพฯบ้านมือสองปีหนึ่งๆมีการซื้อขายกันอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นหน่วย ขณะที่คอนโดมือสองซื้อขายอยู่ประมาณ 1.5 หมื่นหน่วย"


อย่างไรก็ดี ซีมายโฮมอวดโฉมในตลาดมาราว 9 เดือนแล้ว และมีเจ้าของคอนโดมาประกาศขายและให้เช่าถึง 7 พันรายการแล้ว เมื่อถามถึงแผนการสเกล เขาบอกว่าลำพังถ้าซีมายโฮมแก้ปัญหาให้เมืองไทยได้ ก็คงไม่ต้องไปทำอย่างอื่นหรือขยายไปประเทศอื่น ปัญหาวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทยมีมากมายมหาศาล "ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกเยอะ"


"แต่ตอนนี้เราเอาแค่ตรงหัวใจของมันก่อน อย่าเพิ่งไปทำอะไรมาก ซึ่งมันเป็นเรื่องของข้อมูลที่ถูกต้อง, ภาพถ่ายที่สวย ,เลขที่บ้านที่ชัดเจน, ขนาดของบ้านที่ถูกต้อง ,ราคาถูกต้อง จากนั้นก็กระตุ้นให้คนเข้ามาเยอะๆและต้องทำให้เกิดการซื้อขายจริงๆ"
-------------------------------
ภาครัฐต้องเกาให้ถูกที่คัน
มีเรื่องสำคัญณัฐพล อยากฝากบอกกับทางภาครัฐ เกี่ยวกับนโยบายสนับสนุนสตาร์ทอัพ ว่าควรอยู่ในรูปแบบของการจ้างงาน หมายถึงภาครัฐเป็นลูกค้ามาว่าจ้างใช้บริการหรือซื้อสินค้าของสตาร์ทอัพ


"มันหมายถึง รายได้จากการทำธุรกิจซึ่งสำคัญมาก เพราะเราจะได้มีทุนเอาไปทำอาร์แอนด์ดี ไปพัฒนาโปรดักส์ การว่าจ้างของภาครัฐยังเป็นโปรไฟล์สร้างความเนื่อเชื่อถือให้สตาร์ทอัพอีกด้วย ภาครัฐต่างประเทศเขาก็ทำวิธีนี้"


ณัฐพลมองว่านี่คือวิธีช่วยของทางภาครัฐที่นำไปสู่เส้นทางความ “ยั่งยืน” ได้มากกว่า ทว่ายังไม่ค่อยได้พบเห็นนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมีบางงานทีหน่วยงานภาครัฐต้องว่าจ้างบริการจากข้างนอกอยู่แล้ว ซึ่งก็น่าจะจ้างสตาร์ทอัพ


"ทำให้เราได้เทสต์โปรดักส์ได้ด้วยว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ถ้าไม่ดีก็เลิกจ้าง น่าจะดีกว่าการให้ทุนซึ่งคงไม่สามารถแจกสตาร์ทอัพได้ทุกราย ใครไม่ได้ก็อกหักและอาจมองว่าไม่มีความยุติธรรม"