กรมท่องเที่ยวชงปรับร่างพ.ร.บ.มัคคุเทศก์

กรมท่องเที่ยวชงปรับร่างพ.ร.บ.มัคคุเทศก์

กรมการท่องเที่ยวระดมความคิดเห็นผู้ประกอบการ ดันปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หวังฟื้นท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จัดสัมมนาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เป็นประธานในพิธีเปิดและมอบนโยบายในการพัฒนาการบริหารจัดการ เพื่อระดมความเห็นของผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยต่อการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ โดยเน้นหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

งานสัมมนาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดขึ้นในเมื่อวันที่ 26ส.ค.2559 มีนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว, นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, พ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว, และนายสุรวัช อัครวรมาศ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ฉบับแก้ไข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนากฎหมายท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว”

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่าประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1,383,241 ล้านบาท จะทำอย่างไรให้รายได้เหล่านี้เป็นรายได้ของประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ไปสู่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวรายย่อยอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมและเชิญชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง เข้ามาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทยให้มากขึ้น แต่สินค้าและบริการท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็ต้องมีคุณภาพควบคู่กันไปด้วย กรมการท่องเที่ยวได้จัดทำมาตรฐานสำหรับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ มากมาย รัฐบาลมีหน้าที่ส่งเสริมให้ภาคภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีมาตรฐานสูงขึ้นหรือเทียบเท่าระดับสากล

นางสาววรรณสิริ เปิดเผยว่าในฐานะองค์กรที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมมาตรฐานการท่องเที่ยวของประเทศไทย กรมการท่องเที่ยวมีการดำเนินงานโดยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรให้เกิดการยอมรับในมาตรฐานอยู่แล้ว ทั้งในส่วนของบริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์ ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรงเช่น ผู้ประกอบการขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก รวมไปถึงบริการด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมาย การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพและบังเกิดผลเป็นรูปธรรมนั้น ย่อมต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับ ไปจนถึงกฎหมาย ให้ปัจจัยทั้งหลายมีความทันต่อสถานการณ์และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายด้วย

กรมการท่องเที่ยว จึงต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และกระทรวงแรงงาน ในการตรวจสอบการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น บริษัทนำเที่ยวไม่จดทะเบียน หรือมีการจดทะเบียนแบบใช้นอมินี มัคคุเทศก์ที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต เมื่อพบว่ากระทำผิดกฎหมาย จึงจำเป็นจะต้องดำเนินตามกฎหมาย ซึ่งสมควรปรับปรุงกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ให้เหมาะสมกับยุคสมัยและสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การสนับสนุนให้มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น กำหนดราคามาตรฐานขั้นต่ำของบริการนำเที่ยว ซึ่งครอบคลุมราคาที่พัก ราคาค่ายานพาหนะขนส่ง ค่าอาหาร ค่าตอบแทนสำหรับมัคคุเทศก์ ประกันอุบัติเหตุ รวมไปถึงค่าเข้าชมสถานที่ และค่าบริการอื่นๆ ที่อยู่ในโปรแกรมนำเที่ยวด้วย

อีกประเด็นสำคัญคือ การปรับปรุงเกณฑ์การออกใบอนุญาตมัคคุเทศก์ โดยให้มัคคุเทศก์ที่ขอรับใบอนุญาตต้องเข้าทดสอบความรู้ในด้านภาษาต่างประเทศ และการต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี จะมีการทดสอบความรู้ในเรื่องของประสบการณ์ ระเบียบข้อบังคับ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการที่มัคคุเทศก์มีใบอนุญาตแต่ไม่ได้ทำงาน ทำให้ตัวเลขจำนวนมัคคุเทศก์คลาดเคลื่อน

“เมื่อบุคลากรทุกส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ของตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับแล้ว การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะตั้งอยู่บนมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ประเทศไทยในฐานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก อีกด้วย” นางสาววรรณสิริ กล่าว