อพยพสัตว์ป่า รักษามรดกโลก

อพยพสัตว์ป่า รักษามรดกโลก

เมื่อผืนป่ามรดกโลกถูกแทนที่ด้วยอ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ การอพยพสัตว์ป่าจึงทั้งช่วยให้พวกมันรอดตายและมรดกโลกไม่ถูกทำลายจนสะบักสะบอม

ต้นปีหน้า (2560) ชื่อของอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาจะปรากฏบนแผนที่ประเทศไทยโดยสมบูรณ์ แต่ก่อนที่อ่างเก็บน้ำจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำมากถึง 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจะต้องไม่คร่าชีวิตอื่นๆ ไปด้วยมวลน้ำมหาศาลนี้

            ตั้งแต่ปี 2555 การพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยโสมงมาเป็นอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ซึ่งอยู่บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดาซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก การก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าวตลอดจนการกักเก็บน้ำอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัย และแหล่งทำรังวางไข่ ของสัตว์ป่าทุกกลุ่ม ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และนก

            โดยเฉพาะสัตว์ป่าหายากหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง (Panthera tigris) เลียงผา (Capricornis sumatraensis) กระทิง (Bos gaurus) และจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) ซึ่งยังคงอาศัยและกระจายในพื้นที่บริเวณขอบป่าบริเวณใกล้ๆ กับแนวเขตพื้นที่โครงการ ถึงแม้ว่าสัตว์ป่าหลายชนิดมีศักยภาพเคลื่อนย้ายตัวเองให้พ้นจากเขตพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงได้ แต่ยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่จำเป็นต้องช่วยเหลืออพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วมไปยังแหล่งอาศัยที่เหมาะสม

            ดังนั้นนอกจากปลูกต้นไม้และพูดคุยกับคน การอพยพสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำของมนุษย์ คือภารกิจสำคัญที่มนุษย์ต้องกระทำเพื่อแลกกับความสะดวกสบายที่มนุษย์ได้รับ

            เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาหลายต่อหลายครั้งที่มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำผุดขึ้นแทนที่ผืนป่า อย่างกรณีอันเป็นที่จดจำของประวัติศาสตร์การอนุรักษ์สัตวป่า เมื่อ พ.ศ. 2529 สืบ นาคะเสถียร ได้รับมอบหมายจากกรมป่าไม้ให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน (เขื่อนรัชชะประภา) ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

            ภารกิจคราวนั้นคือการอพยพสัตว์ป่าออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสกและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงที่กำลังจะถูกน้ำท่วมให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัย แต่ด้วยความที่โครงการนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งยังขาดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และอุปกรณ์ การเข้ามารับหน้าที่ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่หนักหนาเอาการสำหรับชีวิตการทำงานของเขา

            แต่ สืบ นาคะเสถียร ก็พยายามทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ

            “ถ้าเราไม่ช่วยมันตายแน่ๆ ไปไหนไม่ได้แล้ว สัตว์หลายชนิดกำลังจะสูญพันธุ์” ประโยคจากปากนักอนุรักษ์คนนี้บวกกับภาพแสนยากลำบากของการอพยพสัตว์ป่าที่ฉายในรายการส่องโลก นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่หลายคนได้รู้จักกับ สืบ นาคะเสถียร และเหตุการณ์ครั้งนั้นก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้หลายคนรับรู้ว่าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่สร้างในผืนป่าก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง

            ส่วนหนึ่งจากรายงานการประเมินผล งานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน โดย สืบ นาคะเสถียร ฝ่ายวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ เมื่อธันวาคม 2530 คือภาพชะนีมือขาวครอบครัวหนึ่ง มีพ่อ แม่ และลูกที่ยังไม่อดนม ถูกช่วยเหลือมาจากยอดไม้ที่กำลังจะถูกน้ำท่วม ชะนีว่ายน้ำไม่ได้และกลัวน้ำมากกว่าสัตว์ป่าชนิดอื่นในพวกเดียวกัน ตัวพ่อหนีไปจนมุมในน้ำ แต่ตัวแม่ซึ่งมีลูกที่ยังไม่อดนมกอดแน่นอยู่ที่อก พยายามกระโจนหนีไปตามกิ่งไม้จนเหนื่อยอ่อน แล้วหนีอยู่ที่ปลายกิ่งไม้ดังกล่าว

            แม้ภาพนั้นจะสะเทือนใจมากแค่ไหนและเวลาผ่านไปนานเท่าไร แต่หนังเรื่องเก่าก็ถูกฉายซ้ำ ที่ตอนนี้สัตว์ป่าในพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาจะต้องเผชิญ   

            สัญชัย เกตุวรชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) กรมชลประทาน ให้ข้อมูลว่าการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีสัตว์ป่าที่ถูกอพยพโยกย้ายไปแล้วกว่า 8,764 ตัว ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 18 ชนิด 338 ตัว, สัตว์เลื้อยคลาน 27 ชนิด 376 ตัว และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 26 ชนิด 8,050 ตัว

            “เราเริ่มให้การช่วยเหลือสัตว์ป่ากลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการดักจับโดยใช้กรงดักสัตว์ และเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่รองรับที่เหมาะสมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินงานแบบเข้มข้นในทุกตารางกิโลเมตรภายในแนวเขตน้ำท่วมถึง เพื่อช่วยรักษาชีวิตและอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่และคงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งนี้ต่อไป”

            มหิทธิ์ วงศ์ษา นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมชลประทาน อธิบายเพิ่มเติมว่าแผนการอพยพและอนุรักษ์สัตว์ป่า แบ่งเป็น 2 ระยะ

            ระยะที่ 1 สำรวจความหลากชนิดและประเมินความชุกชุมของสัตว์ป่า รวมถึงการสำรวจพื้นที่เพื่อรองรับสัตว์ป่าที่จะทำการอพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่น้ำท่วม

            ระยะที่ 2 ช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายสัตว์ สัตว์ป่าที่จับได้แล้วจะถูกนำมาติดเครื่องหมาย ทำประวัติและบันทึกรายละเอียดต่างๆ เช่น ชนิดพันธุ์ เอกลักษณ์ของสัตว์ป่าแต่ละตัว ขนาด น้ำหนัก

            “สำหรับสัตว์ป่าที่ถูกนำมาติดเครื่องหมาย พร้อมทำประวัติและบันทึกรายละเอียดต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จะถูกนำไปปล่อยยังพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่เพื่อรองรับสัตว์ที่จะอพยพโยกย้ายไปปล่อยนั้น มีพื้นที่ที่เหมาะสม จำนวน 5 แห่ง คือ บริเวณห้วยคำภู ทุ่งกวาง ท่าเรือน้อย วังทะลุ และแก่งยายมาก”

            ตลอดการอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่ห้วยโสมงฯ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมคนนี้ได้ลงมือและสัมผัสทุกขั้นตอน ทำให้เขาเปรียบเทียบได้ว่าหากวางแผนดี การอพยพสัตว์ป่าในยุคนี้ไม่ทุลักทุเลอย่างแต่ก่อน จนเรียกได้ว่าไม่มีอุปสรรคใดเลย เขาบอกว่าทุกฝ่ายร่วมกันวางแผนล่วงหน้าค่อนข้างนาน ประกอบกับคณะเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ศึกษาการอพยพสัตว์ป่าของเขื่อนเชี่ยวหลานเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ช่วยเหลืออพยพสัตว์ป่าที่โครงการห้วยโสมงฯ ให้ได้มากที่สุด ทำให้มั่นใจได้ว่าช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าให้อยู่รอดได้เป็นอย่างดี

            แม้การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุอย่างการอพยพสัตว์ป่าจะดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ก็อดตั้งคำถามถึงต้นเหตุไม่ได้ว่าสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มาทาบทับผืนป่านั้นทำให้สัตวป่าต้องพลัดพรากจากถิ่นอาศัย แล้วทำไมจึงต้องมีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก

            มหิทธิ์บอกว่า การพัฒนาแหล่งน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำเป็นวิธีหนึ่งที่จะเก็บกักน้ำไว้ได้ในปริมาณมาก แต่อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนต้องเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างภูเขาสองลูก ซึ่งก็มักจะเป็นที่บริเวณพื้นที่ป่า บางแห่งก็เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้สัตว์ป่าอยู่อาศัย หากิน หลายชนิด แต่บางพื้นที่ก็เป็นป่าเสื่อมโทรม พบเพียงสัตว์ขนาดเล็ก จำพวกกระรอก กระแต อย่างไรก็ตาม การอพยพเป็นวิธีหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้สัตว์ป่ามีชีวิตรอดต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประชากรมีน้ำเพื่อดำรงชีวิตด้วย

          "เมื่อสัตว์ป่าจะต้องได้รับผลกระทบจากการกิจกรรมการพัฒนาใดๆ ก็จะต้องช่วยเหลืออพยพโยกย้ายให้สัตว์ป่านั้นมีชีวิตรอดต่อไปได้ เพียงแต่ต้องมีการวางแผนรองรับไว้ล่วงหน้าเพื่อให้มีผลกระทบเกิดขึ้นน้อยที่สุด” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากกรมชลประทานอธิบายสรุป