บาทแข็งค่ารอบ 13 เดือน รอ 'เฟด'

บาทแข็งค่ารอบ 13 เดือน รอ 'เฟด'

ค่าเงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 13 เดือน แตะ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ หลังเงินไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตร ตลาดจับตาถ้อยแถลงประธานเฟด

ค่าเงินบาทวานนี้ (26 ส.ค.) ปิดตลาดที่ระดับ 34.56-34.58 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันปรับตัวแข็งค่าสุดที่ 34.52-34.54 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2557 โดยตลาดยังจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมประจําปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในคืนวานนี้ (26 ส.ค.) รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสองด้วย

นักค้าเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เงินบาทวานนี้ แข็งค่าสอดคล้องกับภูมิภาคเอเชีย ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ คำแถลงการณ์นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ

โดยสกุลเงินเอเชียทรงตัวจนถึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ก่อนการแถลงนางเยลเลนซึ่งอาจจะส่งสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด
นักค้าเงินรายหนึ่งกล่าวว่า บาทได้แรงหนุนจากเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย แต่ก็เกิดความวิตกกับความเสี่ยงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้าแทรกแซงเพื่อสกัดการแข็งค่าของบาท เนื่องจาก ก่อนหน้านี้นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป จะไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดอลล์อ่อนค่ารอทิศทางดอกเบี้ย

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ในตลาดลอนดอน อ่อนค่าลง 0.2% วานนี้โดยเงินดอลลาร์เทียบเยนอยู่ที่ 100.44 เยน ในช่วงที่นักลงทุนรอทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ จากประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งขึ้นกล่าวในที่ประชุมประจำปีของธนาคารกลาง ท่ามกลางความหวังว่านางเยลเลนอาจส่งสัญญาณชัดเจนว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยปีนี้

แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่านางเยลเลนคงกล่าวเป็นกลางๆ ว่านโยบายการเงินต้องอาศัยการพิจารณาข้อมูลทางเศรษฐกิจ และมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้

ค่าเงินในเอเชีย ปรากฏว่าเงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้น 0.2% เพราะผู้ส่งออกเข้าช้อนซื้อ ดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 0.11% ดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่า 0.03% เปโซฟิลิปปินส์แข็งค่า 0.03% และรูเปียะห์อินโดนีเซียแข็งค่า 0.08%

ราคาทองคำขยับขึ้น 0.2% ที่ 1,323.91 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากลงไปแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 สัปดาห์เมื่อวันก่อน

ตัวเลขสั่งซื้อสะท้อนใช้จ่ายภาคธุรกิจทรงตัว

ข้อมูลเศรษฐกิจที่รายงานล่าสุดตอกย้ำการประเมินเศรษฐกิจแง่ดี โดยคำสั่งซื้อสินค้าทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดกันเมื่อเดือนก.ค. ผลจากความต้องการเครื่องจักรและสินค้าอื่นๆ กระเตื้องขึ้น อันเป็นสัญญาณเบื้องต้นว่าการใช้จ่ายภาคธุรกิจที่เคยซบเซา เริ่มดีขึ้นแล้ว

ส่วนจำนวนคนอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงาน ลดลงอย่างเหนือความคาดหมายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อันสะท้อนถึงความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในตลาดแรงงาน โดยคำขอสวัสดิการว่างงานลดลง 1,000 ราย เหลือ 261,000 รายในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ส.ค. และเป็นการลดลงติดกันสัปดาห์ที่ 3

นายกัส เฟาเชอร์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งบริษัทพีเอ็นซีไฟแนนเชียลเซอร์วิสกรุ๊ป กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นไปในแนวทางที่เฟดต้องการเห็น และหากตัวเลขทางเศรษฐกิจยังออกมาในรูปแบบนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะได้เห็นการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะเป็นเดือนธ.ค.มากที่สุด

ด้านนักลงทุนคาดว่ามีโอกาสเพียง 21% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า และมีโอกาส 52% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.

แรงงานค้านขึ้นดอกเบี้ย

ผู้กำหนดนโยบายของเฟดหลายคน รวมถึงนายจอห์น วิลเลียมส์ ผู้ว่าการเฟดสาขาซานฟรานซิสโก และนางเอสเธอร์ จอร์จ ผู้ว่าการเฟดสาขาแคนซัส กล่าวถึงความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินควร เพราะการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะเปิดโอกาสให้อัตราดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นเวลานาน แต่หากเศรษฐกิจร้อนเกินควร ก็อาจทำให้เกิดภาวะถดถอยได้ในที่สุด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฟดวิตกว่า หากปล่อยให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานเกินไป อาจจุดชนวนเงินเฟ้อ และบีบให้เฟดต้องไปรีบขึ้นดอกเบี้ยติดๆ กันในภายหลัง

นายวิลเลียมส์ กล่าวกับนักเคลื่อนไหวด้านแรงงานประมาณร้อยคนที่ขอเข้าพบผู้กำหนดนโยบายของเฟดเพื่อกดดันไม่ให้ขึ้นดอกเบี้ย โดยนายวิลเลียมส์อธิบายว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้มีเป้าหมายที่พยายามสกัดเศรษฐกิจไม่ให้ขยายตัว เฟดจะพยายามประคองเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่รองประธานเฟดชี้ตัวเลขสร้างงาน-เงินเฟ้อใกล้ถึงเป้า

ก่อนหน้านี้ นายสแตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานเฟด ระบุว่าการจ้างงานและเงินเฟ้อใกล้ถึงเป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้ที่ 2% โดยตลาดแรงงานใกล้กลับมาแข็งแกร่งเต็มที่แล้ว แม้การสร้างงานช้ากว่าปีที่แล้ว แต่ก็เพียงพอที่ตลาดแรงงานจะกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง