กรมศุลฯจี้นำเข้ารถตกค้าง2ปีขีดเส้น'จ่ายภาษี'ใน90วัน

กรมศุลฯจี้นำเข้ารถตกค้าง2ปีขีดเส้น'จ่ายภาษี'ใน90วัน

"ศุลกากร" เตรียมแจ้งผู้นำเข้ารถยนต์ ที่เก็บของในคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากรเกิน 2 ปี ให้นำออกจากพื้นที่ใน 90 วันตามประกาศมาตรา44ของคสช.

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรจะออกประกาศแจ้งไปยังตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ที่นำเข้ารถยนต์มาจอดพักไว้ในเขตปลอดอากร และคลังสินค้าทัณฑ์เกิน 2 ปี ซึ่งมี 633 คัน ให้นำรถยนต์ออกจากพื้นที่ ผ่านการเสียภาษีอย่างถูกต้อง หรือให้นำออกนอกประเทศภายใน 90 วัน หากไม่นำออกรถยนต์ตกเป็นของตกค้างตามกฎหมายกรมศุลกากร

ส่วนรถยนต์ที่เก็บไม่เกิน 2 ปี ให้เก็บไว้ได้ต่อไปไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่นำเข้าเก็บครั้งแรก ถ้าเกินกว่านั้น ต้องนำรถยนต์ออกตามประกาศดังกล่าว สำหรับของที่เก็บในเขตพื้นที่ดังกล่าวยกเว้นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของที่จำเป็นต้องใช้ในอุตสาหกรรม หรือพาณิชยกรรม ก็จะเข้าข่ายประกาศดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีที่มีการโอนย้ายของที่เก็บ ให้นับระยะเวลาที่เก็บของดังกล่าวต่อเนื่องไป เพื่อเป็นไปตามประกาศของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศใช้มาตรา 44 เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับรถยนต์ 633 คัน เป็นการนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2552-2558 ผ่านตัวแทนจำหน่าย 209 คัน ผ่านผู้นำเข้าอิสระ 424 คัน มีการนำเข้ามากในปี 2558 ถึง 307 คัน เพราะเป็นปีที่เงินบาทอ่อนค่า เมื่อคำนวณอัตราภาษีแล้ว ทำให้ผู้นำเข้ามีต้นทุนสูงขึ้น สำหรับรถยนต์ 633 คัน คิดเป็นมูลค่า 600-700 ล้านบาท มีอัตราภาษีอยู่ที่ 1 พันล้านบาท

สำหรับรถดับเพลิง รถกู้ภัย รถไฟส่องสว่าง และรถบรรทุก ที่นำเข้ามาในโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สำนักงานป้องกันและบรรเทาภัย กรุงเทพมหานครทางท่าเรือแหลมฉบังเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2549 จำนวน 176 คัน และ วันที่ 6 ก.พ.2550 จำนวน 139 คัน ให้ถือเป็นยุทธภัณฑ์ที่ผู้นำของเข้ารับไว้ในราชการ เพื่อบรรเทาสาธารณภัย จึงยกเว้นภาษี

ปัจจุบันมีรถยนต์และของที่จัดเก็บในพื้นที่ดังกล่าวนานหลายปี โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่า ผู้นำของเข้าต้องนำของออกจากพื้นที่ภายในเมื่อใด ซึ่งการที่รัฐต้องจัดเก็บรถยนต์และของไว้นาน ทำให้เกิดภาระการจัดหาสถานที่ เพื่อจัดเก็บและมีภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา

ทั้งนี้ เมื่อระยะเวลาผ่านไป ขณะที่ภาษีจัดเก็บระดับเดิม ผู้ประกอบการจึงเห็นว่า ไม่คุ้มค่านำของออกไป ที่ผ่านมากรมศุลกากร มีแนวคิดหาแนวทางช่วยเหลือ โดยผ่อนปรนการหักค่าเสื่อมราคาสินค้าก่อนคำนวณภาษี แต่ถือเป็นของใหม่ แม้จะนำเข้ามานา จึงไม่สามารถหักค่าเสื่อมได้