หุ้น ‘ทรู’ แชมป์เทรดสูงสุด

หุ้น ‘ทรู’ แชมป์เทรดสูงสุด

ทรูครอง "แชมป์" เทรดสูงสุด 8.24 หมื่นล้านบาท ช่วงไตรมาส 3 พบโยนบิ๊กล็อตสูงสุด 1.5 หมื่นล้านบาท นักวิเคราะห์ส่วนมากมองราคาวิ่งเกินพื้นฐาน

จากสถิติการซื้อขายเปรียบเทียบรายหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 3 ตั้งแต่ 1 ก.ค. - 25 ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) TRUE เป็นหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 8.24 หมื่นล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นจาก 7.20 บาท ไปทำจุดสูงสุดที่ 9.30 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 29% ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมานี้ ราคาหุ้นค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.2 บาท ซึ่งเป็นระดับที่มีอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไร (P/E) สูงถึงประมาณ 88 เท่า และมีอัตราส่วนราคาปิดต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ราว 2 เท่า

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลสถิติการซื้อขายรายการใหญ่ (Big lot) ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ พบว่าทรูก็เป็นหุ้นที่มีการซื้อขายบิ๊กล็อตสูงสุดเช่นกัน โดยมีมูลค่ารวม 1.54 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อผ่าน TRUE-F มูลค่ารวม 10,586.69 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 7.25 บาท และ TRUE มูลค่ารวม 4,823.59 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 7.86 บาท

ข้อมูลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ (IAA Consensus) 8 แห่ง พบว่าราคาหุ้นทรูในปัจจุบันนี้สูงเกินกว่าราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ให้ไว้ที่ 7.93 บาท โดยมีนักวิเคราะห์จาก 3 โบรกเกอร์ ให้คำแนะนำขายและลดสัดส่วนการถือหุ้นลง ขณะที่นักวิเคราะห์อีก 3 ราย ให้คำแนะนำถือ และมีนักวิเคราะห์ 2 รายที่ให้คำแนะนำซื้อ โดยให้ราคาเป้าหมาย 10.20 บาท และ 10.70 บาท

นักวิเคราะห์ บล.ทรินิตี้ เปิดเผยว่า คาดไตรมาส 3 ค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาต 900 เมกะเฮิรตซ์ จะเข้ามากดดันผลการดำเนินงาน ซึ่งจะมีค่าตัดจำหน่ายไตรมาสละ 1,250 ล้านบาท รวมไปถึงค่าเสื่อมที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนเครือข่าย เรามีการปรับประมาณการปีนี้เพิ่มขึ้นจาก กำไรพิเศษจากการตีมูลค่าของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) และค่าตัดจำหน่ายที่สมมติฐานก่อนหน้าจะเริ่มรับรู้ในไตรมาส 2 เปลี่ยนเป็นเริ่มรับรู้ค่าตัดจำหน่ายไตรมาส 3

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2559 คาดว่าจะขาดทุนเหลือ 477 ล้านบาทและปี 2560 จะขาดทุน 3,426 ล้านบาท จากต้นทุนค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาต 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ กว่า 7,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในเรื่องของการตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น จึงยังคงแนะนำขายที่ราคาเป้าหมาย 7.28 บาท

ด้าน ฝ่ายวิจัยบล.บัวหลวง ระบุว่า แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น นับจากนี้เป็นต้นไป ภายใต้สถานการณ์ที่ทรูโมบายยังคงตั้งเป้าที่จะขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอันดับ 2 แทนที่ดีแทค (DTAC) ให้ได้ ภายในปี 2561 หรือบรรลุเป้าส่วนแบ่งรายได้บริการที่ 33% ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคู่แข่งอย่าง แอดวานซ์ (ADVANC) และดีแทค ที่จะรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้เท่าเดิม

ถึงแม้ว่าภาพระยะยาวของทรูอาจมีแนวโน้มกลับมาแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม หรือเป็นบวกมากขึ้น ถ้าทรูสามารถโค่นดีแทคขึ้นมาท้าทายแอดวานซ์ได้ภายในปี 2561 แต่ผลขาดทุนสุทธิของทรูจำนวนมาก การก่อภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และการไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ในช่วงปี 2559 – 2561 จะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เรายังคงคำแนะนำขาย

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า เรามีแนวโน้มจะปรับเพิ่มประมาณ จากปัจจุบันที่คาดขาดทุน 6,160 ล้านบาท หลังผลประกอบการครึ่งปีแรก ซึ่งมีรายได้ให้บริการธุรกิจมือถือ เพิ่มขึ้น 28% จากปีก่อน ดีกว่าที่คาดไว้ว่าทั้งปีจะเติบโต 4% และการเลื่อนการตัดค่าเสื่อมใบอนุญาต คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เป็นช่วงครึ่งปีหลังนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะตัดทั้งปี อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลัง ซึ่งน่าจะต่ำกว่าครึ่งปีแรก เพราะต้องเริ่มรับรู้ค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มจากใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ คิดเป็นต้นทุนส่วนเพิ่ม 5,000 ล้านบาทต่อปี