วรา ตั้งทัศนา ผู้ชายแห่ง Slang A-hO-lic

วรา ตั้งทัศนา ผู้ชายแห่ง Slang A-hO-lic

วรา ตั้งทัศนา เจ้าของเพจ Slang A-hO-lic สอนภาษาอังกฤษที่มีสาวกติดตามเหยียบ 3 แสนไลค์ ด้วยวิธีการนำเสนอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อ่านง่าย สนุก

ในยุคสังคมออนไลน์ครองเมือง 'Slang A-hO-lic' เพจสอนภาษาอังกฤษที่มีสาวกติดตามเหยียบ3 แสนไลค์ ด้วยวิธีการนำเสนอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแต่ทำให้คนอ่านรู้สึกสนุก และเข้าใจง่าย เพจนี้ ก่อกำเนิดโดยหนุ่มวัย29ปีผู้ที่ใช้ชื่อว่า “นายทีม” หรือ 'วรา ตั้งทัศนา'


ย้อนไปก่อนเปิดเพจ Slang A-hO-lic วรา เคยเป็นเด็กที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษเรียนได้เกรด2 มาตลอด ช่วงเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ที่จุฬาฯ ภาษาอังกฤษ ได้เกรด C หลังเรียนจบปริญญาตรี อายุ22 ปีจึงมุ่งมั่นที่จะเรียนอังกฤษอย่างจริงจัง จึงเดินทางไปเรียนภาษาที่เมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตนายทีม


วันหนึ่งเห็นป้ายแปะในลิฟต์ที่พักว่า รับสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กต่างชาติฟรี จึงอีเมลไปหาปรากฏเป็น หญิงชราวัย 77 ชื่อ แนนซี่ สอนเขาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง โดยให้อ่านนิตยสาร ให้เธอฟัง เมื่อไหร่ที่พูดผิดแม้แต่คำเดียว ป้าแนนซี่ ให้หยุดทันที แล้วให้ออกเสียงคำนั้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเสียง v, l, th, r ที่คนไทยมักออกผิด ทำให้สำเนียงเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ


ขณะเดียวกันก็เข้าเรียนตามคลาสด้วยแต่ยังไม่พอ เขาจึงกลายเป็นนักกิจกรรม เพราะการจะได้ภาษาต้องฝึกที่ใช้ภาษากับเจ้าของภาษา ดังนั้นหลังจากเลิกเรียนทุกวันพุธ 4 โมงเย็นจะมีคอฟฟี่อาเวอร์จะมีฝรั่งเจ้าของภาษามานั่งตามโต๊ะชวนคุยเรื่องทั่วไปทำให้เกิดการเรียนรู้รูปแบบของการใช้ภาษาพูดในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ใช่ภาษาที่เรียนในห้องเรียน เขาใช้เวลาในการเรียนภาษาอังกฤษ1ปี 3 เดือนสามารถพูดคุยสื่อสารกับคนต่างชาติได้อย่างคล่องแคล่ว


"ผมสามารถทำลายกำแพงภาษาได้เพราะไม่ติดกับเพื่อนคนไทย เพราะถ้าเรามีเพื่อนคนไทย จะไปไหนมาไหนกับเพื่อนคนไทยด้วยกัน สุดท้ายจะไม่ได้ภาษา สมมติว่า ถ้าเรามีเพื่อนสนิทเป็นคนไทย พอเจอฝรั่งเราต้องแชร์การพูดกับฝรั่ง จากที่เราต้องพูด100% เหลือ 50%หรือถ้ามีเพื่อนไทยอยู่ด้วยจะรู้สึกเขิน ซึ่งเป็นกำแพงภาษาที่คนไทยส่วนใหญ่เจอ "


" ทุกวันนี้ภาษาผมแค่ดีปานกลางไม่คิดว่าดีมาก แต่แน่ๆคือเอาตัวรอดได้ ผมบอกในเพจเสมอว่า ผมไม่ใช่เทพเจ้า ไม่ติวเตอร์ ไม่ใช่ครู ผมเป็นเหมือนเพื่อนที่เข้ามาสร้างแรงบันดาลใจ จากคนที่เคยโง่ภาษาอังกฤษมาก่อน และสามารถเอาตัวรอดได้ คุณก็ต้องเอาตัวรอดได้เหมือนกัน เริ่มต้นต้องกล้าก่อน ความกล้าชนะทุกสิ่ง พอกล้าพูดคุยกับฝรั่ง สิ่งที่ต้องทำถัดไปก็คือแก้ ต้องยอมรับว่าเราผิด ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจากนั้นต้องเกลาเพราะสิ่งที่เราเรียนมาส่วนใหญ่เป็นการเรียนในห้องเรียนไม่ใช่ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จึงต้องฝึกสำนวนการพูดเป็นธรรมชาติมากขึ้นไม่ใช่ท่องจำเหมือนที่เรียนมาใช้"


*คัดย่อจากบทสัมภาษณ์ใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2559