แนะค้าปลีกไทยเสริมเทคโนฯ-รุกอาเซียน

แนะค้าปลีกไทยเสริมเทคโนฯ-รุกอาเซียน

ธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และหันมาใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

สอดคล้องกับแนวทางภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโต ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงการมองหาโอกาสตลาดในพื้นที่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวในงาน “แสดงสินค้านวัตกรรมเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติ เพื่อธุรกิจค้าปลีกยิ่งใหญ่ระดับอาเซียน” (RetailEX ASEAN 2016) จัดโดยบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้า ภายใต้หัวข้อ “การค้าเสรีอาเซียนโอกาสหรืออุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกไทย” ว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี มีอิทธิพลต่อค้าปลีก

ขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้าไปทำตลาดในภูมิภาคนี้ เพราะเออีซีทำให้ภูมิภาคนี้เป็นตลาดเดียวกัน ใช้ฐานการผลิตและแรงงานร่วมกัน ขณะที่จำนวนประชากรสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก กว่า 600 ล้านคน รองจากจีนและอินเดีย ผลิิตภัณฑ์มวลรวมอยู่อันดับ 7 ของโลก แต่คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 จะขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 5 โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับกลางที่จะเติบโตรวดเร็ว

“ประชากรไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา รวมกัน 5ประเทศ มีประชากรกว่า 91% ของภูมิภาค โดยประชากรอายุน้อยจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคอาเซียน”

อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีอุปสรรคในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะข้อกฎหมายต่างๆ ที่แตกต่างกัน เช่นเมียนมาที่มีข้อกำหนดไม่ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจค้าปลีก แต่ก็เริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว

ปัญหาอีกสิ่งหนึ่งคือต้นทุน โดยเฉพาะการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาเรื่องของโลจิสติกส์ได้ดี จะทำให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้

นางสาวจริยา กล่าวว่าสำหรับตลาดที่น่าสนใจคือ เวียดนาม ซึ่งจากการศึกษาพื้นที่ค้าปลีกในฮานอยและโฮจิมินห์ ซิตี้ รวมกันพบว่าเล็กกว่ากรุงเทพ หรือ กัวลาลัมเปอร์ และสิงคโปร์ แต่เชื่อว่ามีจะมีโอกาสขยายตัวอีกมากในอนาคต

“ด้วยจำนวนประชากร 93 ล้านคน ทำให้เป็นประเทศที่น่าลงทุน ประกอบกับอัตราการเติบโตของกลุ่มธุรกิจรีเทลที่มีการเติบโตสูง เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียมาเลเซีย และไทย”

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ปัจจุบันจีดีพีภาคธุรกิจค้าปลีกของไทยอยู่ที่ 15% ของจีดีพีประเทศ มีการจ้างแรงงาน 6 ล้านคน 

ทิศทางจากนี้ไป ผู้ประกอบการค้าปลีกจะต้องดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ หรือไทยแลนด์ 4.0 โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ เพื่อสร้างประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น

“คาดว่าหลังจากที่ผู้ประกอบการค้าปลีกต่างๆ หันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จะช่วยผลักดันให้จีพีพีภาคค้าปลีกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 15% ในปัจจุบัน เพิ่มเป็น 30% ในอนาคต โดยมีแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ย 8-10% ต่อปี”

ภาพรวมค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลไกการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นหลัก โดยจะมีปัจจัยบวกสำคัญคือโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในระบบ เกิดการจ้างงาน และนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยในที่สุด

สำหรับการจัดงาน RetailEX ASEAN 2016 ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการค้าปลีกควบคู่ไปกับการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพื่อรองรับกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียน โดยภายในงานมีผู้แสดงสินค้าและเทคโนโลยีค้าปลีกกว่า 2,000 แบรดน์ จากผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานและเจรจาธุรกิจกว่า 6,000 ราย สร้างเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 1,000 ล้านบาทภายในระยะเวลาการจัดงานระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค. 2559 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี