'เถ้าแก่น้อย' เกาะกรแสกีฬาฟีเวอร์ขยายฐานลูกค้า

'เถ้าแก่น้อย'  เกาะกรแสกีฬาฟีเวอร์ขยายฐานลูกค้า

สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ถูกใช้เป็นกลยุทธ์สร้างแบรนด์จากอดีตนิยมสูงเฉพาะกลุ่มสินค้าสำหรับผู้ชาย ปัจจุบันขยายวงกว้างสู่สินค้าทุกเพศทุกวัย

           ทั้งรถยนต์ เสื้อผ้า แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องดื่ม อาหาร และ ขนมขบเคี้ยว  หรือ สแน็ค ล้วนมี "สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง" เป็นอาวุธทางการตลาดด้วยกันทั้งสิ้น ล่าสุดแบรนด์ "เถ้าแก่น้อย" ประกาศตัวเป็นสปอนเซอร์ทีมฟุตบอลชาติไทยตะลุยศึกฟุตบอลโลก

            อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท เถ้าแก่น้อย  ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง  จำกัด (มหาชน)  ผู้ผลิตและจำหน่ายสาหร่ายปรุงรส  เถ้าแก่น้อย (TaoKaeNoi)  กล่าวว่า เถ้าแก่น้อยเริ่มให้การสนับสนุนวงการฟุตบอลไทยตั้งแต่การแข่งขันในรายการฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ ครั้งที่ 44  ฟุตบอลถ้วย ช้าง เอฟเอ คัพ 2559  โดยจะเห็นป้ายโฆษณา  โลโก้เถ้าแก่น้อยอยู่ข้างสนาม  และล่าสุดเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนทีมฟุตบอลไทย เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก  2018  รอบคัดเลือก 12  ทีมสุดท้ายโซนเอเชีย  ซึ่งจะเริ่มแข่งขันตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป

            โดยเถ้าแก่น้อย เป็นสปอนเซอร์หลัก  มีสัญญา 1 ปี  พร้อมกับทำกิจกรรมผ่านกลยุทธ์สปอร์ต  มาร์เก็ตติ้งในรูปแบบต่างๆ  ตลอดปี  ภายใต้งบ 30  ล้านบาท โดยแต่ละปี บริษัทจะใช้งบการตลาดราว   6-7%  ของยอดขาย  สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ

            การชูกลยุทธ์ "สปอร์ต  มาร์เก็ตติ้ง" ปีนี้  เชื่อว่าจะช่วยให้เถ้าแก่น้อยสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ในต่างจังหวัด  จากเดิมที่มีกลุ่มลูกค้าในเมือง  ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่  วัยรุ่น  ซึ่งมาจากกลยุทธ์เอ็นเตอร์เทนเม้นท์  มาร์เก็ตติ้ง  ทั้งในรูปแบบมิวสิค  มาร์เก็ตติ้ง  คอนเสิร์ต และอีเวนต์ ต่างๆ

          “กิจกรรมผ่านสปอร์ต มาร์เก็ตติ้งจะมีหลายรูปแบบ  ทั้งการโฆษณารอบสนามฟุตบอล การจัดกิจกรรมต่างๆ บริเวณสนามฟุตบอล  รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ  ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ๆ  ผู้ที่สนใจกีฬาฟุตบอลและจากกลุ่มแฟนคลับนักฟุตบอลทีมชาติไทย”

            นอกจากนี้สปอร์ต มาร์เก็ตติ้งยังช่วยสร้างแบรนด์  “เถ้าแก่น้อย”  ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผ่านกิจกรรมต่างๆ  รวมทั้งกิจกรรมกีฬา  ซึ่งปัจจุบัน "นักกีฬาไทย" สร้างผลงานได้โดดเด่น เป็นที่รู้จักและสร้างชื่อให้คนไทยอย่างมาก 

            เถ้าแก่น้อย ยังมีกลยุทธ์การทำตลาดผ่านการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่  สาหร่ายอบ “ บิ๊กชีท อบ” เจาะกลุ่มผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพ สาหร่ายทะเลทอดกรอบ “ซีเกิ้ล” ปัจจุบันเถ้าแก่น้อย  มีสินค้า 4  กลุ่ม รวม 150 รายการ ได้แก่ สาหร่ายทอด  55%  สาหร่ายย่าง 37%  ที่เหลือ เป็น สาหร่ายอบ และ สาหร่ายเทมปุระ    

          “กลุ่มลูกค้าหลักของเถ้าแก่น้อย นอกจากเป็นผู้บริโภครุ่นใหม่แล้ว ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน  ซึ่งเดินทางมาเที่ยวเมืองไทย และนิยมเลือกซื้อเถ้าแก่น้อย เป็นของฝากจากเมืองไทย"

            โดยสาหร่ายเถ้าแก่น้อยถือเป็นสินค้าที่ระลึกอันดับต้นๆ  ของนักท่องเที่ยวจีน ยิ่งปริมาณนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มสูง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เถ้าแก่น้อยเติบโตตาม

            ทั้งนี้  ผลประกอบการของเถ้าแก่น้อยในครึ่งปีแรกมีรายได้รวม  2,138 ล้านบาท เติบโต  41.5%  มีกำไร 345 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 173.5%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในปีนี้มีรายได้รวม  4,300 ล้านบาท   เติบโต  25% เป็นรายได้จากต่างประเทศ 55% ในประเทศ  45% จากเดิมตั้งเป้าหมายปีนี้จะเติบโต 10-15%   หรือมียอดขายรวม  3,800 ล้านบาท 

            ขณะที่ตลาดในประเทศ เติบโต 19%  ส่วนตลาดต่างประเทศ  ซึ่งเถ้าแก่น้อยมีวางจำหน่ายใน  42 ประเทศทั่วโลก ตลาดหลักเป็นแถบเอเชีย  80-90%  เติบโต  68% และมีแผนขยายตลาดใหม่ๆ  ไปยังแถบอินเดีย   ยุโรป และสหรัฐ  ขณะที่ร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ ( TaoKaeNoi Land)  เปิดบริการ  6 แห่ง  มีแผนเปิดสาขาที่  7 ในเดือน ก.ย.นี้ ที่โชว์ดีซี ย่านพระราม  9  

            ภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยว หรือ สแน็ค  ช่วงครึ่งปีแรก  มีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท  เติบโต 3%  ถือว่าเติบโตต่ำ จากปกติเติบโตเฉลี่ย 10%  กลุ่มที่มีการเติบโตดีได้แก่  ถั่ว ปลาเส้น  ส่วนมันฝรั่ง เติบโตลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นการเติบโตจากการออกสินค้าใหม่ๆ 

            สำหรับตลาดขนมสาหร่าย  มีมูลค่าตลาดรวม 2,540  ล้านบาท เติบโต 1-2% ขณะที่เถ้าแก่น้อยเติบโต 8-10%  สูงกว่าตลาดรวม  เป็นการเติบโตที่ไม่รวมนักท่องเที่ยว  แต่หากรวมนักท่องเที่ยว เติบโต 19%    ปัจจุบัน เถ้าแก่น้อย  เป็นผู้นำตลาดสาหร่าย  ด้วยมาร์เก็ตแชร์  66%   เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีส่วนแบ่งตลาด  62%  

"เถ้าแก่น้อย" ต้องทำงานให้มากและหนักขึ้นกว่าเดิม

            ท่ามกลางคู่แข่งจำนวนมาก ขณะที่ธุรกิจมี "ความเสี่ยง" มากขึ้นเช่นกันจากปัจจัยลบที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ การขับเคลื่อนธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมรอบด้าน 

          "ต้องทำงานให้มากและหนักขึ้นกว่าเดิม" เป็นกลยุทธ์หลักของ "เถ้าแก่น้อย"   สำหรับ "รับมือ" สถานการณ์ตลาดเวลานี้ ที่เศรษฐกิจ และการบริโภคในประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จะผลักดันการเติบโตของยอดขายและรักษาเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างไร คือ โจทย์ตั้ง

            "เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์  บริหารจัดการด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด  ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องต้นทุน การหาตลาดใหม่เพื่อเพิ่มยอดขาย"

            เถ้าแก่น้อย มองตลาดประเทศอินเดีย สหรัฐ และกลุ่มประเทศยุโรป เนื่องจากสินค้าประเภทสาหร่ายยังไม่แพร่หลายในประเทศเหล่านี้ เป็น "ช่องว่าง" และ มีโอกาสในการเติบโตสูงในอนาคต  ขณะที่ตลาดส่งออกหลักเวลานี้ ได้แก่  จีน  เวียดนาม ที่มีการเติบโตสูง  โดยเฉพาะจีน เติบโตมากกว่า 100% ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจในต่างประเทศของบริษัทเติบโตถึง 68%  เทียบตลาดในประเทศเติบโต 19%      

            ในจังหวะเศรษฐกิจชะลอตัว เถ้าแก่น้อย ยังลงทุนสวนกระแส โดยจัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาท จัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปีก่อน หากโรงงานแห่งนี้แล้วเสร็จไตรมาส 2 ปี 2560 จะทำให้กำลังผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นอีก "1 เท่าตัว"  จากปัจจุบันผลิตได้ 6,000 ตันต่อปีจากโรงงานที่ จ.ปทุมธานี จะเพิ่มเป็น 1.2 หมื่นตันต่อปี รองรับแผนการขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

            แนวทาง ทำงานให้มากและหนักขึ้นกว่าเดิม เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่เป้าหมาย "ผู้นำ" ตลาดขนมขบเคี้ยวในเอเชีย ภายใน 3-5 ปีจากนี้ เป็นจังหวะดีของกระแส "ฟุตบอล" ที่กำลังบูมสุดขีด สอดรับกลยุทธ์ "สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง" ที่เถ้าแก่น้อยเลือกนำมาใช้ในห้วงเวลานี้ เพื่อขยายตลาดและฐานลูกค้าในต่างจังหวัด รวมทั้งต่างประเทศ ที่สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง จะเป็นเครื่องมือสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ที่ทรงประสิทธิภาพ

          "ตราสัญลักษณ์" หรือ "ป้ายโฆษณา" ข้างขอบสนามฟุตบอลภายในสนามแข่งขัน จะทำให้ลูกค้ามองเห็นและจดจำแบรนด์เถ้าแก่น้อย แม่นยำยิ่งขึ้น

            จากฐานลูกค้าคนเมืองเป็นหลัก  จะขยายสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น ผ่านแฟนฟุตบอลทีมชาติไทย นับจากนี้  และไม่ใช่เรื่องยากที่เถ้าแก่น้อยจะบรรลุเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้เร็วกว่ากำหนด 1 ปี อีกด้วย