ลุ้นสหรัฐปลดไทย พ้นบัญชีปท.ถูกจับตามองเป็นพิเศษ

ลุ้นสหรัฐปลดไทย พ้นบัญชีปท.ถูกจับตามองเป็นพิเศษ

"รมช.พาณิชย์" ลุ้นสหรัฐปลดไทยพ้นบัญชีประเทศถูกจับตามองเป็นพิเศษ กรณีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเดือนเม.ย.ปีหน้า

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (คทป.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่าที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าในประเทศไทย ซึ่งมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี

โดยได้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List :PWL) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษครอบคลุมใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ การแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยส่งเสริมการแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ต และการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านลิขสิทธิ์ การปรับปรุงการจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้า โดยการเข้าเป็นสมาชิกภาคีพิธีสารกรุงมาดริด เรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และแก้ปัญหางานค้างสะสม เรื่องสิทธิบัตร สนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนการออกแบบระหว่างประเทศ

ส่วนเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในประเทศไทยมีความคืบหน้าไปมาก มีการวางแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์ทางปัญหาในพื้นที่เป้าหมาย 70 จุดทั่วประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความตั้งใจจริงของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา

ทั้งนี้คาดว่าในเดือน เม.ย.2560 ซึ่งจะมีการพิจารณาสถานการณ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่างๆ สหรัฐน่าจะปลดชื่อของประเทศไทยออกจากบัญชีจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List :PWL) ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯมาตรา 301 พิเศษ มาอยู่ในบัญชีลำดับที่ดีขึ้นหรือบัญชีของประเทศที่ถูกจับตามอง (Watch List :WL)

ที่ประชุมฯได้เห็นชอบโรดแมปการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศระยะเวลา 20 ปี โดยมีเป้าหมายให้เกิดการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับแนวนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ประเทศปานกลาง 1. การสร้างสรรค์ (Creation) ส่งเสริมให้การวิจัยและพัฒนาของไทยสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการตระหนักในความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งมีระบบฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ ตลอดจนมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่เพียงพอ

2. การคุ้มครอง (Protection) มุ่งเน้นให้งานจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญามีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น 3.การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) 4.การบังคับใช้กฎหมาย(Enforcement) มีเป้าหมายเพื่อลดการละเมิดในพื้นที่การค้าและบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งได้เพิ่มเติมองค์ประกอบ2 ด้าน ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน คือ เรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) มุ่งเสริมสร้างความเข้าใจกับชุมชนเรื่องประโยชน์และความสำคัญของ GI และจัดให้มีระบบควบคุมมาตรฐาน รักษาคุณภาพสินค้า GI โดยมีแผนที่จะขยายการจดทะเบียนสินค้า GI ไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศจากปัจจุบันมีสินค้าที่จดทะเบียน GI 49 จังหวัด ขณะเดียวกันเตรียมที่จะนำสินค้าของไทยจำนวน 3 รายการไปจดทะเบียน GI ในประเทศจีน 3 รายการได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ส้มโอทับทิมสยาม และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปจากทางการจีนภายในต้นปี 2560