หอการค้าจี้รัฐแก้แรงงานขาดรับไทยแลนด์ 4.0

หอการค้าจี้รัฐแก้แรงงานขาดรับไทยแลนด์ 4.0

หอการค้า เสนอรัฐเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รองรับนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ระบุ แรงงานต่างด้าว สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทยว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวในทุกภูมิภาค ผ่านการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้แรงงานเพิ่มขึ้น ทั้งแรงงานในภาคก่อสร้าง แรงงานอุตสาหกรรม แรงงานภาคการเกษตรและเกษตรแปรรูป และแรงงานภาคบริการและการท่องเที่ยว แต่จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอดีต ทำให้ต้องใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และปัจจุบันประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาแรงงาน ทั้งแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย

ปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก และปัญหาแรงงานประสิทธิภาพต่ำ ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก หลังพบว่า ผลการจัดอันดับขีดความสามารถด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน โดย Global Competitiveness Report 2016 ประเทศไทย มีขีดความสามารถด้านประสิทธิภาพของตลาดแรงงานของประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 67 จาก 140 ประเทศ และอยู่ในอันดับ 6 เมื่อเทียบกับอาเซียน 10 ประเทศ

ทั้งนี้ หอการค้าไทย ได้จัดทำข้อเสนอในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย 6 ข้อ คือ 1.การส่งเสริมการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรมาทดแทน 2.กำหนดนโยบายแรงงานทดแทน โดยหาแนวทางพัฒนาชนกลุ่มน้อย ที่มีอยู่ 1.4 ล้านคน เข้ามาอยู่ในระบบแรงงาน หามาตรการดึงแรงงานอาชีพอิสระ เช่น มอเตอร์ไซค์ รับจ้าง 1.76 แสนคัน แรงงานชำนาญในต่างประเทศ 1.56 แสนคน แรงงานภาคเกษตรกรรม 11.2 ล้านคน และแรงงานวัยเกษียณ 10 ล้านคน เข้าสู่ภาคแรงงาน 3.แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย 4.การปรับปรุงนโยบายคนเข้าเมืองให้สะดวกมากขึ้น 5.ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เช่นควรออกประกาศกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานในภาคเกษตร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเกษตร และ 6.การจัดระเบียบระบบแรงงานต่างด้าวและคุ้มครองแรงงานต่างด้าว

สำหรับสถานการณ์แรงงานของประเทศในไตรมาสที่1 ของปี 2559 พบว่า มีประชากรวัยทำงานหรืออายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 55.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้แรงงาน 38.3 ล้านคน

โดยใช้แรงงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม 11.2 ล้านคน รองลงมาเป็นภาคธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง 6.4 ล้านคน การผลิต 6.4 ล้านคน ที่พักแรม 2.7 ล้านคน ก่อสร้าง 2.6 ล้านคนการบริการราชการ จำนวน 1.6 ง้านคน ขนส่ง 1.3 ล้านคน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติต่อไปแต่ต้องจัดระบบให้ถูกต้องแลดูแลอย่างใกล้ชิด โดยพบว่า แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตามข้อมูลตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายปัจุบันอยู่ที่ 1.5 ล้านคน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ถึง 4.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.37% ของจีดีพี ซึ่งหากรวมกับแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ประมาณ 5 ล้านคน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ถึง 1 ล้านล้านบาท