นักวิชาการ มช. เฝ้าระวัง3รอยเลื่อยภาคเหนือ

นักวิชาการ มช. เฝ้าระวัง3รอยเลื่อยภาคเหนือ

นักวิชาการ มช. เฝ้าระวัง3รอยเลื่อนภาคเหนือ อาจทำห้เกิดแผ่นดินไหวได้ เผยประเมินไทยมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวไม่เกินขนาด7 แนะเตรียมรับมือถูกวิธี

รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวที่พม่าวานนี้ (24 ส.ค.) เกิดจากรอยเลื่อนอรากัน เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่ยังคงมีพลังและยาวพาดผ่านตอนบนของเมียนมา ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวไม่สามารถคาดการณ์ได้ เป็นไปตามสภาพทางธรณีวิทยาของแต่ละพื้นที่ ส่วนจะส่งผลกระทบถึงประเทศไทยนั้นเชื่อว่ายังไม่มี ในขณะที่การประเมินแผ่นดินไหวในเมียนมา มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6-8 ริกเตอร์ได้ เนื่องเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเกิดขึ้นบริเวณไน เมื่อไหร่

สำหรับในประเทศไทย มีรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ในเขตภาคเหนือ 3 รอย คือ  รอยเลื่อนแม่จัน เป็นรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวัง รอยเลื่อนแม่ลาว ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา และรอยเลื่อยพะเยา ซึ่งทั้ง 3 รอยเลื่อนนี้ยังคงมีพลังอยู่ และอาจจะเกิดแผ่นดินไหวได้หากพลังที่สะสมมีเป็นจำนวนมาก และมีการปล่อยพลังงานออกมา สิ่งสำคัญคือไม่สามารถระบุได้ว่าแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ 

จากการประเมินหากมีการเกิดแผ่นดินไหวจะไม่เกินขนาด 7 ริกเตอร์ แต่ไม่สามารถที่จะทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นอกจากนั้นทางภาคตะวันตกของประเทศไทย มีรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นรอยเลื่อนที่ยังมีพลังสะสม ที่ต้องเฝ้าระวังอีกแห่งหนึ่ง ส่วนรอยเลื่อนแม่ริม เป็นรอยเลื่อนขนาดเล็กที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าจะไม่มีผลมากนักในการสะสมพลัง

อย่างไรก็ตามรอยเลื่อนในประเทศไทย มีลักษณะเป็นแนวระนาบมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก จากการที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อไหร่ จึงน่าที่จะมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมืออย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอาคารที่มีความสูง ต้องมีมาตรการบังคับให้ทุกอาคารสร้างรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่ลดความเสียหายและสูญเสียที่จะตามมาหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น