ท่องเที่ยวชงจัด‘ยอชท์โชว์’ดันไทยฮับมารีน่าเอเชีย

ท่องเที่ยวชงจัด‘ยอชท์โชว์’ดันไทยฮับมารีน่าเอเชีย

กระทรวงท่องเที่ยว ชง ครม. ดัน “ไทยแลนด์ ยอชท์โชว์” ภูเก็ต ฮับมารีน่าเอเชีย ดึงดูดเศรษฐีอาเซียนควักกระเป๋าช้อปเรือหรู

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงท่องเที่ยวเตรียมเสนอให้ไทยเป็นเจ้าภาพมหกรรมเรือสำราญและมารีน่า ภายใต้ชื่อ “ไทยแลนด์ ยอชท์โชว์ 2016” ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15-18 ธ.ค.นี้ ที่ อ่าวปอ ภูเก็ต โดยเตรียมขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวงเงินราว 25 ล้านบาท เพิ่มจากจัดงานครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท พร้อมมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับผิดชอบโครงการนี้เช่นเดิม และกรมเจ้าท่าเป็นผู้ร่วมดำเนินงาน

รัฐบาลวางเป้าหมายให้ไทยเป็น “มารีน่า ฮับ ออฟ เอเชีย” หรือศูนย์กลางมารีน่าในเอเชีย โดยวางบทบาทให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรือสำราญและมารีน่าอย่างเชื่อมโยงและบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการพิจารณาเลือกการลงทุนในลักษณะร่วมทุนกับเอกชน หรือสนับสนุนให้เอกชนลงทุน เพื่อลดภาระการใช้จ่ายงบประมาณจากภาครัฐ

ทั้งนี้ จากการจัดงานครั้งแรกพบว่ามียอดเงินสะพัดกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.73 หมื่นล้านบาท ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยแก้ไขกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมตลาดดังกล่าว เช่น ให้วีซ่าสำหรับลูกเรือที่เข้ามาพร้อมกับเรืออยู่ในราชอาณาจักรได้ 1 ปี สอดคล้องกับลักษณะการเข้ามาของเรือสำราญ เมื่อใช้ไทยเป็นฐานในการจอดแล้วจะใช้เวลาช่วงดังกล่าวนำธุรกิจชาร์เตอร์รับนักท่องเที่ยวอีกต่อพร้อมมีลูกเรือให้บริการ

อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายที่ต้องแก้ไขในลำดับต่อไป คือ การกำหนดวางเงินประกันเป็นเงินสด 7% ของมูลค่าเรือสำหรับการมาทำธุรกิจชาร์เตอร์เมื่อมาจอดเรือที่ท่าในประเทศ โดยจะได้รับคืนต่อเมื่อนำเรือออกจากน่านน้ำ ต่อไปจะพยายามปรับเปลี่ยนให้ใช้วิธีอื่นๆ ในการหาหลักประกันแทน เช่น อาจใช้ระบบธนาคารค้ำประกัน (Bank Guarantee) เพื่อดึงดูดเรือจากทวีปต่างๆ โดยเฉพาะออสเตรเลีย ที่พร้อมจะใช้ไทยเป็นฮับเดินเรือหากมีการปรับปรุงกฎข้อนี้

สำหรับการจัดงานเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า มีเรือยอชท์และเรือสำราญเข้าร่วมจัดแสดง 42 ลำ โดยใช้พื้นที่การจัดแสดงทั้งบนบกและทางน้ำกว่า 686 ตร.ม. มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วม 4,700 คน โดยได้รับความสนใจจากตลาดอาเซียนมากที่สุด มีผู้ซื้อถึง 72.9% ผู้ร่วมแสดงสินค้า 75.4% เทียบผู้ร่วมงานทั้งหมด ส่วนผู้เยี่ยมชมจากภูมิภาคอื่นๆ ได้แก่ ยุโรป 10.6% แอฟริกา 12.2% ออสเตรเลีย 2.8% และสหรัฐ 1.5% ส่วนผู้ผลิตและจำหน่ายใช้เวทีนี้นำเสนออเรือยอชท์ และสินค้าหรูที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือกว่า 70 แบรนด์ โดยบริษัทจากออสเตรเลียเข้าร่วมคิดเป็นสัดส่วนกว่า 12.3% และยุโรป 8.2%

ในครั้งนี้ได้เพิ่มเป้าหมายดึงดูดต่างชาติทั้งผู้เยี่ยมชมงานและผู้ผลิตมาร่วมแสดงสินค้าเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีเรือที่เข้ามาจอดร่วมแสดง 50 ลำ และเพิ่มเป็น 70 ลำ และ 90 ลำ ในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ ขณะที่ผู้ออกงานแสดงที่จอดเรือเทียบท่าที่เคยเข้ามา 32 ลำ มีทั้งสิ้น 40 ลำ ขณะที่ผู้เยี่ยมชมชาวต่างชาติทั่วไปเพิ่มจาก 600 ราย ช่วงต้นปีเป็น 750 ราย ตั้งเป้าหมายเพิ่มผู้ร่วมงานกลุ่มเศรษฐีและแขกระดับวีไอพีจาก 450 ราย เป็น 1,000 ราย ในปลายปี และเพิ่มเป็น 1,500 ราย ในปี 2560 และ 2,000 ราย ในปี 2561

“การจัดงานครั้งนี้ไม่เน้นเรื่องปริมาณเท่านั้น แต่มุ่งดึงดูดตลาดคุณภาพเป็นหลัก โดยวางตำแหน่งเป็นงานมงกุฎเพชรของอุตสาหกรรมเรือยอชท์ตลอดสัปดาห์ คัดเลือกการจัดแสดงเรือยอชท์ เรือซูเปอร์ยอชท์ เรือเร็ว เครื่องเล่น และเรือรับส่ง รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่องแบรนด์หรูต่างๆ เพื่อเจาะตลาดเศรษฐีในภูมิภาคนี้”