แบงก์รัฐเร่งผุดสินเชื่อบ้าน เอาใจวัยเกษียณยุคสังคมสูงวัย

แบงก์รัฐเร่งผุดสินเชื่อบ้าน  เอาใจวัยเกษียณยุคสังคมสูงวัย

การดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของกระทรวงการคลัง ในการรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย

 ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ซึ่งทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ ศึกษามาตรการไว้หลายแพ็คเกจ ทั้งการปรับเบี้ยยังชีพ มาตรการภาษีเพื่อจูงใจเอกชนในการจ้างงานผู้สูงอายุ และมาตรการการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย

ในส่วนของการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุนั้น กระทรวงการคลังมีแนวคิดจะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ทำโครงการสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุ หรือ Reverse Mortgage เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งรูปแบบของ Reverse Mortgage คือ การให้ผู้สูงอายุ นำบ้านมาขอสินเชื่อจากธนาคาร โดยที่ผู้กู้ยังสามารถอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมได้

ขณะที่ทางธนาคารจะจ่ายเงินให้เป็นรายเดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ จนกว่าจะเสียชีวิต หากผู้กู้เสียชีวิต แล้วมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่าเงินกู้ ส่วนต่างที่เหลือจะตกเป็นของทายาท อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ทายาทมาไถ่ถอนบ้านคืนได้ แต่หากไม่มีทายาท สินทรัพย์นั้นจะตกเป็นของธนาคาร และธนาคารก็จะนำไปขายทอดตลาดต่อไป

อย่างไรก็ตามสินเชื่อบ้านแบบ Reverse Mortgage ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ทั้งเรื่องความเข้าใจของภาคประชาชน และความพร้อมของระบบธนาคารไทย โดยเฉพาะแบงก์รัฐอย่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ซึ่งรัฐบาลหวังจะให้เป็นหลักในการดำเนินการเรื่องนี้

แม้ว่าทั้งธอส.และออมสิน ต่างพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงการคลัง แต่ก็ต้องมีการศึกษาโมเดลของสินเชื่อก่อนว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพื่อให้เหมาะสมสำหรับสังคมไทย ทั้งการประเมินสินทรัพย์ การคิดดอกเบี้ย และการจ่ายเงินให้กับผู้กู้ หรือแม้กระทั่งการขายทอดตลาด

ขณะที่ ธอส. อาจจะต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายจัดตั้ง หรือ พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2549 เพื่อขยายขอบเขตการทำธุรกรรมของธนาคาร ให้สามารถรองรับการทำสินเชื่อ Reverse Mortgage ได้ จึงคาดการณ์ได้ว่า สินเชื่อบ้านผู้สูงอายุแบบ Reverse Mortgage อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้

ในฐานะที่เป็นธนาคารรัฐ ซึ่งมีพันธกิจโดยตรงในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยของตนเอง ธอส.จึงได้ออกมาตรการสินเชื่ออื่นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุโดยเฉพาะหลายโครงการ โดยการหารือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของภาครัฐสำหรับผู้สูงอายุ

หากนับรวมโครงการที่ทำไปแล้ว และมีแผนจะทำในอนาคต คิดเป็นมูลค่ารวมกับกว่า 2.85 หมื่นล้านบาท มี 3 โครงการ คือ 

1. โครงการบ้าน ธอส.เพื่อผู้สูงอายุ วงเงิน 7 พันล้านบาท ส่วนนี้เป็นโครงการที่ธนาคารทำเอง แยกเป็น 2 ส่วน คือ สินเชื่อสำหรับผู้กู้รายย่อย (Post Finance) วงเงิน 3 พันล้านบาท ให้กู้สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผ่อนชำระไม่เกินอายุ 70 ปี โดยสามารถกู้ร่วมกับคู่สมรสจดทะเบียน บุตร หรือหลานได้ อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-4 เท่ากับ MRR-3.25% ต่อปีหรือประมาณ 3.50% ต่อปี ส่วนปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีลูกค้าสวัสดิการเท่ากับ MRR-1% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยเท่ากับ MRR-0.5%ต่อปี

ส่วนที่ 2 คือ สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการ (Pre Finance) วงเงิน 4 พันล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-2 เท่ากับ 4% ต่อปี ปีที่ 3-5 คิดอัตราดอกเบี้ยของภาระหนี้ส่วนที่เหลือ ไม่ต่ำกว่า MLR-1%ต่อปี เพื่อให้กู้สำหรับจัดทำโครงการที่มีที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุทั้งประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝดทาวน์เฮ้าส์ และห้องชุดไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหน่วยขายทั้งหมดของโครงการซึ่งขณะนี้มีทางบริษัท เสนาดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สนใจเข้าร่วมในการปรับแบบบ้านที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างบางยูนิตให้เป็นบ้านเพื่อสูงอายุแล้ว

โครงการที่ 2 เป็นการปล่อยสินเชื่อโครงการ หรือโปรเจคไฟแนนซ์ ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วงเงิน 1.5 พันล้านบาท 

และโครงการที่ 3 เป็นโครงการของรัฐบาลกำหนดวงเงินปล่อยกู้ให้กับผู้สูงอายุไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากโครงการสินเชื่อข้างต้น ทางธอส. ยังอยู่ระหว่างพิจารณาการทำสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มเติม โดยมีแนวคิดว่า น่าจะมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกหลานที่เลี้ยงดูผู้สูงวัย ในลักษณะ “สินเชื่อกตัญญู” แต่ก็ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติที่ตรวจสอบได้ว่ามีการเลี้ยงดู หรือมีผู้สูงอายุอยู่อาศัยในบ้านด้วย เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ กรรมการผู้จัดการธอส. บอกว่ายังเป็นแค่แนวคิดอยู่ แต่ก็เป็นสิ่งที่อยากทำ เพื่อสนับสนุนลูกหลานที่กตัญญู เลี้ยงดูบุพการีและญาติพี่น้องที่เป็นผู้สูงอายุ