'หมอเลี๊ยบ'ลุ้น ศาลตัดสินคดีแปลงสัญญาไทยคม

'หมอเลี๊ยบ'ลุ้น ศาลตัดสินคดีแปลงสัญญาไทยคม

"หมอเลี๊ยบ" เผย พร้อมฟังคำตัดสินศาลฎีกานักการเมือง คดี ป.ป.ช. แปลงสัญญาไทยคมเอื้อเครือชินคอร์ปฯ พรุ่งนี้

นพ.สุรพงษ์ หรือ หมอเลี๊ยบ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จำเลยคดีถูกกล่าวหาแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความพร้อมที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีในวันพรุ่งนี้ ( 25 ส.ค.) เวลา 10.30 น. ว่า วันพรุ่งนี้ ตนจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาอย่างแน่นอน โดยไม่ได้มีการยื่นขอเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาแต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่มีความวิตกกังวลใจหรือไม่นั้น ตนขอไม่พูดในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับจำเลยร่วม อีก 2 คนหรือไม่ นพ. สุรพงษ์ กล่าวว่า เท่าที่คุยกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีเหตุติดขัดอะไร และเชื่อว่าจะเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามกำหนดนัด

ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่า คดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูล6ต่อ2เสียง เมื่อวันที่17ก.ค.56ว่า การกระทำของ นพ.สุรพงษ์ ,นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศตามสัญญา ลงวันที่ 11 ก.ย.34 ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอน คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้น ปัจจุบันเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญา

โดย ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้อง ทั้งสามคนต่อศาลฎีกาฯ ระบุพฤติการณ์สรุปว่า ขณะเกิดเหตุ นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่ง รมว.ไอซีที,นายไกรสร จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงไอซีที และนายไชยยันต์ จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งอดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแล ตรวจสอบและควบคุมคู่สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศตามสัญญา ลงวันที่ 11 ก.ย.34 ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอน คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในขณะนั้น ปัจจุบันเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ต่อมาวันที่18ต.ค.47นพ.สุรพงษ์ จำเลยที่1อนุมัติให้แก้สัญญาตามที่นายไกรสร ปลัดกระทรวงเสนอ และมีการลงนามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่5เมื่อวันที่27ต.ค.47โดยไม่เสนอ ครม.ที่มีนายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นให้ความเห็นชอบ ทั้งที่จำเลยทราบแล้วว่าอัยการสูงสุดมีข้อสังเกตว่าเดิมโครงการ ได้รับอนุมัติจาก ครม.เป็นโครงการของประเทศ ควรที่ ก.ไอซีที ต้องนำเสนอ ครม.พิจารณา การกระทำของจำเลยทั้งสาม ที่มีหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์รัฐ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายกับ สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ก.ไอซีที เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานจากรัฐ

ซึ่งศาลฎีกาฯ รับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.66/2558ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ หรือหมอเลี๊ยบ , นายไกรสร ,นายไชยยันต์ จำเลยทั้งสามได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี คนละ 10 ล้านบาท โดยทั้งสามให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4ส.ค.59ได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.39/2558ที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ ว่า ปี พ.ศ.2551 ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คลัง ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้กระทำการแทรกแซงเสนอชื่อ3อดีตผู้บริหาร ธ.ทหารไทย–กรุงไทย เป็น กก.คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และมีผลประโยชน์ทับซ้อน ศาลจึงให้จำคุก1ปีและปรับ20,000 บาท ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ แต่โทษจำคุกดังกล่าว ศาลฎีกาฯให้รอลงอาญา1ปี เนื่องจากเห็นว่า นพ.สุรพงษ์ ไม่เคยต้องโทษมาก่อน ประกอบกับต่อมามีการยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ และบอร์ด ธปท.ที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก