TED Talks 18 นาที

TED Talks 18 นาที

เป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก เรื่องราวของคนช่างคิด ช่างสร้างสรรค์ และกล้าแตกต่าง

เวทีแห่งนี้ แม้จะให้เวลาแต่ละคนพูดน้อยมาก แต่ไม่ใช่ปัญหา แค่18 นาที พวกเขาสามารถเล่าเรื่องที่คิด ทำ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ครอบคลุม และยังช่วยจุดประกายความคิดให้คนทั้งโลก 

นี่คือ เวที TED Talks  ที่เชื่อว่า ความคิดดีๆ ควรถูกเผยแพร่ในวงกว้าง วงกว้างในที่นี่คือ อยากให้คนทั้งโลกรับรู้ นำความคิดไปปรับใช้ และคิดต่อ 

นับตั้งแต่ TED (องค์กรไม่แสวงหากำไร) ริเริ่มกิจกรรมตั้งแต่ปี 1984 โดยริชาร์ด ซอล เวอร์แมน หลังจากนั้น 6 ปีก็มีการจัดงานการพูดที่หลากหลายอีก ทั้งเรื่องเทคโนโลยี บันเทิง และการออกแบบ และมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2006 มีการเผยแพร่การบรรยายในเว็บไซต์ TED.com ต่อมาในปี 2012 มีการเก็บสถิติผู้ชมรายการผ่านเว็นไซต์ TED พบว่ามีผู้ชมกว่า 1 พันล้านครั้ง ประมาณว่า มีผู้ชมวันละ 1.5 ล้านครั้งต่อวัน 

เมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้มีการจัด  TEDxBangkok 2016 ครั้งที่ 2 และปรากฎการณ์ครั้งนี้ ก็ไม่ต่างจากการชมคอนเสิร์ตดังๆ บัตรเข้าชมเต็มทุกที่นั่ง มีคนจำนวนมากอยากเข้าไปนั่งฟัง แต่ซื้อบัตรไม่ได้ เพราะเชื่อว่า เรื่องราวของ Speakers เหล่านี้จะช่วยเติมเต็มความคิด ความฝัน และวิสัยทัศน์อันก้าวไกลให้พวกเขาได้

ถ้าคุณเชื่อว่า ทุกไอเดียดีๆ มีคุณค่า 

18 นาทีของSpeakers แต่ละคนย่อมมีคุณค่า ถ้าอย่างนั้น ลองตามอ่านความคิดบางส่วนจากเวทีนี้ 

ป๋อมแป๋ม นิติ ชัยชิตาทร พิธีกรรายการทอล์คกระเทย เล่าถึงเรื่องที่ต้องมองให้ลึกมากกว่าการเป็นกะเทย 

ส่วน ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ นักบรรพชีวิน ที่มีความสนใจสัตว์ในอดีตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และไม่ได้มีแค่ไดโนเสาร์ ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และมนุษย์ เขาบอกว่า มนุษย์ในอนาคตไม่ได้หน้าตาเหมือนปัจจุบัน แต่ไม่ต้องกลัว คงอีกหมื่นๆ แสนๆ ล้านๆ ปี 

เรื่องเล่าเรียบๆ น้ำเสียงเนิบๆ ของนพ.อัศวิน และพญ.พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ อาจารย์ด้านจิตเวช และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากเชียงใหม่ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ ” ไม่ต้องเก่งและดี ทำได้ยังไง 

ส่วนเรื่องราวของสมชัย  กวางทองพาณิชย์ พ่อค้าธรรมดาๆ ร้านขายเชือกสำเพ็งตามหารากเหง้าบ้านซอยของตัวเอง ทั้งจากแผนที่เก่า ภาพถ่ายเก่า และเดินสำรวจ จนรู้ว่า บ้าน และซอยที่เขาอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ 

และเรื่องราวของคนบันเทิงที่แม้จะเล่าเรื่องตัวเองสั้นๆ แต่สร้างสีสันด้วยการแสดงบนเวที รัสมี เวระนะ ชาวอีสานที่กำลังโด่งดังในต่างแดน ที่ใครได้ยินเสียงเพลงของเธอก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดากับแนวเพลงอีสานโซล และสุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (ชิ) นักดนตรีชาวปกากะญอ ที่หลายคนรู้จักเป็นอย่างดี 

แล้วยังเรื่องราวอีกหลายคน อาทิ น้าต๋อย เซมเบ้ (นิรันดร์ บุญยรัตพันธุ์ ) นักพากย์การ์ตูน ,พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เธอเล่าถึงคนสองโลก คือ คนบนดอยและคนเมือง, จอมทรัพย์ สิทธิพิทยา เจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพ ผู้ใช้เทคโนโลยีออกแบบสิ่งล้ำยุค อาทิ อุปกรณ์สร้างภาพเสมือนจริง ฯลฯ  

พลิกอีกด้านของตุ๊ด

เรื่องเล่าของป๋อมแป๋ม -นิติ ชัยชิตาทร พิธีกรและโปรดิวเซอร์รายการเทยเที่ยวไทย และทอล์คกระเทย คนธรรมดาที่ดันเกิดมาเป็นตุ๊ด บอกว่า คนเป็นกะเทย มักจะถูกแปะป้ายความต่างในเชิงลบ ก็เลยต้องพลิกอีกด้านให้คนเห็น 

"การเป็นตุ๊ดในสมัยก่อน เขาบอกว่าเป็นโรคจิต ต่อมาเป็นเกย์ก็โยงกับเรื่องเอดส์ จนเมื่อมีคนเรียกร้องสิทธิเพศที่สาม จากคนโรคจิตกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ยังถูกมองอีกแบบ ยกตัวอย่าง ถ้าปกติเพื่อนแต่งงานเราจะยินดี ล่าสุดวู้ดดี้แต่งงานกับผู้ชายด้วยกัน เรื่องแต่งงานแทนที่น่ายินดี กลายเป็นเรื่องตลก เพราะบางคนแปะป้ายว่าเขาเป็นเกย์ 

คนที่แปะป้ายคนอื่นด้วยสมการเหล่านี้ แปลว่าคุณจะไม่เห็นคุณค่าอะไรในโลกนี้ได้ ความรักจะไม่ใช่สิ่งที่สวยงามจนกว่าคุณจะค้นหาว่าใครรักกัน นั่นหมายความว่าระบบศีลธรรมของคุณมันพัง นั่นหมายความว่าคุณไม่สามารถหยิบจับความดี ความเลวได้เลย คุณกลายเป็นคนหลักลอยทางศีลธรรม" 

ทางออกง่ายๆ ป๋อมแป๋ม บอกว่า ถ้าคุณถือไฟฉายอยู่ในมือ และเป็นคนส่องไฟ ก็ถือให้กว้างขึ้น สูงขึ้น แล้วเหวี่ยงไปรอบๆ ก็จะเห็นคนอื่นรอบด้านมากขึ้น 

แล้วคนที่ถูกแปะป้ายจะทำยังไง ป๋อมแป๋ม เล่าต่อว่า 

“ตัวเราเองก็เคยถูกแปะป้ายว่าเป็นกะเทย มีคนว่าสิ่งที่เราทำ จะทำให้กะเทยเป็นตัวตลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราบิดอีกด้านให้คนเห็น เรามีด้านการเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี ด้านคนที่ส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง ด้านมิตรภาพระหว่างเพื่อน เคยมีตอนหนึ่งของรายการ เราพาแม่ไปเที่ยววันแม่ ออนแอร์ไปแล้ว มีคุณแม่คนหนึ่งส่งจดหมายเข้ามาในรายการ บอกว่ามีลูกที่เป็นอย่างเรา ตอนแรกเธอคุยกับลุูกไม่รู้เรื่อง และเมื่อดูรายการเรา ก็พบว่า กะเทยสามคน มีด้านของการเป็นลูกกตัญญู หลังจากนั้นเขามองลูกเปลี่ยนไป แม้ลูกเขาจะเป็นกะเทย แต่จะเลี้ยงให้เป็นคนดีของสังคม”

มนุษย์ในอนาคต? 

อย่างที่เกริ่นมา นักบรรพชีวิน ไม่ได้ค้นหาหลักฐานของสัตว์ดึกดำบรรพ์เท่านั้น ถ้าอยากรู้ว่า มนุษย์ในอนาคตหน้าตาเป็นยังไง พวกเขาทำได้ 

“6 ล้านปีที่แล้ว บรรพบุรุษของเรา(ลิง) เกิดขึ้นบนโลกนี้ แล้วจะรู้ได้ไหมว่า มนุษย์เราจะเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างไร” ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ นักบรรพชีวินรุ่นใหม่ที่ขึ้นเวที TED Bangkok คนแรก กล่าวและเล่าแรงบันดาลใจในอาชีพที่รักว่า 

“ตอนผมได้เจอลุงหมู (ดร.วราวุธ สุธีธร ) เขาบอกว่า เศษหินเล็กๆ นี่แหละคือ เศษชิ้นส่วนไดโนเสาร์ ผมบอกว่าไม่จริง ลุงหมูบอกว่าให้ลองขุด ปรากฎว่า ซากที่ได้เป็นท่อนขาของไดโนเสาร์คอยาว”  ดร.กันตภณ เล่า และ18 นาทีของเขา จึงไม่ได้มีแค่สัตว์ในอดีตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก และมนุษย์ในอนาคต

“อวัยวะส่วนที่มนุษย์ใช้บ่อยมากที่สุดคือ สมอง จึงมีแนวโน้มว่า มนุษย์จะมีสมองที่โตขึ้น ส่วนไหนไม่ค่อยใช้ ก็หดลง (ภาพที่ฉายให้เห็น มนุษย์ในอนาคตหน้าตาไม่ต่างจากมนุษย์ต่างดาว หัวโตๆ ขาลีบๆ)  มีหลักฐานทางวิวัฒนาการ ในอดีตมนุษย์ใช้ฟันกัดฉีกเนื้่อ แต่ตอนนี้ดูจากฟันคุดของบางคน เราใช้ฟันน้อยลง กินอาหารที่อ่อนนุ่ม ขาไกรกรรจึงหดเล็กลง มนุษย์โบราณมีขนยาว ไว้ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย  ปกป้องการกัดของแมลง แต่ปัจจุบันมนุษย์อยู่ในห้องแอร์ แล้วขนมีไว้เพื่ออะไร หลักฐานวิวิฒนาการคือ มนุษย์มีการลดรูป (อวัยวะบางอย่าง) ”

บ้านผมอยู่ในแบงค์ 20 (รุ่นเก่า)

ไม่ได้เป็นนักประวัติศาสตร์ ไม่ได้เป็นนักโบราณคดี แต่อยากรู้ความเป็นมาของชุมชนบ้านเกิด 

สมชัย กวางทองพานิชย์ เจ้าของร้านขายเชือกและตาข่ายก้วงเฮงเส็ง รุ่นที่ 3 ย่านสำเพ็ง สามารถเล่าและเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วยตัวเอง โดยศึกษาจากแผนที่เก่า รูปภาพเก่า เดินทุกซอกทุกมุมเพื่อให้รู้จักย่านเยาวราช จนทำให้เขารู้ว่า บ้านของเขาปรากฎอยู่ในแบงค์ 20 (รุ่นเก่า)

"ผมเป็นคนขายเชือกวัดเกาะ  ผมก็อยากรู้ว่า สถานที่ที่ผมอยู่ เคยเป็นเกาะจริงๆ หรือ" สมชัยเล่า และนั่นทำให้เขาต้องเดินทางไปค้นแผนที่เก่า แล้วพบว่า วัดเกาะเป็นเกาะจริงๆ ด้วย และไม่ได้หยุดแค่นั้น

“ผมไปหอจดหมายเหตุ ผมก็เลยรู้ว่า สำเพ็งมาจากชื่อวัด สำเพ็งเมื่อก่อนเป็นสวน อยู่ระหว่างคลองสองคลอง บ้านผมสร้างตั้งแต่ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นทำให้ผมรู้สึกว่า บ้านผมมีค่าขึ้นมาทันที ถ้าจะเพิ่มคุณค่าให้กับชุมชน ไม่ต้องเป็นนักโบราณคดี ก็ทำได้ ลองกำหนดพื้นที่เล็กๆ ในซอยบ้านเรา เราเดินผ่านทุกวัน ไม่ต้องสำรวจ ลองหาเรื่องราวในอดีตผ่านตัวช่วยคือ เรื่องเล่าจากคนเก่าคนแก่ " สมชัย เล่า ระหว่างฉายภาพย่านเก่าและใหม่ เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบัน

วัคซีนสำหรับพืช 

เป็นสัตว์แพทย์ แล้วทำไมหันมาศึกษาเรื่องพืช จนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ วัคซีนสำหรับพืช  

กว่าจะศึกษาวิเคราะห์ทดลองวัคซีนตัวนี้ได้ใช้เวลา 15 ปี ในการคิดนวัตกรรมใหม่ 

เริ่มจาก นสพ.กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยเลิกใช้สารเคมีแล้วหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

“เกษตรกรฉีดยาอะม็อกซีซิลลินต้นส้ม ต้นหนึ่ง 10 เข็ม ฉีดทุก 3 เดือน จากนั้นใช้ยาฆ่าแมลงฉีดทุก 3 วัน แล้วแว็กส้ม ถามว่าสารเคมีนำเข้าจำนวนหลายแสนตันไปอยู่ที่ไหน ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเป็นมะเร็ง ต้องนำเข้ายารักษามะเร็งอีก และยังทำให้พืชน้ำ สัตว์น้ำ กำลังจะสูญพันธุ์ ” 

เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอาหารปลอดภัยได้ เขาก็เลยหันมาทำวิจัยเรื่องพืช โดยใช้ความรู้ทางการแพทย์บูรณาการกับเรื่องพืช คิดค้นนวัตกรรมวัคซีนจากเปลือกกุ้ง กระดองปูและแกนหมึก ขยะที่มีอยู่มหาศาล เพื่อทำให้พืชสร้างภูมิต้านทานด้วยตัวเอง แก้ปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและลดการใช้ปุ๋ยได้ถึงร้อยละ 50 และยังช่วยให้พืชทนต่อสภาพอากาศและทนต่อแมลง 

“วัคซีนนี้ทำให้พืชสร้างเซลล์ทนต่อแมลงกัด เราทำให้ขนใบข้าวแหลมคมกว่าเดิม สร้างเอนไซน์ทำลายหนอน ” เขาเล่าถึงงานวิจัย ซึ่งไม่ได้ทำแค่ในห้องแล็บ ยังวิจัยทางการเกษตรทดลองพืชกว่า 40 สปีชีส์ กว่า 50 จังหวัด และทดลองไปถึงพื้นที่ในยุโรปและอินเดีย 

การคิดนวัตกรรมแบบนี้ แม้จะใช้เวลานาน แต่คุ้มค่า  เขาบอกว่า ก่อนอื่นต้องเชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ และทนแรงเสียดทานจากสังคม ที่สำคัญต้องใช้คุณธรรมนำธุรกิจ

โลกสองใบที่ต่างกัน

อีกเรื่องของคนเมืองที่มีโอกาสทำงานเชิงลึกกับคนชายขอบ เพราะหน้าที่การงาน พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปรียบเปรยชีวิตของคนสองโลกให้ฟังว่า 

“ทำงานหลายพื้นที่ไปสักพัก ก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสองโลก โลกหนึ่งเป็นโลกในเมืองสี่เหลี่ยม อยากกินปูจากฮอกไกโด สั่งแป๊ปเดียว ก็มาเสริฟ แต่นอนไม่ค่อยหลับ กลัวไปหมด กลัวไม่ดีพอ กลัวไม่ทัน ไม่เสร็จ ส่วนอีกโลกกลมๆ นอกเมือง  ช้าๆ ซื่อๆ ดิบๆ เป็นโลกที่ต้องการอะไร ก็ต้องปลูก ต้องลงมือทำ เป็นโลกที่คนยังมีความจริงใจ หลับสบาย ” 

เรื่องของคนสองโลกที่เธอเปรียบเปรยให้เห็น ไม่ได้บอกว่า ใครดีกว่ากัน โดยยกตัวอย่างบ้านน้ำช้างพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน  ซึ่งไม่ต่างจากหลายพื้นที่ เรื่องชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำกิน และความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ 

เธอเล่าเรื่องผู้ใหญ่บ้านกานต์ แปงอุด บ้านน้ำช้างพัฒนา ว่า ช่วงที่เขามีปัญหาการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เขาตัดพ้อว่า 

“อย่าทำกับพวกเขาเหมือนนก เกาะกิ่งนั้นก็ไม่ได้ กิ่งนี้ก็ไม่ได้ ให้บินวนอยู่นั่นจนตาย ทำกับคนแบบนี้ไม่ได้ แม้ว่าเขาจะอยู่ในป่าสงวน ทำไมไม่ร่วมกันจับจีพีเอส แล้วแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน”  เธอเล่าส่วนหนึ่งของปัญหา และสะท้อนเรื่องราวชีวิตคนบนดอยว่า 

“คำที่พวกเขากลัวที่สุด คือ การปลูกป่า เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ถาม แต่กำหนดว่าวันนั้น วันนี้จะมาปลูก แล้วจ้างชาวบ้านปลูกป่าในที่ทำกินของพวกเขา แล้วพวกเขาจะกินอะไร” 

นอกจากนี้ ยังสะท้อนวิธีการมองแบบคนเมืองว่า เธอก็เคยคิดว่า ต้องให้ชาวบ้านรวมกลุ่ม ผู้ใหญ่บ้านก็เลยสะท้อนให้เธอฟังว่า พวกเขาอยู่กันแบบเครือญาติอยู่แล้ว เรื่องการพัฒนาต้องใช้เวลา และไม่ง่ายเลย

“ประเด็นคือ คนที่เข้าไป ไม่เคยตั้งใจฟังเพื่อที่จะเข้าใจพวกเขาเลย แต่ใส่ความอยากของตัวเอง ต้องอย่างนั้นอย่างนี้” เธอสะท้อนมุมคิดแบบคนเมือง

ซึ่งเวทีแห่งนี้เธอสามารถทำให้คนฟังเห็นปัญหาของคนเมืองและคนบนดอยชัดเจนยิ่งขึ้น ด้วยการบอกเล่าใน 18 นาที

และเรื่องเล่าอีกมากมาย ตามดูได้ที่ เฟสบุ๊ค TEDxBangkok