สุทธิพงศ์ สมิตชาติ สูตรสำเร็จ ‘นักบริหาร-นักแข่ง’

สุทธิพงศ์ สมิตชาติ สูตรสำเร็จ ‘นักบริหาร-นักแข่ง’

สตาร์ทธุรกิจเพราะคลั่งไคล้ความเร็วจนเข้าตาโตโยต้าชวน‘สุทธิพงศ์ สมิตชาติ’ทำทีมแข่งรถ สบโอกาสเป็นตัวแทนขายอะไหล่แปรเงินหลักสิบล้าน สู่พันล้าน

เพราะความคลั่งไคล้ความเร็ว ซิ่งอยู่ในสนามแข่งรถมานานกว่า 30 ปี นอกจากจะทำให้ได้ดีบนเส้นทางนักแข่งรถอาชีพ ยังเป็นบันไดที่นำไปสู่การเข้ามาสวมบทบาทเป็น “นักบริหาร” ธุรกิจเต็มตัว สำหรับ “สุทธิพงศ์ สมิตชาติ” ประธานบริษัท ทีอาร์ดี (ไทยแลนด์) จำกัด และผู้จัดการทีมและนักแข่งสังกัด โตโยต้า ทีมไทยแลนด์

เจ้าตัวเล่าว่า ความบ้ารถของเขา เกิดขึ้นเมื่ออายุไม่เต็ม 20 ปี ตอนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น เงินที่ต้องใช้จ่ายค่าเช่าบ้าน กลับหมดไปกับการซื้อรถโตโยต้า โคโรลล่า เลวิน รถสปอร์ตยอดฮิตที่ไม่ใช่ใครก็เป็นเจ้าของได้ง่ายตอนนั้น “สุทธิพงศ์” ย้อนความหลัง

พอมีรถก็ตระเวนขับไปพื้นที่ต่างๆ หาสนามประลอง เข้าร่วมชมรมแข่งรถที่มหาวิทยาลัย Nihon University ทุกเสาร์-อาทิตย์ หาเวทีลงแข่ง กระทั่งสนามที่โยโกฮาม่า ติดท็อปได้รางวัลเป็นบัตรกำนัลติดไม้ติดมือมาเสมอ เขายังนำเงินที่ได้ไปใช้แต่งรถที่อู่แห่งหนึ่ง ถี่ยิบ จนเจ้าของอู่ชวนเข้าร่วมทีม แน่นอนเขาไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือ

“ตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่น ไม่คิดอะไรเลย คิดอยู่อย่างเดียวคือเราจะได้อยู่ใกล้รถ เรื่องเรียนไว้ทีหลัง แต่ก็จบมาได้”

พอเรียนจบก็ออกมาทำงานออกแบบให้กับบริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ตามแบบฉบับสถาปนิก แต่ยังบ้าแข่งรถไม่เลิกทำให้ขลุกอยู่กับทีม ชนิดที่เรียกว่า ทำงานไม่กี่วันก็หนีไปแข่งเป็นปี ผลลัพธ์น่ะเหรอ...!

“เขา(บริษัท)ไม่ไล่ผมออกนะ แต่เขาไม่ให้โบนัส คนอื่นที่ได้รับโบนัสถ้วนหน้า พอไปถามหัวหน้า เขาบอกว่า คุณควรจะพิจารณาตัวเอง ผมเลยตัดสินใจลาออก ไปอยู่ทีมแข่งเต็มตัว

" เมื่อเซ็นสัญญาเป็นนักแข่ง แม้จะทำให้ห่างหายจากธุรกิจก่อสร้าง แต่กลับสร้าง “โอกาสใหม่” ให้เขาได้ใกล้ชิดกับทีมทีอาร์ดี (TRD) ญี่ปุ่น ได้ช่วยในทีมแข่ง หยิบใช้อะไหล่รถแข่ง และรู้จักมักคุ้นผู้ใหญ่มากขึ้น และมากขึ้น

“เมื่อมีสนามแข่งรถพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต (พัทยา) เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ในทีอาร์ดีถามว่า สนใจจะกลับไปแข่งรถที่เมืองไทยไหม มีสนามแล้วนะ ผมตกปากรับคำ พอมาคุยกับโตโยต้าประเทศไทย เขาให้ผมทำทีม เซ็นสัญญาภายใต้ทีมโตโยต้า ทีม ไทยแลนด์ (ทีม TOYOTA Team Thailand)"

สุทธิพงศ์ เล่าว่า ในฐานะคนทำทีม นอกจากจะต้องสั่งชิ้นส่วน อะไหล่รถยนต์มาใช้กับทีมแล้ว ความต้องการอะไหล่ยังมีเพิ่มขึ้น จากลูกค้าโตโยต้าทั่วไป ทำให้ต้องปรึกษาทีอาร์ดีญี่ปุ่น ขอตั้งตัวเป็น “ตัวแทนจำหน่าย”อย่างเป็นทางการในไทย บุกตลาดอะไหล่ทดแทน (After-market) ไปพร้อมกับการทำทีม

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา “สุทธิพงศ์” บอกว่า เผชิญหลากโจทย์ธุรกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์และอะไหล่ทดแทน จากตลาดที่เคยหอมหวาน เพราะตอนนั้นรถออกจากโรงงาน โชว์รูมยังไม่มีอุปกรณ์แต่งทำให้ยอดขายดี เมื่อเทียบกับตอนนี้รถที่ออกจากโรงงานประกอบรถยนต์ถูกแต่งมาเกือบครบ

การปรับตัวระลอกใหม่ของบริษัทจึงเกิดขึ้น ด้วยการหันไปรับจ้างผลิต (OEM) อะไหล่รถยนต์เป็นชุดป้อนให้กับโรงงานโตโยต้าโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงธุรกิจ

“กำไรอาจจะน้อย แต่ขายได้แน่นอน เพราะโตโยต้าวางแผนผลิตรถยนต์เป็นปี เราสามารถวางแผนผลิตสินค้ากี่ชุด รู้ว่าจะผลิตอย่างไร ส่วนตลาดอาฟเตอร์ไม่เน้นแล้ว" สุทธิพงศ์ เผยก่อนสะท้อนว่า

“ธุรกิจต้องปรับตัวตลอดเวลา จะรอเป็นรอบไม่ได้ เพราะสินค้าชิ้นหนึ่งใช้เป็นปี เราต้องคอยติดตามตลาดตลอด” ไม่เท่านั้น เขายังเดินเกมรุก ดันธุรกิจเติบโตในอนาคต ด้วยการลงทุนเพิ่มจุดจำหน่ายทีอาร์ดี (ทีอาร์ดี คอร์เนอร์) ให้ครบ 400 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2563 จากปัจจุบันมี 90 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะลงทุนราว 1 ล้านบาท

“ทีอาร์ดี อยู่ในตลาดมาหลายสิบปี ในอดีตผู้บริโภคไม่รู้จักถ่องแท้ว่า เราคือชุดแต่งรถแข่งโตโยต้า ชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ เข้ากันได้กับรถของโตโยต้าเท่านั้น เพราะยังเห็นรถราที่วิ่งบนท้องถนนยี่ห้ออื่นๆ แปะโลโก้ทีอาร์ดีบ้าง เรานึกในใจเออ..เขา(ผู้บริโภค)ไม่เข้าใจว่าทีอาร์ดีคืออะไร แต่วันนี้ผู้บริโภครับรู้กันมากขึ้นเกิน 70% นี่คือผลจากการสำรวจตลาดที่สะท้อนความสำเร็จของธุรกิจ”

-------------------------------

“คิดต่าง”ทางชนะธุรกิจติดหล่ม..!

แบรนด์ติดลมบนไปแล้ว แต่ปีนี้เศรษฐกิจไทยเตะเบรก ตลาดเลยไม่เดิน สินค้าขายไม่ได้

ทว่า นั่นไม่ทำให้ “สุทธิพงศ์ สมิตชาติ”ประธานบริษัท ทีอาร์ดี (ไทยแลนด์) จำกัด หยุดนิ่ง กลับยิ่งคิดโมเดลใหม่ๆเสริมแกร่ง

“ตอนนี้สินค้าเรามีพร้อมขาย แต่ตลาดไม่เดิน ขายไม่ได้ ก็ต้องทำใจ รอเมื่อไหร่จะไปได้”

ความท้าทายปีนี้ เลยต้องทำอะไรที่ “แตกต่าง” อย่างสนามทดสอบขับรถที่ใหญ่สุดและครบครันสุดในอาเซียน “TOYOTA Driving Experience Park” บนถนนบางนา-ตราด เนื้อที่ 22 ไร่ ลงทุนไปกว่า 200 ล้านบาท

“ไม่มีที่ไหนทำในเมืองไทย และไม่มีใครทำ นอกจากคนโง่ แต่ผมทำไปแล้ว ยังคิดว่าตัวเองโง่”

ทว่าที่จริงๆแล้วเขาเห็นโอกาสตลาดอย่างหนึ่ง เมื่อโตโยต้ามีกิจกรรมมาก และทดสอบขับรถไปตามสถานที่ต่างๆเสมอ อีกทั้งรถมีระบบต่างๆมากมายระบบเบรกเอบีเอส การทำงานของถุงลมนิรภัย(แอร์แบ็ก) ที่ไม่มีใครอยากเห็นการทำงาน เพราะมีต้นทุนถึง 3.5 หมื่นบาท การทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ เลยขายไอเดียให้โตโยต้า

“ให้ลูกค้าลองขับทดสอบให้มั่นใจก่อนตัดสินใจซื้อ โตโยต้าขายรถได้มากขึ้น ผมก็มีงานมากขึ้น นี่คือส่วนหนึ่งของการคิดต่าง”

สวมหมวก 2 ใบ บริหารธุรกิจโต ปั้นทีมแข่งรถคว้าชัยมากมาย เจ้าตัวยังแข่งจนขึ้นโพเดียมรับรางวัลร่วมร้อยจากสนามแข่งไทยและสนามระดับโลก อย่างไหนยากกว่ากัน

สุทธิพงศ์บอกว่า..“แข่งรถยากกว่า เครียดกว่า แต่ใช้เวลาช่วงสั้นๆ เต็มที่ก็ 24 ชั่วโมง รู้ผลแพ้ชนะ แต่บริหารธุรกิจวัดกันเป็นปี ใช้เวลา 365 วัน กว่าจะรู้ตัวเลขผลประกอบการ ระหว่างทาง 1 ปียังมีอะไรเกิดขึ้นได้มากมาย”

ส่วนอย่างไหนเหนื่อยกว่ากัน ยกให้ธุรกิจ “แข่งรถเหนื่อยกาย แต่ธุรกิจเหนื่อยทั้งร่างกาย ใช้สมอง ความคิด ทุกอย่าง”

การแข่งรถยังเป็นสิ่งที่เขารักมาก ไม่เคยคิดจะหยุดแข่ง “ยังไงผมก็ทิ้งแข่งรถไม่ได้ ทุกวันนี้ยังแข่งอยู่เพราะรักมาก ข้อดีอย่างหนึ่งของการแข่งรถคือทำให้มีสมาธิ อยู่ในรถเครียด แข่งยังไงให้ชนะ ระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ บางทียังคิดเลย มาขับทำไมเนี่ย อยู่เฉยๆก็ดีแล้ว ไม่ต้องมาเสี่ยง”

แต่แข่งมา 30 ปีแล้ว หยุดไม่ได้! ขณะที่เป้าหมายใหญ่สำหรับการแข่งรถและธุรกิจรถแข่งคือ “ทุกอย่างต้องถึงจุดสูงสุด ธุรกิจแน่นอนคือยอดขาย หมื่นล้านอยากเห็นนะ จากตอนนี้หลักพันล้าน ส่วนแข่งรถคือการขึ้นโพเดียมรับถ้วยแชมป์”